“ความท้าทายต่อเอเชียเมื่อโลกเปลี่ยน”

“ความท้าทายต่อเอเชียเมื่อโลกเปลี่ยน”

อาทิตย์ที่แล้วผมมีโอกาสเข้าร่วมสัมมนาวิชาการเรื่องเศรษฐกิจเอเชีย ที่เมืองอาซาฮิคาวะ เกาะฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น

เป็นการสัมมนาในภาวะอากาศที่หนาวมากตามฤดูกาลของญี่ปุ่นคือ อุณหภูมิ-3 แต่ก็อบอุ่นด้วยแสงแดด 

งานสัมมนาจัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจมหภาคและวิจัยเอเชีย หรือ AMRO ในหัวข้อการปรับตัวกับโลกที่เปลี่ยนแปลง มุ่งประเด็นไปที่ความท้าทายต่อเศรษฐกิจเอเชีย ในการรักษาการเติบโต และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง เพราะมีหลายๆ อย่างเกิดขึ้นที่จะกระทบการเติบโตของภูมิภาค เช่น ปัญหาประชากรสูงอายุ หรือ Aging population กระแสปฏิเสธระบบโลกาภิวัฒน์ รวมถึง การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ที่กำลังส่งผลกระทบไปทั่ว 

งานสัมมนามีผู้บริหารระดับสูงทางเศรษฐกิจและนักวิชาการของภูมิภาคเอเชียเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก จากไทย ก็เช่น ดร. ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ร่วมเป็นวิทยากร ปลัดกระทรวงการคลัง ดร.สมชัย สัจจพงษ์ คุณจันทวรรณ สุจริตกุล จากธนาคารแห่งประเทศไทย 

ผมเข้าร่วมในฐานะอดีตประธานคณะที่ปรึกษาของสำนักงาน AMRO เป็นการประชุมที่เป็นประโยชน์ ฉายภาพความท้าทายที่จะมีต่อเศรษฐกิจเอเชียในอนาคต วันนี้ก็เลยอยากจะนำบางส่วนจากการสัมมนามาแชร์ให้ผู้อ่าน “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ 

ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียโดดเด่นมาก ช่วงปี 1990-2017 อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชียเฉลี่ย 5-6% ต่อปี สูงกว่าทุกภูมิภาคในโลก ส่งผลให้สัดส่วนของภูมิภาคเอเชียในเศรษฐกิจโลกเพิ่มเป็น 25-30% และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นได้ต่อไป 

การเติบโตของภูมิภาคเอเชียมีการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อน โดยได้ประโยชน์จากการขยายตัวของการใช้จ่ายในเศรษฐกิจโลก และการลงทุนในภูมิภาค ทั้งโดยภาครัฐและเอกชน ที่ขยายความสามารถในการผลิต จากประโยชน์ที่ได้จากเทคโนโลยีการผลิตต่างประเทศ 

อีกปัจจัยที่ขับเคลื่อนการเติบโตก็คือ การใช้จ่ายของครัวเรือนในเอเชียที่เพิ่มสูงขึ้นตามการขยายตัวของรายได้ และการเติบโตของชนชั้นกลางในเอเชีย 

ล่าสุด การส่งออกมีสัดส่วนระหว่าง 10-45% ของรายได้ประชาชาติของประเทศในเอเชีย ขณะที่การใช้จ่ายของครัวเรือนเอเชียขยายตัวสูงจนเป็นอันดับหนึ่ง เทียบกับการเติบโตของการใช้จ่ายของครัวเรือนในภูมิภาคอื่นๆ ของโลก 

การเติบโตของเอเชียทำให้ความสำคัญของภูมิภาคเอเชียในระบบเศรษฐกิจโลกเพิ่มสูงขึ้นมาก พร้อมกับเน็ตเวิร์คความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนของประเทศในเอเชีย ที่เชื่อมต่อกับเศรษฐกิจโลก และระหว่างประเทศในภูมิภาคเองด้วยกันที่เข้มแข็งมากขึ้น เป็นการเชื่อมต่อที่เป็นทั้งผลดีและผลเสีย 

ผลดีคือ ประโยชน์ที่ได้จากการค้าขายระหว่างกันของประเทศในเอเชีย ปัจจุบันเป็นสัดส่วนเฉลี่ยที่ประมาณ 20-30% ของการค้าของประเทศในเอเชีย 

ส่วนผลเสียก็คือ การเชื่อมต่อที่สูงขึ้นทำให้เศรษฐกิจของเอเชียอ่อนไหวง่ายต่อผลกระทบที่มาจากนอกภูมิภาค

เมื่อประเทศอื่นๆ นอกภูมิภาคมีปัญหา ตัวอย่างเช่น วิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2008 ที่เอเชียไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของวิกฤติ แต่ก็ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของการค้าโลกที่เกิดขึ้นตามมา จนต้องดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้เศรษฐกิจของภูมิภาคสามารถขยายตัวได้ต่อไป 

มองไปข้างหน้า ที่ประชุมได้พูดถึงหลายปัจจัยที่จะสร้างข้อจำกัดให้กับแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชีย รวมถึงประเทศไทย และบางปัจจัยก็ได้เริ่มปรากฏให้เห็นแล้ว 

ปัจจัยแรก คือ การชะลอตัวของผลิตภาพการผลิต หรือ falling productivity ซึ่งก็คือ ความสามารถในการขยายการผลิตจากปัจจัยด้านทุนและแรงงานที่ประเทศมีอยู่ กล่าวคือ การเพิ่มของปริมาณแรงงานและทุนส่งผลต่อการเพิ่มของผลผลิตหรือการเติบโตของเศรษฐกิจ ในอัตราที่น้อยลงเมื่อเทียบกับในอดีต 

ประเด็นนี้เป็นแนวโน้มที่เห็นได้ชัดทั้งภูมิภาค รวมถึงไทย ซึ่งของเราผลิตภาพการผลิตลดลงชัดเจนตั้งแต่ปี 2012 นี่คือปัจจัยที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลงและเป็นต้นเหตุของปัญหากับดักประเทศรายได้ปานกลางที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ ที่ผลิตภาพการผลิตของประเทศแย่ลง และยังไม่สามารถยกตัวเองออกจากกับดักดังกล่าวได้ เป็นปัญหาที่ต้องแก้ด้วยการยกระดับผลิตภาพการผลิตของประเทศ ให้สูงขึ้น เป็นความท้าทายด้านนโยบายที่ประเทศไทยกำลังมีอยู่ขณะนี้ 

ปัจจัยที่ 2 คือ ประโยชน์ที่เศรษฐกิจเอเชียได้จากการมีประชากรในวัยทำงานเป็นจำนวนมากและมีค่าจ้างแรงงานต่ำ ปัจจุบัน ประโยชน์เหล่านี้กำลังจะหมดไป เพราะอัตราค่าจ้างแรงงานในเอเชียได้ปรับสูงขึ้นมาก ขณะที่ประชากรในวัยทำงานก็เริ่มมีอายุมากขึ้น และหลายประเทศก็เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ 

การวิเคราะห์ของนักวิชาการกองทุนการเงินระหว่างประเทศที่นำเสนอข้อมูลเรื่องนี้ในงานสัมมนาชี้ว่า ประโยชน์หรือ dividend ที่ประเทศในเอเชียเคยได้จากการมีประชากรในวัยทำงานมาก ปัจจุบันในหลายประเทศ รวมถึงไทย ประโยชน์ดังกล่าวได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว

หลายประเทศรวมถึงไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย มีการวิเคราะห์ว่าปัญหาสังคมสูงอายุนี้จะส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชียในอนาคต 

ในกรณีของไทย มีการคำนวณว่าผลกระทบของปัญหาประชากรสูงวัยต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจะออกมาประมาณ 0.5-1%  คือ ในอนาคต ถ้าไม่มีการแก้ไขปัญหา ทำให้เศรษฐกิจขาดบุคลากรในวัยทำงาน การเติบโตของเศรษฐกิจไทยอาจถูกกระทบประมาณ 0.5-1% ต่อปี ซึ่งนอกจากไทย ประเทศที่จะถูกกระทบคล้ายๆ กันก็คือ ฮ่องกง เกาหลีใต้ จีน และญี่ปุ่น 

ปัจจัยที่ 3 คือ แนวโน้มนโยบายเศรษฐกิจในระดับสากล โดยเฉพาะของประเทศอุตสาหกรรม ที่มองเศรษฐกิจตัวเองเป็นใหญ่ และให้ความสำคัญน้อยลงกับความเป็นสากลของระบบเศรษฐกิจโลก คือ เน้นนโยบายเศรษฐกิจแบบ inward-looking ที่จะมีผลโดยตรงต่อการค้าและการลงทุนในเศรษฐกิจโลก 

แนวโน้มของนโยบายลักษณะนี้ มีสาเหตุสำคัญจากความผิดหวังของประชาชนต่อผลที่ได้จากการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ที่ชูธงการเปิดเสรีเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัฒน์ แต่ความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจกลับมีมากขึ้น คนตกงานมาก และประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจก็กระจุกตัวอยู่กับคนส่วนน้อย นำมาสู่กระแสไม่ยอมรับระบบโลกาภิวัฒน์ หรือ anti-globalization 

สำหรับเศรษฐกิจเอเชีย ปัญหานี้จะนำมาสู่ความเสี่ยงใน 2 มิติ

มิติแรก คือ ความเสี่ยงที่นโยบายการค้าระหว่างประเทศจะทำให้การกีดกันทางการค้ามีมากขึ้น ซึ่งจะกระทบการส่งออก และการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศในเอเชีย

มิติที่ 2 คือ เศรษฐกิจเอเชียเองก็ต้องระวังเรื่องความเหลื่อมล้ำที่อาจเป็นข้อจำกัดต่อการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชียในระยะต่อไป โดยเฉพาะจากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะเริ่มเอาใจผู้ที่ผิดหวัง จากประโยชน์ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบประชานิยมหรือรัฐนิยม มากขึ้นเพื่อเอาใจหรือเรียกคะแนนเสียง

นำไปสู่การสูญเสียวินัยในการทำนโยบายและสร้างความไม่สมดุลต่างๆ ให้เกิดขึ้นตามมาในระบบเศรษฐกิจ จนประเทศล่อแหลมต่อการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในที่สุด 

ทั้ง 3 ประเด็นเป็นความท้าทายต่อเศรษฐกิจเอเชียว่านโยบายเศรษฐกิจและการทำธุรกิจของเอเชีย จะต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อรักษาเสถียรภาพและการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชีย 

คำตอบที่ได้พูดคุยกันในงานสัมมนาก็มีมาก ตั้งแต่การปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพ ความสำคัญของระบบการศึกษาในการสร้างคนหรือกำลังแรงงานที่มีคุณภาพ ความสำคัญของการขยายการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงความสำคัญของการสร้างวินัยทางการคลัง ทั้งหมดเป็นข้อคิดที่มีประโยชน์ต่อการทำนโยบายของเอเชีย รวมถึงประเทศไทย