เมื่อกมธ.สาธาณสุข สภานิติบัญญัติฯ ไปดูงานที่สำนักปลัดฯสธ.***

เมื่อกมธ.สาธาณสุข สภานิติบัญญัติฯ ไปดูงานที่สำนักปลัดฯสธ.***

การไปศึกษาดูงานวันนี้ เป็นการไปรับฟังการบรรยายสรุป จากข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ณ ห้องประชุมตึก 1 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข-

โดยผู้บรรยายสรุปได้แก่

1.รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์

2.ผู้ตรวจราชการกระทรวงสธ.นพ.บุญชัย ธีระกาญจน์

3.ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูประบบสาธารณสุขด้านการเงินการคลัง ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล

4.รองอธิบดีกรมอนามัย

รองปลัดกระทรวงได้กล่าวถึงข้อมูลพื้นฐานของกระทรวงสาธารณสุข ยุทธศาสตร์กระทรวง ผลงานเด่น และเป้าหมายการปฏิรูป

ส่วนผู้ตรวจราชการกระทรวงได้กล่าวถึงการดำเนินงานคลีนิคปฐมภูมิ และหมอครอบครัว ซึ่งมีแผนผลิตและพัฒนากำลังคนปฐมภูมิและแนวทางการจ่ายค่าตอบแทน

ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูประบบสาธารณสุขด้านการเงินการคลัง ได้พูดถีงว่าถ้าระบบหลักประกันสุขภาพยังเป็นเช่นเดิม ในอีก 20 ปีข้างหน้า(พ.ศ. 2580) ภาระการใช้จ่ายด้าน(การประกัน) สุขภาพปีละ 1,385,161.1 ล้านบาท โดยมีรายจ่ายภาครัฐ 16.51% และเสนอแนวคิดในการรับภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพแบบ “เป็นธรรม”(Equity) ไม่ใช่ “เท่าเทียม” (Equality)กล่าวคือ ช่วยเหลือคนจนและคนด้อยโอกาสในสังคม ส่วนคนไม่จนร่วมจ่าย 

น.ภิรมย์ กมลรัตนกุล ยังได้นำเสนอแนวทางในการจัดหางบประมาณภาครัฐเพิ่มเติม เช่น มาตรการทางภาษี เช่น เพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และมาตรการร่วมจ่ายจากประชาชน

ส่วนรองอธิบดีกรมอนามัย ได้กล่าวถึงการปฏิอรูปโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

หลังจากฟังบรรยายสรุปได้มีการเปิดโอกาสให้คณะกรรมาธิการซักถามหรือให้ข้อเสนอแนะ

ในส่วนตัวของผู้เขียน ได้ซักถามและเสนอความเห็นดังนี้ ว่ากระทรวงสาธารณสุขเป็นกระทรวงใหญ่มีบุคลากรถึง 400,000 คน มีภาระงานมากครอบคลุมกับสุขภาพและคุณภาพชีวิตประชาชนทุกคน แต่กระทรวงสาธารณสุขยังขาดแคลนทรัพยากรในการทำงานเพื่อบริการประชาชน ซึ่งทรัพยากรในที่นี้รวมหมดทุกอย่างได้แก่

1.ขาดงบประมาณที่เหมาะสม/เพียงพอ แม้ทางรองปลัดกระทรวงจะรายงานว่ารพ.ขาดทุนระดับ 7 ลดลงเหลือประมาณ 3% (ขาดทุนระดับ 7 แปลว่าขาดสภาพคล่องหรือมีหนี้สินหมุนเวียนมากกว่าทรัพย์สินหมุนเวียนจ่อล้มละลาย)แต่ก็ยังมีโรงพยาบาลขาดทุนอีกมากมาย และการขาดทุนในการทำงานเช่นนี้ยังส่งผลเสียหายต่อคุณภาพหารบริการแก่ประชาชนด้วย การขาดทุนเกิดจากการที่สปสช.ส่งคืนค่ารักษาผู้ป่วย (ในระบบ 30 บาท) น้อยกว่าต้นทุนจริงที่โรงพยาบาลต้องใช้ไปในการรักษาผู้ป่วย หรือจะเรียกให้ถูกต้องก็คือ โรงพยาบาลไม่สามารถเรียกเก็บหนี้ค้างชำระจากสปสช.ได้ สปสช.จึงมีสถานะเป็นลูกหนี้ ส่วนโรงพยาบลเป็นเจ้าหนี้ที่ไม่สามารถเรียกเก็บเงินค้างจ่ายจากสปสช.ได้

2.ขาดอาคารสถานที่ เครื่องมือเครื่องใช้ มีผู้มาดูงาน(ในคณะกรรมาธิการสธ.)ท่านหนึ่งบอกว่า โรงพยาบาลแออัดยัดเยียดผู้ป่วยนอนตามทางเท้า ดูไม่สะอาดเรียบร้อย ไม่ถูกสุขลักษณะ ผู้เขียนบอกว่า ดูปรากฏการณ์ตูนบอดี้แสลม ต้องออกมาวิ่ง 2,191 กม.จากใต้จรดเหนือเพื่อหาเงินช่วยรพ. 11 แห่งทั่วประเทศ จึงมีคำถามว่า แล้วกระทรวงสาธารณสุขทำอะไรบ้าง? เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวและผู้เขียนได้บอกว่าการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะช่วยแก้ปัญหาการบริหารที่ขาดธรรมาภิบาลของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และจะทำให้โรงพยาบาลได้รับเงินงบประมาณที่เหมาะสมเพียงพอในการทำงานให้บริการประชาชน จึงขอถามว่าแก้กฎหมายนี้ไปถึงไหนแล้ว? และผู้เขียนยังบอกว่าการที่จะส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ในการดูแลส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคนั้น สสส.ได้รับงบประมาณในการนี้ปีละหลายพันล้านบาท ได้ช่วยแบ่งเบางานส่งเสริมสุขภาพไปได้มากน้อยเพียงใด และพ.ร.บ.สสส.แก้ไปถึงไหนแล้ว?

3.ขาดบุคลากรที่เหมาะสม พอเพียง ถึงแม้จะมีบุคลากรถึง 400,000 คน แต่บุคลากรยังเป็นลูกจ้าง เป็นพนักงานที่เงินเดือนต่ำ ขาดสวัสดิการ ขาดความก้าวหน้าในการทำงาน และเมื่อบุคลากรน้อย ผู้ป่วยมีจำนวนมาก ทำให้ผู้ป่วยต้องรอรับการบริการนานทำให้ผู้ป่วยไม่พอใจ บางคนก็ลุแก่โทสะลงมือทำร้ายบุคลากรจนบาดเจ็บ เกิดความไม่ปลอดภัยในการทำงานของบุคลากร นอกจากนี้แล้วสวัสดิการบุคลากรไม่มี จึงถามว่ากระทรวงจะอธิบายให้ครม.เข้าใจได้ว่าการบรรจุบุคลากรให้มากพออย่างเหมาะสมนั้น ประโยชน์เป็นของประชาชนที่จะได้รับการบริการที่ดี มีคุณภาพ และคุณภาพชีวิตดี ที่เป็นอยู่กระทรวงยังติดค้างไม่มีเงินจ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลา(ดูแลประชาชนนอกเวลาราชการ 24 ชม.) ติดค้างจ่ายเงินมาเป็นปีแล้ว จะแก้ไขอย่างไร?

ค่าตอบแทนการทำงานนอกเวลานั้นควรเพิ่มอัตราค่าตอบแทนได้แล้ว

ผู้เขียนยังถามถึงการที่โรงพยาบาลเรียกเก็บเงินค่าบริการจากผู้ป่วยที่มานอกเวลาราชการนั้นทำได้หรือไม่ เนื่องจากโรงพยาบาลต้องการเงินมาใช้จ่ายในการทำงานให้บริการสุขภาพแก่ประชาชน

ไม่ทราบว่าทางคณะของรองปลัดกระทรวงจะได้จดบันทึกคำถามต่างๆ ของผู้เขียน ไปถามรมต.และปลัดกระทรวงหรือไม่ แต่ในที่ประชุม ไม่มีใครตอบปัญหานี้ มีผู้ตรวจราชการกระทรวงที่บอกว่า เสนอขอค่าตอบแทนให้แก่หมอครอบครัวไป ก็ยังไม่ได้เพิ่มแต่อย่างใด

แล้วจะมีการแก้ปัญหาหรือไม่

ยังมีคำถามและข้อเสนอแนะจากทางกมธ.อีกหลายประเด็น แต่ผู้เขียนจะไม่กล่าวถึงในที่นี้ เพราะฝ่ายเลขาสรุปคงจะครบถ้วนกว่า (ถอดเทป) แต่สำหรับคำถามและข้อเสนอแนะของส่วนตัว ขอรายงานไว้ให้ผู้สนใจได้ทราบเผื่อว่าผู้มีอำนาจจะได้ช่วยแก้ปัญหาและปฏิรูปกระทรวงได้

 //////////////

*** ชื่อเต็มเรื่อง: 

เมื่อกรรมาธิการสาธาณสุข สภานิติบัญญัติฯ

ไปดูงานที่สำนักปลัดฯสาธารณสุข

โดย...

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา

ที่ปรึกษากิติมศักดิ์ กรรมากธิการสธ. สนช.