ไทยต้องจับตามะกันดึงอีก 3 ชาติ สร้างแนวร่วม ‘อินโด-แปซิฟิก’

ไทยต้องจับตามะกันดึงอีก 3 ชาติ สร้างแนวร่วม ‘อินโด-แปซิฟิก’

จำคำย่อ Quad ไว้นะครับ อีกหน่อยอาจจะมีความสำคัญสำหรับยุทธศาสตร์ทางความมั่นคงสำหรับภูมิภาคนี้ ซึ่งหมายถึงประเทศไทยด้วยอย่างแน่นอน

Quad ย่อมาจาก Quadrilateral Security Dialogue อันหมายถึงการจับมือของ 4 ประเทศใหญ่ในย่านนี้คือ สหรัฐ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และ อินเดีย

ไทยต้องจับตามะกันดึงอีก 3 ชาติ สร้างแนวร่วม ‘อินโด-แปซิฟิก’

เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนชื่อเรียกจาก Asia-Pacific เป็น Indo-Pacific ที่เราเพิ่งได้ยินชัด ๆ จากปากของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตอนมาเยือนเอเชีย 5 ประเทศเมื่อเร็ว ๆ นี้

คำว่า Indo ย่อมหมายถึง อินเดีย ที่อเมริกาและญี่ปุ่นได้พยายามชักชวนมาร่วมเครือข่ายใหม่ ที่บวกเอามหาสมุทรอินเดีย เข้ากับมหาสมุทรแปซิฟิก

พอดึงเอาออสเตรเลียเข้ามาด้วยก็กลายเป็น สี่สิงห์แดนเสือ มีกองทัพเรือที่มีแสนยานุภาพพอที่จะ ถ่วงดุล กับจีนได้ตั้งแต่แถบมหาสมุทรอินเดีย ตลอดมาถึง ทะเลจีนใต้ และ มหาสมุทรแปซิฟิก ทั้งหมด

ความจริง แนวคิดที่จะสร้างแนวร่วมทางทะเลในเอเชียนี้เริ่มมาจากข้อเสนอของนายกฯชินโซะ อาเบะ ของญี่ปุ่นเมื่อปี 2007

แต่ทันทีที่ญี่ปุ่นเสนอความคิดนี้ จีนก็คัดค้านทันที บรรยากาศขณะนั้นไม่เอื้อต่อการที่ญี่ปุ่นจะผลักดันเรื่องนี้ต่อ ความคิดเรื่อง สี่สหายในเอเชียก็เงียบหายไปพักใหญ่

แต่แนวคิดนี้กลับฟื้นคืนมา เมื่อทรัมป์ไปร่วมประชุมกับประเทศเอเชียตะวันออก และเมื่อสี่ประเทศนี้จับมือกันเพื่อประกาศว่าจะสร้าง Quad ขึ้นมา จีนก็ไม่อาจจะต้านได้ มีแต่จะเฝ้ามองด้วยความระแวดระวัง

คำแถลงของทั้งสี่ประเทศหลังจากประชุมกันแล้วบอกว่า การรวมกลุ่มกันครั้งนี้ ต้องการจะทำให้ภูมิภาคนี้เป็นเขต เปิดและเสรี อีกทั้งยังจะ เคารพกฎหมายระหว่างประเทศ และมี ระเบียบบนพื้นฐานของกฎกติกา

ไม่ต้องตีความให้ยากก็คงเข้าใจได้ว่า ถ้อยคำนี้เป็นการพาดพิงไปถึงจีน ที่ถูกมองว่าได้พยายามจะทำให้ทะเลจีนใต้เป็นของตนเองโดยไม่สนใจว่ากติกาสากลว่าอย่างไร

เมื่อทรัมป์ขึ้นมาใหม่ ๆ เขาประกาศยกเลิกนโยบาย “Pivot to Asia” หรือปักหมุดเอเชีย หรือเรียกแนวทางนี้เป็นภาษาทางการว่า “Rebalancing in Asia.”

อีกทั้งยังประกาศฉีกแผน Trans-Pacific Partnership (TPP) ที่เน้นไปในการผลักดันเขตการค้าเสรีในหมู่ประเทศเอเชียและแปซิฟิก

แต่วันนี้ทรัมป์กำลังจะกลับมาใช้แนวทางที่ไม่ต่างกันมาก เพียงแต่เพิ่มบทบาทอินเดียมาร่วมกันรับผิดชอบการสร้างดุลยภาพเพื่อคานอิทธิพลของจีน

มีคนเรียกแนวทางของทรัมป์เรื่องนี้เป็น “Hard-balancing” หรือเป็น การถ่วงดุลจีนแบบกระด้าง คือทำอะไรที่โฉ่งฉ่างให้รู้ดำรู้แดงกันไปเลย

บางคนบอกว่า Quad อาจจะเป็นแนวทางเดียวกับการสร้าง North Atlantic Treaty Organization (NATO) ที่ประเทศอเมริกา กับยุโรปตะวันตกสร้างขึ้นเป็นพันธมิตรทางทหาร เพื่อยันสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามเย็น

ไทยเราจะวางตัวอย่างไรในภาวะของ ระเบียบโลกใหม่ ที่อเมริกา และจีนต่างก็ปรับบทบาทของตัวเอง เพื่อสร้างอำนาจต่อรองมากขึ้นด้วยรูปแบบและยุทธศาสตร์ที่ผิดแผกแตกต่างไปจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง

นี่คืออีกหนึ่งบทท้าทายสำหรับรัฐบาลไทยที่ยังอาจจะไม่ได้ระดมความคิดของคนวงการต่าง ๆ ในประเทศเพื่อการร่างนโยบายไทยภายใต้ “ระเบียบโลกใหม่ที่ไร้ระเบียบ”

ที่เราเริ่มจะได้รู้จักในนามของ The world’s new (dis) order!