ถอดความคิดดนตรีสร้างสุข จากคนฆ้องรุ่นใหม่ “กมลา ศิริวัฒน์”

ถอดความคิดดนตรีสร้างสุข จากคนฆ้องรุ่นใหม่ “กมลา ศิริวัฒน์”

สัปดาห์นี้ขอเล่าถึง สาวน้อยเยาวชนดนตรีตัวเล็กๆ  ซึ่งสามารถใช้ความมุ่งมั่น และความขยัน พาตนเองไปสู่ก้าวสำคัญของชีวิต

คือได้รางวัลเหรียญทองชนะเลิศ SET เยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2559   ซึ่งจัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ผู้เขียนได้เจอน้องปิ่น “กมลา ศิริวัฒน์”  ชาวสุพรรณบุรี นักศึกษาเอกดนตรี  คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในบทบาทของโค้ช  ถ่ายทอดเทคนิคการตีฆ้องวง ให้กับรุ่นน้องที่เข้าประกวด  ประทับใจในมุมมองความคิด และการมีเป้าหมายที่ชัดเจน ที่ทำให้เธอหมั่นเรียนรู้และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข 

น้องปิ่นเล่าถึงความสำคัญของเครื่องดนตรีฆ้อง ที่ตนเองเลือกเรียน หลงใหล และตั้งใจที่เอาดีในเครื่องดนตรีนี้ว่า  เพราะในฆ้องมีอะไรอีกมากมายที่น่าค้นหา ในหนึ่งลูกมันไม่ได้ออกมาแค่การตี แต่มันมีเทคนิคที่เราไม่รู้อีกเยอะ แต่ละครั้งที่ขึ้นแสดงเราจะต้องซ้อมและตีความออกมาให้ได้ ขณะที่สิ่งที่ได้รับจากเรียนฆ้องวงนั้นสุดยอดมากๆ คือ  ได้ซึมซับเรื่องความรับผิดชอบ

“เพราะ ฆ้องวงเป็นหัวใจของดนตรีไทย เป็นเป็นเครื่องดนตรีสำคัญที่ควบคุมทำนองของวง  ทำให้ต้องขยันซ้อม คนฆ้องจะต้องจำเพลงให้ได้  จะต้องดูแลจังหวะ ดูแลวง ตีให้ถูก เวลาแสดง ระนาดเอก ระนาดทุ้ม  แต่ละรอบอาจจะตีไม่เหมือนกันก็ได้  แต่ฆ้องจะต้องตีให้ถูกเหมือนกันทุกรอบ  ดังนั้นทุกครั้งที่จะแสดง  จึงจะต้องซ้อมเยอะ เพราะถ้าฆ้องเล่นไม่แข็ง  เร่งไป ดนตรีอื่นก็จะไปไม่ถูก”

น้องปิ่นยังเล่าถึงการ เข้าไปช่วยให้คำแนะนำรุ่นน้องว่า จะสอนน้องในเรื่องการแบ่งเวลาในการฝึกซ้อม ซึ่งสิ่งที่จะย้ำ นอกจากความขยันฝึกซ้อม  ยังย้ำให้เล่นดนตรีอย่างมีความสุข  สนุก เพราะการเล่นดนตรีมันคือความบันเทิง ตอนเล่นจึงไม่ควรเครียด  ก่อนแสดงจะต้องรู้ตนเสมอว่าเรามาเล่นอะไร เมื่อขึ้นเวทีก็ต้องเล่นให้สนุก ยิ้มแย้ม พาคนดูไป เข้าถึงอารมณ์เพลงให้ได้”

ถามว่าการประกวดแข่งขันต่างๆได้ให้อะไรบ้าง น้องปิ่นได้สะท้อนมุมมองความคิดที่ยอดเยี่ยมมากๆว่า “เหนือกว่าการได้รางวัล คือความมั่นใจที่มากขึ้น ที่สำคัญทำให้ได้บทเรียนสำคัญ ที่มีความหมายมากๆ  นั่นคือ  ทำให้ได้รู้ว่า ทำอย่างไรเราจึงจะประสบความสำเร็จ คือเราไม่ใช่คนเก่ง  แต่เราขยันฝึกซ้อม  ซึ่งในเส้นทางความสำเร็จของการเป็นนักดนตรี  ความขยันฝึกซ้อมจะมีความสำคัญมาก     เพราะการซ้อม การไตร่ตรอง การคิด การทำซ้ำไปเรื่อย ๆ จะทำให้ข้อผิดพลาดน้อยลง  หนูไม่ได้เก่งหรือเด่นเลย แต่เราได้รางวัลเพราะเราซ้อม เราเชื่อฟังครู  เรามีครูดี เราเชื่อในสิ่งที่ครูพูด  ครูบอกว่าต้องซ้อมนะ ต้องขยันนะมันจริงทุกอย่าง  แม้ตอนแรกจะรู้สึกว่า ทำไมต้องทำอะไรเยอะขนาดนี้  หนูก็ใช้บทเรียนนี้สอนน้องและใช้ในชีวิต มันเห็นชัดมาก ถ้าเราขยันซ้อม  ถึงไม่เก่ง ไม่เด่น เราจะทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น  แต่หากหากเก่ง แล้วไม่ซ้อม มันก็ไม่ได้อะไร”

ถามว่าเป้าหมายในชีวิตคืออะไร น้องตอบอย่างมั่นใจว่า อยากจะเป็นครูดนตรีไทย   โดยมองว่าดนตรีไทยนั้นไม่มีวันตาย และไม่มีทางเลือนหาย “ ในชีวิตประจำวันเราจะเห็นว่าดนตรีไทยเข้าไปอยู่ในชีวิตผู้คนในสังคม แม้ตอนเกิดอาจจะไม่ได้ใช้นัก  แต่ โตมาจะบวชก็ต้องใช้ดนตรีไทย จะแต่งงาน หรือเมื่อเสียชีวิตก็ต้องใช้ดนตรีไทยเข้าไปใช้ในพิธี   ในประเพณีสำคัญๆ ก็ยังต้องใช้ ดนตรีไทย ยังมีการตีกลองยาว มีการละเล่น ดนตรีไทยยังติดอยู่ในวัฒนธรรมไทยหนูก็จะพยายาม พัฒนาตน ทำให้คนตรีไทยฟังง่ายขึ้น ไม่น่าเบื่อ  โชคดีที่ได้เรียนดนตรีในมหาวิทยาลัย ทำให้มีโอกาสได้เจอครูดีๆ มีเครื่องมือดีๆ  และยังมีใบเบิกทาง คือใบปริญญา เพื่อไปต่อในเส้นทางการสอน  เช่นเป็นครูดนตรีในโรงเรียน”

อยากให้ผู้อ่านได้เห็นแววตาและได้สัมผัสน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น และความสุข ของ น้องปิ่น ผลผลิตที่เยี่ยมยอดของโครงการ SET เยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย คนนี้จริงๆ