คณะกรรมการบริษัทควรทำหน้าที่อย่างไร

คณะกรรมการบริษัทควรทำหน้าที่อย่างไร

เดือนนี้เป็นเดือนสุดท้ายของปี งานของสถาบันกรรมการบริษัทไทยที่รับผิดชอบอยู่ก็กำลังจะจบไปอีกปี และเป็นอีกปีที่งานของสถาบันผ่านไปด้วยดี

มีอะไรให้ทำมาก เพื่อยกระดับการกำกับดูแลกิจการในภาคเอกชนของประเทศให้สูงขึ้น 

ต้องยอมรับว่าช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ประเด็นและแนวคิดด้านการกำกับดูแลกิจการหรือธรรมาภิบาลได้เปลี่ยนแปลงไปมาก กระทบถึงการทำงานของคณะกรรมการบริษัท เมื่อเดือนก่อน ผมได้มีโอกาสพูดเรื่องนี้ คือ แนวโน้มการกำกับดูแลกิจการในระดับสากล และในประเทศไทยให้หลายหน่วยงานฟัง วันนี้ก็เลยอยากจะนำสาระและประเด็นที่ได้พูดไปมาแชร์ให้ผู้อ่าน เศรษฐศาสตร์บัณฑิตทราบ 

ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่การกำกับดูแลกิจการหรือธรรมาภิบาล มีการพัฒนาที่เร็วมากทั่วโลก เป็นการพัฒนาที่มีนัยสำคัญต่อการทำงานของคณะกรรมการบริษัท และต่อบทบาทของภาคธุรกิจในสังคม 

ประเด็นแรกที่เปลี่ยนแปลงคือ จุดเน้นหรือโฟกัสของการกำกับดูแลกิจการ ที่ได้เปลี่ยนจากผู้ถือหุ้นมาเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คือ จากความสำคัญที่การกำกับดูแลกิจการเคยให้กับการรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น มาเป็นการให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือ stakeholders ซึ่งต้องบอกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านแนวคิดที่สำคัญ 

เหตุผลของการเปลี่ยนแปลงนี้ส่วนหนึ่งมาจากผลของวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เกิดในปี 2008 ที่ได้สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจมาก 

กลุ่มบุคคลที่เสียหายหรือได้รับผลกระทบมาก ก็คือ นักลงทุน ผู้ถือหุ้นรายย่อย พนักงาน และเจ้าหนี้ ที่ได้รับความเสียหายจากมูลค่าของบริษัทที่ลดลง และจากการลงทุนที่เสียหาย เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในวงกว้าง ทำให้มีประเด็นว่าการทำธุรกิจของบริษัท ควรต้องตระหนักถึงผลกระทบที่จะมีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ด้วย นอกจากผู้ถือหุ้น ซึ่งหมายถึงบริบทของการกำกับดูแลกิจการที่ คณะกรรมการบริษัทผู้รับผิดชอบจะต้องมองกว้าง ไม่ใช่เฉพาะผู้ถือหุ้น แต่ต้องมองถึงผลกระทบที่จะมีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ

ประเด็นที่ 2 ที่เปลี่ยนแปลงก็คือ บทบาทของคณะกรรมการบริษัทในการทำหน้าที่กำกับดูแล ที่ตอบสนองกับการเปลี่ยนโฟกัสของการกำกับดูแลกิจการดังกล่าว คือ บทบาทของคณะกรรมการ แทนที่จะเน้นสร้างกำไรระยะสั้นให้กับผู้ถือหุ้นอย่างที่เคยทำมา บทบาทต้องเปลี่ยนไปสู่ การสร้างมูลค่าระยะยาวให้กับบริษัทเพื่อให้บริษัทสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องในระยะยาว เป็นแนวคิดของการทำหน้าที่ของบอร์ด ที่ให้ความสำคัญกับภาพระยะยาวของธุรกิจ ควบคู่ไปกับการกำกับดูแลผลประกอบการปีต่อปีของบริษัท 

สิ่งที่ คณะกรรมการจะช่วยธุรกิจของบริษัทได้มากคือ กำกับดูแลให้บริษัทสามารถก้าวข้ามความท้าทายต่างๆ ที่ธุรกิจประสบ เพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง เป็นการให้ความสำคัญมากขึ้นกับอนาคตระยะยาวของธุรกิจ

ประเด็นที่ 3 ก็คือ ความสำคัญของความยั่งยืนของธุรกิจ ที่นับวันจะมีความสำคัญมากขึ้นๆ ในระบบธุรกิจโลก 

ประเด็นคือ ธุรกิจไม่ได้อยู่เพื่อทำกำไรระยะสั้นแบบปีต่อปี แล้วล้มหายตายจากไป แต่ธุรกิจควรจะอยู่ได้ไปเรื่อยๆ เป็นร้อยๆ ปี จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ในเรื่องนี้ เป็นที่ยอมรับว่า ธุรกิจจะเติบโตได้อย่างยั่งยืนก็ต่อเมื่อ ธุรกิจได้รับความไว้วางใจหรือ Trust จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคือ ถ้าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียชอบ สนับสนุนและให้ความไว้วางใจในธุรกิจของบริษัท เห็นด้วยกับสิ่งที่บริษัททำ ธุรกิจก็มีโอกาสสูงที่จะเติบโตไปได้เรื่อยๆ คือ มีความยั่งยืน 

ดังนั้นการยอมรับจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจึงสำคัญต่อความยั่งยืนของธุรกิจของบริษัท และการยอมรับจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อการทำธุรกิจตั้งอยู่บนพื้นฐานของ การกำกับดูแลกิจการที่ดี จนเป็นที่ไว้วางใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน

จากที่กล่าวมาจะเห็นว่า แนวคิดและการคาดหวังเกี่ยวกับการทำธุรกิจในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปมาก ไม่ได้มุ่งอยู่ที่กำไรระยะสั้น แต่มุ่งไปที่ความยั่งยืนของธุรกิจ ทำให้การทำหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทก็ต้องเปลี่ยนคือ เปลี่ยนจากเป้าหมายการทำกำไรระยะสั้น ไปสู่การสร้างมูลค่าให้บริษัทสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องในระยะยาว ซึ่งหมายถึงการทำธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการก้าวข้ามปัจจัยและความเสี่ยงต่างๆ ที่เข้ามากระทบธุรกิจ และดูแลประโยชน์และผลกระทบที่จะมีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อรักษาไว้ซึ่งความไว้วางใจที่จะนำไปสู่การเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน

ในบริบทนี้ สิ่งที่ต้องตระหนักก็คือ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ใช่การคาดหวัง แต่เป็นแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้น และถูกขับเคลื่อนโดยทั้งนักลงทุน หน่วยงานกำกับดูแล และตัวบริษัทธุรกิจเอง เป็นกระแสสากลที่ไปที่ไหนก็เจอ ไปที่ไหนก็มีแต่คนพูดในลักษณะนี้ เป็นสิ่งที่ทุกคนอยากเห็นและคาดหวังให้การกำกับดูแลกิจการที่ดีเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในภาคเอกชน เพื่อนำไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืนของภาคเอกชน 

การคาดหวังดังกล่าวทำให้บทบาทของคณะกรรมการบริษัทจำเป็นต้องเปลี่ยนจากในอดีต ที่บทบาทของคณะกรรมการบริษัทอาจมีน้อยและ/หรือเน้นเฉพาะการกำกับดูแล สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือ ดูแลให้การทำธุรกิจของบริษัทสอดคล้องกับกฎระเบียบ (compliance) ต่างๆ เปลี่ยนมาเป็น บทบาทของคณะกรรมการในเชิงผู้นำ ที่จะใช้ความรู้ความสามารถแนะนำฝ่ายจัดการให้สามารถนำพาบริษัทก้าวข้ามความท้าทายต่างๆ ไปได้ อย่างประสบความสำเร็จ นำไปสู่การเติบโตของบริษัทที่ต่อเนื่องและยั่งยืน 

ในบทบาทของคณะกรรมการบริษัทแบบผู้นำนี้ หมายถึงการทำงานของบอร์ดต้องเน้นการมองไปข้างหน้า ทั้งในเรื่อง 1) ยุทธศาสตร์ธุรกิจที่บอร์ดควรต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับธุรกิจโดยใช้ความรู้ความสามารถที่บอร์ดมี 

2) เรื่องการบริหารความเสี่ยง เพื่อสร้างความมั่นใจว่าบริษัทให้ความสำคัญและมีระบบที่จะติดตาม ประเมิน และบริหารความเสี่ยงที่อาจกระทบธุรกิจของบริษัท  3) การเตรียมบุคลากรระดับสูง เพื่อสืบทอดตำแหน่ง เพื่อเตรียมคนเพื่อการเติบโตในระยะยาวของบริษัท 

และ 4) ระบบแรงจูงใจ ซึ่งก็คือ วิธีการจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้บริหาร เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทมีระบบการให้ผลตอบแทนที่จะรักษาทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถของบริษัท และให้ความสำคัญต่อภาพระยะยาวของธุรกิจมากกว่าการทำกำไรระยะสั้นที่อาจสะสมความเสี่ยงระยะยาวให้กับบริษัท

ทั้ง 4 เรื่องนี้คือ งานของคณะกรรมการยุคใหม่ที่ต้องเป็นผู้นำให้กับบริษัท ทำให้จำเป็นที่คณะกรรมการบริษัทต้องมีทักษะและความรู้ความสามารถที่เพียงพอ และหลากหลายที่จะนำพาบริษัทไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน หมายถึง บริษัทต้องมีกรรมการที่มีความรู้ความสามารถที่จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของบริษัท ไม่ใช่แต่งตั้งคนเป็นกรรมการเพราะเป็นคนใกล้ชิด แต่เพราะมีความรู้ความสามารถที่จะช่วยคณะกรรมการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ของบริษัทได้อย่างถูกต้อง และมีเหตุมีผลตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี

พร้อมกับการทำหน้าที่ที่ให้ความสำคัญเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมที่จะนำพาองค์กรให้มีวัฒนธรรมองค์กรด้านจริยธรรมที่เข้มแข็ง สิ่งเหล่านี้ คือ บริบทของการทำหน้าที่ของคณะกรรมการสมัยใหม่ที่เป็นที่คาดหวัง ที่จะนำไปสู่การเติบโตของบริษัทที่ต่อเนื่องและยั่งยืน

นี่คือ แนวโน้มด้านการกำกับดูแลกิจการที่กำลังเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่บริษัทเอกชนไทยต้องตระหนักและต้องพยายามทำให้เกิดขึ้นเช่นกัน