บูเช็คเทียน ถึง หยางกุ้ยเฟย (1) ***

บูเช็คเทียน ถึง หยางกุ้ยเฟย (1) ***

บูเช็คเทียน เป็นคำอ่านภาษาจีนแต้จิ๋วของ 武则天 ส่วนหยางกุ้ยเฟย เป็นคำอ่านภาษาจีนกลางของชื่อ 杨贵妃

ชื่อทั้งสองรู้จักกันในเมืองไทยผ่านการแสดงในรูปแบบต่าง ๆ แล้วแต่ว่าภาษาใดจะมีอิทธิพลมากกว่ากัน 

แต่เรื่องราวที่แสดงก็หนีไม่พ้นการแต่งเติมไปจากประวัติศาสตร์ที่ควรจะเป็น

บทความนี้จะบรรยายตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และแสดงให้เห็นถึงว่าบุคคลทั้งสองนำไปสู่ความเสื่อมถอยของราชวงศ์ถังในภาพรวมอย่างไรหรือไม่ 

บูเช็คเทียนเป็นธิดาของนักรบในราชวงศ์ถัง เกิดในมณฑลซานซีในรัชสมัยถังเกาจู่ (พระจักรพรรดิผู้สถาปนาราชวงศ์ถัง) เติบโตในมณฑลเสฉวน เนื่องจากเกิดในตระกูลผู้มีอำนาจจึงปรารถนาอำนาจอย่างไม่จำกัด แต่ด้วยเป็นตระกูลสามัญชนจึงมักได้รับการดูถูก แต่ก็ไม่ยอมแพ้ 

บูเช็คเทียน ถึง หยางกุ้ยเฟย (1) ***

บูเช็คเทียนฉลาดหลักแหลมตั้งแต่เด็ก ชอบแสดงออก บิดาจึงให้การศึกษาให้รู้จักหนังสือและเข้าใจตรรกะกับประวัติศาสตร์แห่งโลก อีกทั้งเชี่ยวชาญในโครงกลอนกาพย์ฉันท์ 

เมื่ออายุ 14 ปี ถูกถวายตัวเป็นสนมระดับ 5 ในพระราชวังสมัยของถังไท่จง พระจักรพรรดิองค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์ถัง เนื่องจากทำงานเก่ง เข้าใจความต้องการและท่วงท่างดงาม ถังไท่จงจึงพระราชทานสมญาว่า 媚娘 (อ่านว่าเหมยเนียง แปลงว่านางผู้มีเสน่ห์) 

เมื่อเวลาผ่านไป ถังไท่จงเห็นว่า บูเช็คเทียนมีความรู้ดีจึงมอบหมายให้จัดฉลองพระองค์และตระเตรียมหนังสือและเครื่องเขียน ซึ่งเป็นโอกาสที่ทำให้บูเช็คเทียนเรียนรู้เอกสารราชการ และเรื่องราวของบ้านเมือง ตลอดจนเข้าใจการเมืองและอำนาจในพระราชวัง เมื่อถังไท่จงเสด็จสวรรคต บูเช็คเทียนพร้อมนางสนมทั้งหลายโกนผมบวชชีที่กั่นเอี้ยซื่อของเมืองฉางอาน 

ถังเกาจง พระโอรสองค์ที่ 9 เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อมา แต่ด้วยพระองค์มีใจผูกพันกับบูเช็คเทียนมาก่อนแล้ว จึงทรงโปรดให้บูเช็คเทียนกลับเข้าพระราชวังอีกครั้งหนึ่งภายหลังจากที่บวชอยู่ และไปมาหาสู่ที่วัดประมาณ 4 ปี คราวนี้ได้รับตำแหน่งเป็นสนมระดับ 2 และต้องต่อสู้อย่างรุนแรงกับพระมเหสี และสนมระดับ 1 อย่างรุนแรง 

แต่ด้วยถังเกาจงทรงโปรดบูเช็คเทียนเป็นอย่างมาก บูเช็คเทียนจึงได้ทูลให้ทรงแต่งตั้งตนเป็นพระมเหสีแทน แม้ความเห็นของข้าราชการขั้นผู้ใหญ่จะแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย แต่บูเช็คเทียนก็ประสบความสำเร็จ ด้วยความรอบรู้ปราดเปรื่องในเหตุการณ์บ้านเมืองและการใช้อำนาจ บูเจ็กเทียนจึงพัฒนาศักยภาพไปได้ไกล ทำให้ถังเกาจงทรงโปรดมากยิ่งขึ้น และนางก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับราชการบ้านเมืองมากยิ่งขึ้น บ่อยครั้งถึงกับตัดสินใจก่อนแล้วจึงกราบทูลภายหลัง 

หลังจากนั้น 5 ปี บูเช็คเทียนทำการกำจัดศัตรูทางการเมืองทั้งหลายจนหมดสิ้น เมื่อถังเกาจงทรงประชวร บูเช็คเทียนจึงจัดการราชการบ้านเมืองทุกอย่าง จนกระทั่งถังเกาจงเริ่มคิดจะปลดบูเช็คเทียน แต่ก็ถูกจับได้เสียก่อน 

บูเช็คเทียนจัดการราชการมีหลักมีเกณฑ์และเด็ดขาด ไม่เหมือนกับถังเกาจงที่ทรงลังเลตลอดเวลา ข้าราชการทั้งหลายจึงยอมรับในความสามารถ แม้ถังเกาจงจะไม่ชอบ แต่เรื่องใหญ่ๆ ก็ต้องพึ่งบูเจ๊กเท่ียนอยู่ดี 

รัชสมัยของถังเกาจง 34 ปี อาจจะมองได้ว่าเป็นการสืบสานระบบการเมือง การปกครองและเศรษฐกิจพร้อมๆ กับจะเน้นย้ำการดูแลทุกข์สุขของประชาชนต่อเนื่องจากถังไท่จงซึ่งสร้างผลงานไว้อย่างยิ่งใหญ่ 

อย่างไรก็ตามการสืบสานดังกล่าวก็เป็นไปโดยไม่มีขาดตกบกพร่องแต่อย่างใด 

เมื่อถังเกาจงเสด็จสวรรคต ถังจงจง พระราชโอรสองค์ที่ 7 ของถังเกาจง (แต่เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 3 ของบูเช็คเทียน) ขึ้นครองราชย์สืบต่อมา และยกย่องบูเช็คเทียนเป็นพระบรมราชชนนี 

ถังจงจงทรงพระปรีชาน้อยกว่าถังเกาจงไปอีก ด้วยเหตุที่อำนาจว่าราชการทั้งหมดยังคงอยู่ภายใต้บูเช็คเทียน ถังจงจงจึงพยายามใช้พระญาติของพระมเหสี ถึงขั้นที่จะแต่งตั้งให้บิดาของพระมเหสีเป็นสมุหนายก บูเช็คเทียนทรงสดับด้วยความพิโรธยิ่งและสั่งให้ปลดถังจงจงภายหลังจากทรงเสวยราชย์ได้เพียง 36 วัน 

ในเดือนเดียวกัน ทรงแต่งตั้งให้พระราชโอรสองค์ที่ 8 ของถังเกาจง (แต่เป็นพระราชโอรสองค์สุดท้ายของบูเช็คเทียน) ขึ้นเสวยราชสมบัติแทน ทรงพระนามว่า ถังรุ่ยจง แต่ถังรุ่ยจงถูกกักกันให้อยู่แต่ในพระราชวังชั้นในโดยไม่ให้ยุ่งกับราชการเลย การทหารและกิจการแผ่นดินสำคัญๆ มีบูเช็คเทียนเป็นผู้จัดการทั้งหมด ซึ่งทำให้พระองค์เปรียบเสมือนหุ่นเชิด 

หลังจากนั้น 6 ปี หรือ ค.ศ.​690 บูเช็คเทียนสั่งปลดถังรุ่ยจง แล้วสถาปนาตนเองเป็นพระจักรพรรดินี และเปลี่ยนชื่อราชวงศ์เป็นโจว ถังรุ่ยจงถูกลดตำแหน่งเป็นทายาท 

ต่อมาถังจงจงถูกลดตำแหน่งเป็นเพียงเจ้าเมือง ใช้ชื่อสามัญเดิมว่า หลีเสี่ยน และถูกเนรเทศออกจากเมืองหลวงฉางอานไปยังเมืองจวินโจว (มณฑลหูเป่ยปัจจุบัน) และอยู่ที่นั่นเป็นเวลาถึง 14 ปี โดยมีภรรยาชื่อ อุ้ยซื่อ เคียงข้างเท่านั้น 

ทั้งสองดำรงชีวิตอยู่ด้วยความลำบากถึงที่สุดเหนือคำบรรยายใดๆ ยามใดที่มีข้าราชการถูกส่งมาจากเมืองหลวง หลีเสี่ยนก็ตกใจถึงกับจะปลิดชีวิตตนเอง ด้วยเกรงว่าจะมีพระบรมราชโองการให้ประหารชีวิต มีเพียงอุ้ยซื่อที่ปลอบใจทุกครั้งว่า ข้าราชการมาไม่ได้หมายถึงจะทรงโปรดให้ตายเสมอไป ทั้งสองจึงเป็นคู่ทุกข์คู่ยากที่ซาบซึ้งในความอาวรณ์ที่มีต่อกันและกัน 

หลีเสี่ยนถึงกับเคยเอ่ยว่า ถ้าหากมีสักวันหนึ่งที่ได้กลับคืนสู่ตำแหน่งจักรพรรดิ ก็จะตอบสนองต่อความต้องการใดๆ ของอุ้ยซื่ออย่างแน่นอน” 

ปี ค.ศ. 699 ถังจงจง หรือหลี่เสี่ยน ได้รับพระราชบัญชาจากบูเช็คเทียนให้กลับคืนสู่เมืองหลวง และได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัชทายาทโดยปลด ถังรุ่ยจงจากทายาทให้เป็นเพียงเจ้าเมือง เหตุการณ์นี้ว่ากันว่าเป็นไปตามคำเพ็ดทูลของ ตี๋เหรินเจี๋ย สมุหนายกสมัยพระจักรพรรดินีบูเช็คเทียน (ซึ่งรู้จักกันดีในเมืองไทย) 

ในคราวนี้ ถังจงจง พยายามสร้างความสัมพันธ์กับพระญาติของบูเช็คเทียน โดยให้เจ้าหญิงหย่งไท่ อภิเษกกับหลานชายของบูเช็คเทียนที่ชื่อ อู่เอี้ยนจี เจ้าหญิงอันเล่อองค์เล็กก็อภิเษกกับหลานชายอีกคนที่ชื่อ อู่ฉงซวิ่น 

2 ปีต่อมา หลี่เฉิงสวุ่น พระโอรสของถังจงจง กับคู่ของเจ้าหญิงหย่งไท่แสดงความไม่พอใจต่อ จางอี้จือ กับ จางชางจุง สองพี่น้องผู้ที่เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของบูเช็คเทียน พี่น้องทั้งสองจึงเพ็ดทูลใส่ร้ายจนบูเจ็กเทียนมีพระบัญชาให้หลีเฉิงสวุ่นกับเจ้าหญิงหย่งไท่ปลิดชีพตัวเอง และกลายเป็นภัยคุกคามต่อถังจงจงในเวลาต่อมา 

ในปี ค.ศ. 705 บูเช็คเทียนที่พระชนมายุ 82 พรรษาทรงประชวรหนัก จางเจี้ยนจือ สมุหนายกนำกำลังทหารรักษาพระองค์ 500 คนบุกเข้าในพระราชวัง และบังคับให้บูเจ็กเทียนส่งต่อตำแหน่งให้ถังจงจง ดำรงตำแหน่งพระจักรพรรดอีกครั้งและเปลี่ยนชื่อราชวงศ์เป็น “ถัง” ตามเดิม 

ถังจงจงแต่งตั้งอุ้ยซื่อเป็นพระมเหสีทันที ทั้่งยังแต่งตั้งบิดาของอุ้ยซื่อเป็นสมุหนายกโดยไม่ฟังเสียงคัดค้าน และไม่ใช้จางเจี้ยนจือ สมุหนายกคนก่อนอีกต่อไป

///

*** ชื่อเต็มเรื่อง:

บูเช็คเทียน ถึง หยางกุ้ยเฟย (1)

ศูนย์กลางแห่งความเสื่อมถอยของราชวงศ์ถัง?