แนวโน้มปีหน้าสดใส

แนวโน้มปีหน้าสดใส

แนวโน้มปีหน้าสดใส

ปี 2560 กำลังจะผ่านไป ปี 2561 กำลังจะมาถึง ตอนนี้มีหลายหน่วยงานเริ่มให้มุมมองเศรษฐกิจในปีหน้า ซึ่งส่วนใหญ่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้ามีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้มากกว่า 4% เล็กน้อย ในขณะที่รัฐบาลอยากเห็นปีหน้าเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ถึง 5%

ทั้งนี้ การที่หน่วยงานต่างๆมองว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้ามีแนวโน้มเติบโตดีมีสาเหตุมาจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่อง โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ยอดส่งออกโต 9.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ดีกว่าที่เคยคาดไว้มาก ทางด้านภาคการท่องเที่ยวก็เติบโตได้ดีเช่นกัน และยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

แต่หากดูในรายละเอียดที่หน่วยงานต่างๆ ใช้ประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า จะพบว่าหน่วยงานต่างๆ ยังคงประเมินการเติบโตอย่างระมัดระวัง โดยส่วนใหญ่ประเมินว่าการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ใกล้เคียงกันกับในปีนี้ การลงทุนภาคเอกชนจะเริ่มฟื้นตัว การลงทุนภาครัฐจะเพิ่มขึ้นมากโดยเป็นผลจากฐานต่ำในปีนี้ และการส่งออกอาจโตราว 5% ซึ่งหมายความว่าเป็นการโตในอัตราที่ชะลอลงจากปีนี้

ในส่วนของมุมมองดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยในปี 2561 จากงานเสวนา “ส่องหุ้นดิจิตัล มุมมองเชิงเทคนิคและปัจจัยพื้นฐาน” ผู้ร่วมเสวนาให้มุมมองดัชนีปีหน้าที่ 1,780 – 2,000 จุด โดยมีค่ากลางที่ 1,890 จุด หรือ +4.7% ถึง +17.7% และมีค่ากลาง +11.2% จากระดับ 1,700 จุด ซึ่งหมายความว่า นักวิเคราะห์ยังคงมีทั้งมองเชิงบวกอย่างระมัดระวัง และมองเชิงบวกอย่างมาก

การที่ตัวเลขเศรษฐกิจได้รับการประเมินอย่างระมัดระวัง มีผลให้การประเมินดัชนีตลาดหลักทรัพย์ยังคงอยู่ในระดับที่ถือว่าไม่มองบวกเกินไป ดังนั้น หากเศรษฐกิจเติบโตได้ดีกว่าที่คาด แนวโน้มผลประกอบการของบริษัทต่างๆก็อาจออกมาดีกว่าที่คาดเช่นกัน และน่าจะส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวขึ้นได้ดีกว่าที่คาด  แต่ทั้งนี้ นักลงทุนต้องไม่ลืมว่าโอกาสที่จะเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม กล่าวคือ เศรษฐกิจโตต่ำกว่าที่คาด ก็มีเช่นกัน

สำหรับปัจจัยที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้าโตดีกว่าที่คาด ในส่วนของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนมีหลายปัจจัย ปัจจัยแรกได้แก่ ฐานต่ำ เนื่องจากในปี 2560 นี้ เป็นปีที่ชาวไทยพร้อมใจร่วมกันถวายความอาลัย โดยงดเว้นงานรื่นเริงต่างๆ เช่น งดงานฉลองปีใหม่ งดงานสงกรานต์ ยกเลิกการจัดคอนเสิร์ต เป็นต้น ปัจจัยต่อมาได้แก่ การเปิดตัวของรถยนต์รุ่นใหม่ เช่น Toyota C-HR, Toyota Camry 2018, Honda Accord 2018 เป็นต้น ซึ่งการเปิดตัวรถยอดนิยมเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคในส่วนของรถยนต์ ในขณะที่การหมดภาระการผ่อนจ่ายรถคันแรกจะช่วยให้ผู้บริโภคมีความสามารถในการใช้จ่ายมากขึ้น  การแข่งขันฟุตบอลโลกที่จะมีขึ้นที่รัสเซีย เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยหนุนการบริโภค เนื่องจากเป็นเวลาที่คนไทยสามารถรับชมการถ่ายทอดสดได้สะดวก น่าจะช่วยให้ยอดขายโทรทัศน์เพิ่มขึ้น รวมถึงยอดขายอาหาร เครื่องดื่ม และขนมขบเคี้ยว เพื่อรับประทานในระหว่างการรับชมฟุตบอลน่าจะเพิ่มขึ้น และหน่วยงานและสถานบันเทิงต่างๆน่าจะจัดกิจกรรมเกี่ยวกับฟุตบอลโลกอย่างคึกคัก อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญได้แก่ การเลือกตั้งที่น่าจะมีขึ้นในช่วงปลายปี 2561 ซึ่งน่าจะมีการโฆษณา การหาเสียง ซึ่งหมายถึงมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการว่าจ้างในงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง

นด้านการส่งออก ข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่าแนวโน้มการค้าในตลาดโลกยังคงแข็งแกร่ง และเร่งตัวขึ้นจากช่วงก่อนหน้านี้ โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของยูโรโซน อยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นลำดับที่ 2 ในรอบ 20 ปีในเดือนพฤศจิกายน  ยอดนำเข้าและส่งออกของจีนในเดือนพฤศจิกายนเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาด เศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายนเติบโตดีกว่าที่คาดตามการส่งออกและการลงทุนของภาคธุรกิจ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯมีความแข็งแกร่งต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้บ่งชี้ว่าการค้าในตลาดโลกมีแนวโน้มแข็งแกร่ง  นอกจากนี้ ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีนี้ ยอดส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ของไทย ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่มีสัดส่วนการส่งออกสูงสุด (11.4% ของยอดส่งออกทั้งหมด) หดตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่เริ่มกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในเดือนตุลาคม ซึ่งการฟื้นตัวของการส่งออกรถยนต์นี้จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้การส่งออกในปี 2561 เติบโตได้ดีกว่าที่คาด

ด้านการลงทุนภาครัฐ นอกจากผลของฐานต่ำแล้ว มีแนวโน้มที่รัฐบาลจะเร่งอนุมัติการลงทุนในโครงการต่างๆให้เสร็จสิ้นก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าโครงการต่างๆจะเกิดขึ้นจริง ซึ่งมีแนวโน้มว่าการลงทุนภาคเอกชนจะเร่งตัวขึ้นตามการลงทุนภาครัฐ

ปัจจัยบวกเหล่านี้ น่าจะมีส่วนให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าดีกว่าที่คาด แต่ก็ต้องย้ำอีกทีว่านักลงทุนควรประเมินปัจจัยลบที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เช่น ปัญหาในคาบสมุทรเกาหลี แนวโน้มการดำเนินนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ การแก้ปัญหาสินเชื่อของจีน เป็นต้น