จุดบอดของการสื่อสาร กับมติมหาชนในยุคคืนความสุข

จุดบอดของการสื่อสาร กับมติมหาชนในยุคคืนความสุข

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่ๆเกี่ยวกับรัฐบาลคสช.เป็นประเด็นต่อเนื่องหลายข่าว

ทั้งการปรับครม.ชุด ประยุทธ 5” ตามมาด้วยข่าวน้องเมย นายภคพงษ์ ตัญกาญจน์ นักเรียนเตรียมทหารที่เสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำ ปิดท้ายด้วยข่าวครม.สัญจรไปภาคใต้ช่วงปลายเดือน ที่เกิดกรณีนายกฯ ไปตวาดชาวประมงที่มาร้องเรียนปัญหา และมีการจับกุมแกนนำคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อ.เทพา จ.สงขลา

ทั้ง 3 ข่าวดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกัน แต่กลับมีสิ่งหนึ่งร่วมกันคือ ประเด็นที่ถูกมองข้ามไปเกี่ยวกับการสื่อสารทั้งเบื้องหลัง และเบื้องหน้า อีกทั้งผลกระทบต่อมติมหาชนที่มีต่อรัฐบาลคสช. ซึ่งดูเหมือนความนิยมจะลดน้อยถอยลงไปอย่างผกผันกับจำนวนวันเดือนปีที่อยู่ในอำนาจ

ในกรณีของการปรับครม. ข่าวที่เป็นสร้างความเสียหายให้กับคสช. มาจากการให้สัมภาษณ์(ทั้งน้ำตา) บวกกับการโพสต์ในโซเชียลมีเดียของนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ที่ทำให้สาธารณะรู้ว่า นางกอบกาญจน์ไม่เคยได้รับแจ้งใดๆ เกี่ยวกับการถูกปรับออกจากครม. แต่มารู้เมื่อมีการประกาศอย่างเป็นทางการผ่านสื่อแล้ว

หากเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องจริง ก็สะท้อนให้เห็นว่าผู้ใหญ่ในคสช. โดยเฉพาะนายกฯ ไม่ได้ให้ความเคารพ และไม่ได้ใส่ใจพอที่จะสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจก่อนจะมีประกาศตัวจริงออกมา 

พอรูปการณ์ออกมาเป็นแบบนี้ สื่อที่เห็นใจและเห็นผลงานของนางกอบกาญจน์ก็ตั้งคำถามว่าเกณฑ์ในการปรับรัฐมนตรีออกคืออะไร และเล่นประเด็นนี้ต่อโดยการเอาตัวเลขด้านการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมานำเสนอ ทำให้สาธารณชนจำนวนไม่น้อยเกิดความกังขาในการตัดสินใจของนายกฯ

ที่น่าสนใจอีกประเด็นแต่ไม่มีสื่อใดเล่นเลยก็คือ การปรับครม.รอบนี้  ครม.ประยุทธ 5 เหลือรัฐมนตรีหญิงอยู่เพียงคนเดียวคือ นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

นับว่าเป็นโชคดีของนายกฯที่สัดส่วนของรัฐมนตรีหญิงหรือผู้นำทางการเมืองที่เป็นเพศหญิงไม่เคยเป็นประเด็นที่สื่อ หรือเอ็นจีโอไทยให้ความสนใจนัก เรื่องนี้จึงไม่อยู่ในกระแสข่าวใดๆ

ในประเทศที่เน้นความเท่าเทียม และการพัฒนาแบบไม่แบ่งแยกบนฐานความแตกต่างใดๆ มักมีหน่วยงานที่คอยติดตามสถิติของผู้หญิง ในตำแหน่งทางการเมือง เพื่อเป็นดัชนีสำคัญหนึ่งที่ชี้วัดตำแหน่งแห่งที่ของผู้หญิงในสังคม และนโยบายสาธารณะว่ามีความพยายามสร้างการมีส่วนร่วมจากผู้หญิงซึ่งถือว่าเป็นเพศที่ได้รับโอกาสน้อยกว่าผู้ชายสืบเนื่องมาในอดีตหรือไม่อย่างไร 

มาถึงกรณีน้องเมย จะเห็นได้ว่า ผู้เกี่ยวข้องเดินผิดทางไปแทบทั้งหมดในการควบคุมความเสียหายจากวิกฤติ และการบริหารวิกฤติการสื่อสาร

หลักๆ ก็ด้วยการไม่ชี้แจงด้วยข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างเป็นกิจจะลักษณะ และไม่ยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น แต่กลับเปิดโหมดปกป้องตนเอง และพวกพ้อง แถมยังมีคนไม่เกี่ยวข้อง และขาดทักษะการให้สัมภาษณ์สื่อมาโหมกระพือความรู้สึกของคนที่คุกรุ่นให้ลุกโหมขึ้น แม้จะมาขอโทษภายหลังก็ไม่ได้ทำให้ความเสียหายคลายลง

ยิ่งไปกว่านั้น ยังปรากฏว่ามีความพยายามในการสยบข่าวเกี่ยวกับน้องเมยในพื้นที่ออนไลน์ให้เข้าถึงยากขึ้น ซึ่งการพยายามปิดกั้นข้อมูลเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตย่อมไม่ต่างอะไรกับการพยายามปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ และเมื่อเรื่องแดงออกมา ก็ยิ่งจะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกรณีการเสียชีวิตของน้องเมยยิ่งสูญเสียความน่าเชื่อถือ และดูขาดความโปร่งใสมากขึ้นไปอีก

กรณีสุดท้าย ในภาวะอันเป็นวิกฤติของชุมชนหรือสังคม ประชาชนที่เดือดร้อนย่อมมองว่าผู้นำรัฐคือผู้ที่ตนจะสามารถเข้าหาและพึ่งพาได้เพื่อช่วยหาทางแก้ไขหรือเยียวยาปัญหา ไม่ได้สนใจว่ารัฐบาลเข้ามาด้วยวิธีการใด และมีพันธกิจใดที่จะเหนือไปกว่าการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชน

การได้รับการตอบกลับแบบที่ชาวประมงหรือผู้เคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าได้รับ จึงอาจจะยิ่งตอกย้ำความเป็นชนชายขอบของพวกเขาว่าไม่ควรค่าแก่การเหลียวแลใดๆ

แม้รัฐบาลคสช.จะไม่ได้มี สัญญาประชาคม กับประชาชนในการเข้ามาปกครองประเทศ แต่ในช่วงแรกของการเข้าสู่อำนาจ ท่านก็เปิดเพลงให้คนไทยเข้าใจว่า เราจะทำตามสัญญา และขอเวลาอีกไม่นาน  ก็ได้แต่หวังว่า หนึ่งในสัญญานั้นน่าจะเป็นการให้เกียรติ และเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนกลุ่มต่างๆในสังคม เพื่อที่ว่าเมื่อเรื่องราวถูกสื่อสารออกไป จะได้ไม่ส่งผลติดลบต่อมติมหาชนในแง่การยอมรับรัฐบาลมากไปกว่านี้