สิ้นสุดของยุคสตาร์ทอัพ?

สิ้นสุดของยุคสตาร์ทอัพ?

ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีบทความเรื่อง “การสิ้นสุดของยุคสตาร์ทอัพ” ตีพิมพ์ใน เทค ครันช์ เว็บไซต์ศูนย์รวมข่าวสารจากในวงการของธุรกิจสตาร์ทอัพ

จากบทความนั้นเอง ก็ได้มีทั้ง บรรณาธิการ คอลัมนิสต์ จนถึง บล็อกเกอร์ ที่ได้แชร์ประสบการณ์ และเป็นเสียงสะท้อน ไปในแนวทางเดียวกัน

แนวคิดส่วนหนึ่ง เกิดจากหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ว่า 10 ปีที่ผ่านมา แทบไม่มีสตาร์ทอัพเกิดใหม่ ที่ประสบความสำเร็จจนกระทั่งเป็นอภิมหาธุรกิจยักษ์ใหญ่ข้ามชาติอันน่าสะพรึงกลัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มที่เพิ่งได้รับการขนานนามว่า “The Frightful Fives” อันได้แก่ Amazon, Apple, Facebook, Google และ Microsoft

ซึ่ง 3 ใน 5 ของ The Frightful Fives อันได้แก่ Amazon, Facebook และ Google เป็นธุรกิจสตาร์ทอัพ จากเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่ถือกำเนิดขึ้นในยุคแรกของอินเทอร์เน็ต และ 2 ใน 5 อันได้แก่ Apple และ Microsoft ก็เป็นธุรกิจสตาร์ทอัพจากเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ที่ถือกำเนิดในยุคแรกของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ก็จะมีเพียงแต่ Airbnb หรือ Uber ที่เป็นธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่ถือกำเนิดในยุคแรกของสมาร์ทโฟนและได้เติบโตจนเป็นที่รู้จัก แต่ก็ยังมีขนาดและอิทธิพลที่ห่างไกลจาก The Frightful Fives และยังคงถืือกำเนิดขึ้นเมื่อ 8-9 ปีที่แล้ว ซึ่งมิใช่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

อีกหนึ่งหลักฐานเชิงประจักษ์ คือการลงทุนในสตาร์ทอัพที่ลดลง จากจุดสูงสุดเมื่อกลางปี 2015 โดยจำนวนดีลลดลง 40% และมูลค่าของเงิน ก็ได้ลดลง 24%

เมื่อเราติดตามเทรนด์ของเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน จะมีแต่ข่าวคราวอึกทึกครึกโครม ที่เกี่ยวข้องกับ AI, Robotics หรือรถยนต์ไร้คนขับ ซึ่งแตกต่างจากเมื่อเกือบ 10 ปีก่อนหน้านี้ ที่จะมีข่าวคราวที่เกี่ยวข้องกับ สมาร์ทโฟน และสิ่งที่ตามมา อย่างเช่น แชริ่งอีโคโนมี หรือกระทั่ง เมื่อเกือบ 20 ปีก่อนหน้านี้ ที่จะมีข่าวคราวของอินเทอร์เน็ตและสิ่งที่ตามมา เช่น อีคอมเมิร์ซ

ไม่ว่าจะเป็นยุคของ สมาร์ทโฟน หรือ อินเทอร์เน็ต การสร้างสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ อาศัยเพียง ความตั้งใจอันแรงกล้า แผนธุรกิจที่แยบยล เงินทุนที่พอเพียงและทีมงานที่มีประสิทธิภาพ โดยทีมงานอาจมีความเชี่ยวชาญหลายทาง และไม่จำเป็นต้องเจาะลึกไปทางใดทางหนึ่ง ในแง่มุมหนึ่ง อาจเปรียบได้ว่า เป็นยุคที่การสร้างนวัตกรรมใหม่ก็เพียงพอ โดยไม่ต้องอาศัยการค้นคว้าวิจัยเชิงลึก

แต่ในยุคปัจจุบัน เข้าสู่ยุคของ AI, Robotics หรือรถยนต์ไร้คนขับ กลับต้องอาศัยทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งมีจำนวนจำกัดมากๆ บนโลกใบนี้กับเงินทุนซึ่งมีขนาดที่ใหญ่ยิ่งกว่ายุคก่อนหน้านี้ เพราะอาศัยเพียงการสร้างนวัตกรรมแต่เพียงผิวเผินกลับไม่เพียงพอแล้ว และต้องอาศัยการค้นคว้าวิจัยเชิงลึกอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ จึงเหลือเพียงธุรกิจขนาดใหญ่ ที่สามารถจ่ายค่าจ้างอันมหาศาล เพื่อรวบรวมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทางด้าน AI, Robotics หรือรถยนต์ไร้คนขับ ที่มีอยู่ไม่กี่คนในโลก และสามารถลงทุนอย่างมหาศาล เพื่อทำการค้นคว้าวิจัยเชิงลึก ที่สามารถผลักดันองค์ความรู้ของมนุษยชาติไปข้างหน้า และมิใช่เป็นเพียงการนำความรู้ที่มีอยู่แล้ว มาสร้างเป็นนวัตกรรมใหม่

สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ย่อมไม่ใช่เรื่องแปลก หากความฝันอันสูงสุดของนักศึกษาจบใหม่ จากมหาวิทยาลัยอันดับท็อปของสหรัฐ คือการริเริ่มธุรกิจสตาร์ทอัพของตัวเอง แต่นักศึกษาที่จบใหม่ในปัจจุบันกลับมีความปรารถนาที่จะเป็นลูกจ้างใน ธุรกิจขนาดใหญ่ อย่างเช่น The Frightful Fives

สำหรับประเทศไทย สตาร์ทอัพยังคงไปได้อยู่ เนื่องจากเริ่มต้นช้ากว่าเหล่าประเทศที่เป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี โดยปัจจุบัน ยังคงเป็นยุคปลายของสมาร์ทโฟน กับสิ่งที่ตามมา เช่น แชริ่งอีโคโนมี ซึ่งเมื่อยุคนี้สิ้นสุด ในอีกไม่ไม่นานข้างหน้านี้ เป็นสิ่งที่น่าสนใจว่าประเทศจะไปต่ออย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคของ AI, Robotics หรือรถยนต์ไร้คนขับ เพราะถึงแม้จะหาเงินทุนมาได้ แต่การแย่งชิงหัวกะทิให้มาอยู่ในประเทศไทย และสามารถอยู่รอดและเติบโตได้ ภายใต้วัฒนธรรมธุรกิจของประเทศ ย่อมไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดาย เพราะปราบเซียนมาหลายยุคแล้ว

สำหรับผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ การสิ้นสุดของยุคสตาร์ทอัพ ย่อมไม่ใช่เรื่องแปลก และเป็นเรื่องปกติธรรมดาของทุก S-Curve เมื่อเข้าสู่ระยะอิ่มตัว ที่จะต้องทั้ง Specialize และมีการกระจุกตัว 

ทั้งนี้ สตาร์ทอัพ พร้อมที่จะกลับมาใหม่ เมื่อมี S-Curve ที่เกิดขึ้นใหม่ ที่มีความเหมาะสม แต่จะยังคงเป็น S-Curve ในเทคโนโลยีดิจิทัลหรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องติดตามดู