ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

การทำข้อตกลงหรือสัญญาจะมีผลใช้บังคับได้ ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

 ซึ่งต้องเป็นข้อตกลงหรือสัญญาที่สมบูรณ์ ไม่เป็นโมฆียะที่อาจถูกบอกล้างได้ และไม่เป็นโมฆะที่เสียเปล่ามาแต่ต้น

ในปี 2540 ได้มีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมพ.ศ.2540 ออกใช้บังคับ มีเจตนารมณ์มิให้ผู้มีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจเหนือกว่าคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เอาเปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง ในการทำข้อตกลงหรือสัญญาบางอย่าง โดยที่การเอาเปรียบนั้น ยังไม่ถึงขั้นเป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งโดยกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน อันจะทำให้ข้อตกลงหรือสัญญานั้นเป็นโมฆะ

ข้อตกลงหรือสัญญาที่อยู่ในบังคับตามที่กำหนดไว้ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ เป็นสัญญาหรือข้อตกลงที่โดยสภาพของคู่สัญญา ฝ่ายหนึ่งมีอำนาจทางเศรษฐกิจเหนืออีกฝ่ายหนึ่ง คือ สัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ สัญญาสำเร็จรูป สัญญาขายฝาก 

ข้อตกลงหรือสัญญาดังกล่าวจะถือว่า เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม หากมีสาระที่กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝาก ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร ศาลมีอำนาจกำหนดให้มีผลใช้บังคับเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น

ในพระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดตัวอย่างข้อตกลงที่อาจถือได้ว่า ทำให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งไว้ 9 กรณี คือ ข้อตกลงให้ยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดที่เกิดจากการผิดสัญญา ให้รับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด ให้ข้อตกลงหรือสัญญาสิ้นสุดลงโดยไม่มีเหตุผล หรือให้มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแม้อีกฝ่ายมิได้ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ 

กำหนดราคาสินไถ่สินค้าที่ขายฝากด้วยราคาขายบวกดอกเบี้ยเกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี กำหนดราคาเช่าซื้อหรือให้ผู้เช่าซื้อรับภาระสูงกว่าที่ควร กำหนดอัตราดอกเบี้ยหรือค่าปรับกรณีผิดนัดหนี้บัตรเครดิตสูงเกินกว่าที่ควร กำหนดวิธีคิดดอกเบี้ยทบต้นที่ทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระสูงเกินกว่าที่ควร

พระราชบัญญัติฉบับนี้ ยังบังคับถึงข้อตกลงในการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพในการประกอบอาชีพ เช่น ข้อตกลงไม่ประกอบกิจการกับนายจ้าง หรือไม่ทำงานให้คู่แข่งของนายจ้าง ซึ่งไม่เป็นโมฆะ แต่เป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพมากกว่าที่พึงคาดหมายได้ตามปกติ ให้มีผลบังคับได้เท่าที่เป็นธรรม และพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น เช่น เงื่อนไขในสัญญาจ้างงาน ที่จะไม่ประกอบกิจการแข่งกับนายจ้าง หรือเมื่อพ้นหน้าที่ไปแล้ว ไม่ไปทำงานให้คู่แข่งของนายจ้างตามระยะเวลาที่กำหนด

ในสัญญาที่กำหนดให้มีมัดจำ หากมีกรณีต้องริบมัดจำ ถ้ามัดจำนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะให้ริบเพียงเท่าความเสียที่แท้จริงได้

ที่ผ่านมา มีคดีที่พิพาทกันโดยมีประเด็นว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกามากหลายคดี

คดีที่ ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า ไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เช่น

* การกำหนดให้ผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ซึ่งเป็นความรับผิดตามกฎหมาย มิใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม (คำพิพากษาฎีกาที่6087/2550)

* สัญญาตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ที่มีข้อกำหนดให้บริษัทรถยนต์บอกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ได้ แต่ต้องมีหนังสือบอกให้ตัวแทนจำหน่ายทราบล่วงหน้า 90 วันและจะมีผลเมื่อครบกำหนด 90วัน ไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม (คำพิพากษาฎีกาที่2507/2552)

* สัญญาเช่าซื้อที่กำหนดว่าการชำระเงินค่าเช่าซื้อด้วยเช็คจะมีผลเมื่อมีการใช้เงินตามเช็คแล้ว และใบรับเช็คไม่ถือเป็นใบเสร็จรับเงิน หลักฐานการชำระเงินต้องเป็นใบเสร็จรับเงินเท่านั้น ไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม (คำพิพากษาฎีกาที่ 13390-13391/2558)

* ข้อตกลงที่กำหนดให้เสนอข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตต่ออนุญาโตตุลาการต่างประเทศ และนำกฎหมายต่างประเทศมาใช้บังคับ ไม่ทำให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้เปรียบหรือเสียเปรียบกัน ไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม (คำพิพากษาฎีกาที่3368/2552)

ข้อตกลงหรือสัญญาที่มีการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ามีลักษณะเป็นมัดจำ ที่ถูกริบได้ ศาลมีมีอำนาจลดลงได้ เช่น

* เงินที่ผู้ซื้อจ่ายให้ผู้ขายในวันทำสัญญาจะซื้อจะขาย เป็นพยาน หลักฐานว่ามีการทำสัญญาจะซื้อจะขายกันแล้ว และเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา เงินจำนวนนี้เป็นมัดจำ หากมีกรณีต้องริบมัดจำ ถ้าศาลเห็นว่าสูงเกินไปศาลมีอำนาจปรับลดได้เท่าความเสียหาย (คำพิพากษาฎีกาที่8942/2554 และคำพิพากษาฎีกาที่10115/2556)

 คดีที่ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

คดีนี้มีข้อเท็จจริงโดยสรุปคือ นางสาว ป. สมัครเข้าเรียนในคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัย ค. ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาเอกชน เมื่อขึ้นเรียนจบชั้นปีที่สอง มหาวิทยาลัยมีประกาศให้นักศึกษาในคณะนี้ต้องทำสัญญา ซึ่งเป็นสัญญาสำเร็จรูปกับมหาวิทยาลัยว่า เมื่อจบการศึกษาแล้วจะทำงานในโรงพยาบาลที่มหาวิทยาลัยกำหนด โดยต้องมีผู้ค้ำประกันด้วย 

นางสาว ป. เกรงว่าหากไม่ยินยอมทำสัญญา อาจมีผลต่อการสำเร็จการศึกษา จึงยอมทำสัญญา โดยให้ ก. เป็นผู้ค้ำประกัน แต่เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว นางสาว ป. ไม่ได้ทำงานที่โรงพยาบาลที่มหาวิทยาลัยกำหนด

มหาวิทยาลัยฟ้อง นางสาว ป. และ ก. ผู้ค้ำประกัน เรียกค่าเสียหายเป็นเงินสี่แสนบาท 

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า นางสาว ป. จำเลยเรียนจบชั้น ปีที่สองแล้ว ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายในการเรียนไปมากแล้ว มหาวิทยาลัย ค. โจทก์ เพิ่งมีประกาศให้ทำข้อตกลงที่เป็นการจำกัดสิทธิในการประกอบอาชีพ ที่ต้องทำงานในโรงพยาบาลของโจทก์หรือโรงพยาบาลอื่น แม้เพียงหนึ่งปีโดยมีค่าตอบแทนให้ แต่ก็ทำให้นางสาว ป. ไม่มีทางเลือก 

การทำสัญญาดังกล่าวเป็นเรื่องที่นางสาว ป. ไม่เคยคาดหมายมาก่อน เพราะหากทราบมาก่อนก็อาจไม่เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัย ค. ที่ทำให้ถูกจำกัดสิทธิในการเลือกที่ทำงาน การบังคับตามสัญญาดังกล่าว ทำให้นางสาว ป ไม่ได้รับความเป็นธรรม ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยให้สัญญาดังกล่าวไม่มีผลใช้บังคับ (คำพิพากษาฎีกาที่15162/2556)