มองการเลือกตั้งในอเมริกาสัปดาห์นี้

มองการเลือกตั้งในอเมริกาสัปดาห์นี้

ขณะที่เริ่มเขียนบทความนี้ในช่วงเช้าของวันอังคารที่ 12 ธ.ค. ตามเวลาในวอชิงตัน สื่อในอเมริกาพากันรายงานการเลือกตั้งในรัฐแอละแบมาอย่างเข้มข้น

การเข้าไปทำข่าวและรายงานจะเพิ่มความเข้มข้นขึ้นตลอดวัน เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้มีนัยสำคัญยิ่ง

ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเลือกตั้งคือ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แต่งตั้งวุฒิสมาชิกคนหนึ่งซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐแอละแบมา เป็นรัฐมนตรียุติธรรม ตำแหน่งวุฒิสมาชิกนั้นจึงว่างลงส่งผลให้รัฐแอละแบมาจัดการเลือกตั้งใหม่ 

ตามปกติ การเลือกตั้งแบบนี้จะไม่มีใครใส่ใจมากนัก นอกจากในวงของคอการเมือง แต่การเลือกตั้งดังกล่าวมีความไม่ปกติด้วยปัจจัยหลายอย่าง 

หนึ่งในปัจจัยหลักได้แก่ ผู้สมัครของพรรคริพับลิกัน ถูกกล่าวหาโดยสตรีหลายคนว่าลวนลามพวกเขา เมื่อพวกเขายังไม่บรรลุนิติภาวะ ในขณะที่ผู้สมัครดำรงตำแหน่งอัยการ

ปัจจัยนั้นก่อให้เกิดความแตกแยกร้ายแรงในพรรคริพับลิกัน ประธานาธิบดีทรัมป์เป็นผู้นำฝ่ายสนับสนุนผู้สมัคร ในขณะที่ผู้ใหญ่หลายคนของพรรคประกาศว่าจะต่อต้านผู้สมัครแบบถึงที่สุด

สภาวการณ์เช่นนี้เป็นเสมือนเชื้อเพลิงชั้นดี ที่โหมไฟให้สื่อเข้าไปทำรายงาน พร้อมกับวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างไม่ต่างกับการเลือกตั้งประธานาธิบดี

การเลือกตั้งวุฒิสมาชิกของรัฐแอละแบมาครั้งนี้ มองได้ว่าสะท้อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีของอเมริกาเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

คงจำกันได้ว่า ตอนนั้นนายโดนัลด์ ทรัมป์ซึ่งเป็นตัวแทนของพรรคริพับลิกัน ถูกกล่าวหาโดยสตรีจำนวนมากว่าลวนลามและทำอนาจารตน 

ยิ่งกว่านั้น ยังมีการเผยแพร่ความหยาบคายของนายทรัมป์ ผ่านวีดิทัศน์ที่บันทึกเสียง และภาพของเขา โดยผู้ทำงานด้านการบันเทิงอีกด้วย (ในช่วงนี้ ส่วนหนึ่งสตรีเหล่านั้นได้ออกมากดดันให้มีการค้นหาความจริงและลงโทษนายทรัมป์อีกครั้ง) 

กระนั้นก็ตาม นายทรัมป์ชนะการเลือกตั้งซึ่งนำไปสู่การวิเคราะห์และวิพากษ์อันหลากหลายและเผ็ดร้อน ชาวอเมริกันจำนวนมากวิจารณ์แบบกึ่งขบขันว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีในยุคนี้ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย หากเป็นการเลือกระหว่างปีศาจ 2 ตัว โดยต้องเลือกเอาตัวที่มีความชั่วน้อยกว่า นางฮิลลารี คลินตัน ถูกมองว่าเป็นปีศาจที่ชั่วร้ายมากกว่านายทรัมป์

อย่างไรก็ดี มีประเด็นน่าใส่ใจที่มิใช่เรื่องขบขัน นั่นคือ ชาวอเมริกันหลายสิบล้านคนเต็มใจมองข้ามความบกพร่องทางคุณธรรมของนายทรัมป์ เพราะเห็นว่าเขาจะทำประโยชน์ให้แก่พวกตน 

ผู้วิพากษ์จำนวนมากลงความเห็นว่า นั่นคือประชานิยมแบบหนึ่งซึ่งหากมองต่อไปมีส่วนคล้ายกับปรากฏการณ์ในเมืองไทยเมื่อหลายปีก่อน กล่าวคือ การสำรวจความเห็นของคนไทยโดยหลายสำนักในหลายช่วงเวลาสรุปตรงกันว่า คนไทยส่วนใหญ่เต็มใจลงคะแนนให้นักการเมืองฉ้อฉล หากพวกตนได้รับประโยชน์

ณ วันนี้ ไม่มีการกล่าวหาว่าประธานาธิบดีทรัมป์ฉ้อฉลเช่นเดียวกับนักการเมืองไทย อย่างไรก็ตาม นายทรัมป์แสดงความสามหาว ใช้วาจาซึ่งมองได้ว่าหยาบคายและเหยียดหยามใครต่อใครเป็นประจำ จนดูว่าจะเป็นผู้นำที่มีความถ่อยเถื่อน แต่คนอเมริกันนับสิบล้านคนยังนิยมเขา 

ด้วยเหตุนี้จึงมีการบัญญัติศัพท์ใหม่ออกมาโดยวิจารณ์ว่าอเมริกาตกอยู่ในยุค Trumpism ศัพท์คำนี้ยากแก่การแปลมากนอกจากจะกล้าใช้คำว่า ถ่อยนิยม

ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งมา ประธานาธิบดีทรัมป์มีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีนักในสายตาของชาวโลกจำนวนมาก แต่เขามิใช่คนเดียว ผู้นำหลายประเทศในขณะนี้ก็มีพฤติกรรมในแนวเดียวกัน 

ตัวอย่างของประเทศใกล้เมืองไทยที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเลือกผู้นำได้แก่ ฟิลิปปินส์ ปัจจัยที่จูงใจให้ชาวอเมริกัน และชาวฟิลิปปินส์เลือกประธานาธิบดีที่ดูจะมีปัญหาด้านคุณธรรมและสามหาวอาจหลากหลาย 

คอลัมน์นี้เคยเสนอว่าปัจจัยหลักได้แก่ ชาวอเมริกันต้องการบริโภค หรือใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในภาวะของโลกปัจจุบัน พวกเขาผิดหวังจึงมองหาทางออกโดยเลือกผู้นำคนใหม่ซึ่งให้คำมั่นสัญญาว่าจะเอื้อให้พวกเขาทำได้แม้ผู้นำคนนั้นจะบกพร่องทางด้านคุณธรรมก็ตาม

เมื่อเขียนบทความนี้ใกล้เสร็จ สื่อสำนักใหญ่ 2 แห่งแสดงความมั่นใจจากข้อมูลของตนว่าชาวแอละแบมาเลือกผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต นั่นอาจตีความหมายได้ว่าอเมริกาจะตกอยู่ในยุคถ่อยนิยมต่อไปอีกไม่นาน และนั่นอาจเป็นข่าวดีสำหรับชาวโลก