เงินดิจิตอล

เงินดิจิตอล

เงินดิจิตอล

เงินดิจิตอล เป็น ตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ เช่นเดียวกับในสมัยโบราณเราใช้เปลือกหอย (เบี้ย) หรือใช้ทองคำ ก่อนที่จะมาเปลี่ยนเป็นเงินที่เป็นเหรียญและธนบัตร จนมาถึงเงินอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบัน

เงินกระดาษที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เป็นเงินสมมุติที่มีกฎหมายตราไว้ คือมีรัฐบาลของประเทศที่พิมพ์เงินออกมารองรับว่าใช้ได้ตามกฎหมายนั่นเอง เงินกระดาษใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการมาตั้งแต่ประมาณ ค.ศ. 1000 โดยเริ่มครั้งแรกที่ประเทศจีน

ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีเงินดิจิตอล ที่เรียกกันว่า คริปโตเคอร์เรนซี (Crypto currency) ออกมา โดยสกุลแรกที่ออกคือ บิทคอยน์ (Bitcoin) ซึ่งคิดค้นโดย ปัจจุบันมีคริปโตเคอร์เรนซี มากกว่า 1,000 สกุล โดยข้อมูลจาก coinmarketcap.com ณ วันที่ 14 ธันวาคม 2560 แสดงให้เห็นว่า สกุลที่มีขนาดใหญ่ 100 สกุลแรกมีมูลค่าตลาดรวมกันถึง 512,417 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 16.65 ล้านล้านบาท 

สกุลที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดคือ บิทคอยน์ (Bitcoin) มีมูลค่าตลาด 280,710 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 55% ของมูลค่าตลาดของรายใหญ่ 100 รายแรก  โดยมีราคาล่าสุด 16,768 เหรียญต่อหน่วย มีจำนวนหน่วยประมาณ 16.74 ล้านหน่วย

ถัดไปคือ อีเธอเรียม (Ethereum) มีมูลค่าตลาด 67,755 ล้านบาท  ราคาล่าสุด 703.33 เหรียญต่อหน่วย มีจำนวนหน่วยประมาณ 96.33 ล้านหน่วย

อันดับที่สาม คือ Bitcoin Cash มีมูลค่าตลาด 32,036 ล้านเหรียญสหรัฐ ราคาล่าสุด 1,900.67 เหรียญต่อหน่วย และมีจำนวนหน่วยประมาณ 16.85 ล้านหน่วย

อันดับที่สี่ คือ ริปเปิล (Ripple) มีมูลค่าตลาด 23,956 ล้านเหรียญสหรัฐ ราคาล่าสุด 0.618388 เหรียญต่อหน่วย และมีจำนวนหน่วยประมาณ 38,739 ล้านหน่วย

และอันดับที่ห้า คือ ไลท์คอยน์ (Litecoin) มีมูลค่าตลาด 16,031 ล้านเหรียญสหรัฐ ราคาล่าสุด 295.23 เหรียญต่อหน่วย และมีจำนวนหน่วยประมาณ 54.3 ล้านหน่วย

เงินดิจิตอลเหล่านี้มีความผันผวนมาก ยกตัวอย่างใน 24 ชั่วโมง ของวันที่ 14 ธันวาคม ไลท์คอยน์ มีราคาลดลง 10.27% บิทคอยน์ ลดลง 2.55% และบิทคอยน์แคช เพิ่มขึ้น 17.91% เป็นต้น

สองสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวคราวเกี่ยวกับบิทคอยน์ออกมามาก ไม่ว่าจะเป็นการที่ราคาได้พุ่งขึ้นสูงอย่างเป็นประวัติการณ์ การที่ทางการของประเทศต่างๆออกมาเตือนผู้ลงทุนให้ใช้ความระมัดระวัง และการลงโทษผู้ประกอบการที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการซื้อขายเงินอิเล็กโทรนิกส์ที่มีลักษณะคล้ายๆกันนี้ที่รัฐคิวเบคของแคนาดา

บิทคอยน์ ก่อตั้งขึ้นโดย คุณ ซาโตชิ นากาโมโต (Satoshi Nakamoto) ซึ่งในวงการเองก็ไม่แน่ใจว่าเป็นชื่อจริงของผู้คิดค้น หรือเป็นชื่อสมมุติ โดยเขาเขียนคอนเซ็ปเกี่ยวกับเงินนี้ในปีพ.ศ. 2551  และนำออกมาใช้ในปี 2552 โดยใช้หลักการ กระจายข้อมูลที่เข้ารหัสออกเป็นส่วนย่อยๆ เพื่อป้องกันไม่ให้มีศูนย์กลางอยู่ที่ใดที่หนึ่ง เพื่อให้มูลค่าของสกุลเงินขึ้นอยู่กับความต้องการจริงๆ

คริปโตเคอร์เรนซี พยายามที่จะก้าวข้ามขีดจำกัดของ “สกุลเงิน” ต่างๆที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีกฎเกณฑ์ในการโยกย้ายข้ามประเทศ มีความผันผวนขึ้น-ลง ตามสภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ และยังผันผวนไปตามปัจจัยอื่น เช่น ความมั่นคงทางการเมือง ความน่าสนใจที่จะสามารถดึงดูดเงินลงทุนเข้ามาในประเทศ และความมั่นใจในอนาคตของประเทศนั้นๆ หรือภูมิภาคที่ประเทศนั้นๆตั้งอยู่

บิทคอยน์ แจ้งว่า จำนวนบิทคอยน์ทั้งหมดจะมีเพียง 21 ล้านชิ้นเท่านั้น โดยเจ้าของบิทคอยน์เหล่านี้ จะเก็บบิทคอยน์ไว้ใน “กระเป๋าสตางค์บิทคอยน์” หรือ Bitcoin Wallet ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่ 1,002,444 กระเป๋า

การได้มาซึ่งบิทคอยน์ มีสองวิธี  วิธีแรกคือการซื้อด้วยเงินสกุลหลักๆของโลก โดยผ่านช่องทางบัตรเครดิต และอีกวิธีหนึ่ง คือการ “ทำเหมือง” บิทคอยน์ ผู้ทำเหมืองเหล่านี้ เรียกว่า “Miners” ซึ่งก็จะทำหน้าที่เหมือนคนงานเหมืองคือขุดหาทรัพยากร โดยทำสัญญาล่วงหน้ากับทางบิทคอยน์ ในลักษณะ ปีต่อปี หรือในลักษณะตลอดชีพ เรียกว่า “สัญญานักขุด” หรือ Cloud Mining Contract

กลุ่มนี้ คือกลุ่มที่ลงทุนล่วงหน้ากับ บิทคอยน์ นั่นเอง โดยในการทำธุรกรรมของบิทคอยน์ ต้องมีการเชื่อมต่อและทบทวนตรวจสอบการแลกเปลี่ยน นักทำเหมืองเหล่านี้จะจ่ายเงินล่วงหน้าเป็นค่าใบอนุญาตขุด และบริษัทนำเงินเหล่านี้ไปซื้ออุปกรณ์การเชื่อมโยง โดยจ่ายค่าตอบแทนให้กับ นักขุดเหล่านี้ โดยค่าสัญญารายปี ขั้นต่ำ 2,245 เหรียญสหรัฐ และสัญญาตลอดชีพ ขั้นต่ำ 2,995 เหรียญสหรัฐ โดยขณะนี้สัญญาตลอดชีพเต็มหมดแล้วค่ะ

แม้จะก้าวข้ามจุดอ่อนบางอย่างของสกุลเงินปกติได้ แต่ก็มีอะไรหลายๆอย่างที่เงินดิจิตอลเหล่านี้ยังไม่สามารถก้าวข้ามได้ เช่น การเข้ามาของการเก็งกำไร ซึ่งก่อให้เกิดความผันผวนยิ่งกว่าสกุลเงินที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน และยังต้องพึ่งพากลไกทางการเงินที่มีอยู่ในโลกปัจจุบัน เช่น การชำระเงินด้วยบัตรเครดิต เป็นต้น

เรียกได้ว่า ไม่สามารถก้าวพ้นสัจธรรมเรื่อง อนัตตา” คือ “เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป” ได้

ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะหยิบ วัตถุ หรือสัญลักษณ์ใดมาเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน หากคนทั่วไปยอมรับ หากมีความน่าเชื่อถือพอ ย่อมสามารถทำได้ทั้งสิ้น หากไม่ขัดต่อกฎหมายของบ้านเมือง

การที่ต้องมีกฎเกณฑ์ และกฎหมายเข้ามากำกับก็เนื่องจาก มีผู้ฉวยประโยชน์จากความไม่รู้ ไม่เข้าใจของคนอื่นๆ ดังนั้นทางการของประเทศต่างๆจึงต้องเป็นตัวกลางในการทำให้คนของประเทศนั้นๆเกิดความมั่นใจ และสร้างความมั่นใจให้ขยายขอบเขตไปยังประเทศอื่นๆที่ค้าขายกันด้วย

คาดว่าในอนาคต ธนาคารกลางของแต่ละประเทศก็คงจะมีสกุลเงินดิจิตอลของตัวเองออกมาค่ะ

นำมาเขียนเพื่อเตือนว่า การลงทุนมีความเสี่ยง ลงทุนในสภาพแวดล้อมที่มีผู้กำกับดูแล แม้จะมีความเสี่ยงแต่ก็อุ่นใจได้หน่อยหนึ่ง  แต่ลงทุนในสภาพที่ไม่มีผู้กำกับดูแล ถือว่าเสี่ยงมากกว่า และไม่แนะนำเป็นอย่างยิ่งค่ะ