แนวโน้มเศรษฐกิจโลก ปี 2018 (1)

แนวโน้มเศรษฐกิจโลก ปี 2018 (1)

ก่อนจะนำเสนอการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2018 ผมต้องขอสารภาพว่า

การประเมินเศรษฐกิจโลก ของบริษัทหลักทรัพย์ภัทรฯ ร่วมกับ แบงก์ออฟอเมริกา สำหรับปี 2017 ที่กำลังจะหมดลงนั้น ผิดพลาดเกือบทั้งหมดในประเด็นสำคัญๆ กล่าวคือเมื่อต้นปีเราประเมินเศรษฐกิจโลกในปี 2017 ว่า

  1. จะมีประเด็นน่าเป็นห่วงและความไม่แน่นอนมากมายดังนั้น แนวโน้มเศรษฐกิจจึงไม่น่าจะดีมากนักแต่ปรากฏว่าเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างชัดเจนต่อเนื่องและกว้างขวาง แม้ว่าเราจะแนะนำให้เน้นการลงทุนในหุ้น แต่ก็มิได้คาดคิดว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นจะได้รับผลตอบแทนสูงถึง 20% ในปีนี้
  2. การมองโลกในแง่ร้ายเมื่อต้นปี 2017เป็นผลมาจากการตกใจที่คาดการณ์ Brexit ผิดพลาดอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ การตื่นตระหนกที่นายโดนัล ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ (และจะก่อสงครามทางการค้า) ตลอดจนความหวั่นใจว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะปรับดอกเบี้ยขึ้น และลดทอนงบดุลลง โดยการปล่อยให้พันธบัตรที่ถือเอาไว้ออกมาสู่ตลาดซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นทั้งดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาว

ผลปรากฏว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ยังพูดมากกว่าทำในเรื่องการกีดกันการค้า และแม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐปรับดอกเบี้ยขึ้นตามที่พูดทุกอย่าง แต่ตลาดหุ้น ก็ปรับตัวสูงขึ้นไปได้เรื่อยๆ แถมยังมีความผันผวนต่ำเป็นประวัติการณ์อีกด้วย

  1. สิ่งที่นักวิเคราะห์เกือบทุกคนรวมทั้งแบงก์ออฟอเมริกา คาดการณ์ในต้นปี 2017 คือเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นในปีนี้แต่ปรากฏว่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับเงินบางสกุลในเอเชีย เช่นเงินเกาหลี ไต้หวัน และ ไทย

แนวโน้มในปีหน้านั้น เสียงส่วนใหญ่รวมทั้งแบงก์ออฟอเมริกาเมอร์ริลลินซ์ จึงมองว่าน่าจะสดใสอย่างมากทั้งในเชิงของเศรษฐกิจ และการลงทุนในหุ้น (มนุษย์มักคาดการณ์อนาคตโดยอาศัยประสบการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในอดีต) ซึ่งผมจะไม่ขอกล่าวถึงในเชิงตัวเลข เพราะท่านผู้อ่านน่าจะหาได้ทั้งที่เป็นประเมินของแบงก์ออฟอเมริกา และของสำนักอื่นๆ ที่มีแนวคิดค่อนข้างใกล้เคียงกันมาก แต่ผมขอนำเสนอข้อสังเกตบางประการที่น่าสนใจดังนี้

  1. แบงก์ออฟอเมริกามองว่าปีนี้เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นได้เล็กน้อยในไตรมาสแรกของปีหน้า แต่จะอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วงกลาง และช่วงหลังของปี 2018 ทำให้คาดการณ์ว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเป็น 32 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ ในปลายปี 2018 และแข็งค่าขึ้นไปอีกเป็น 30 บาท ในปลายปี 2019
  2. แบงก์ออฟอเมริกา เชื่อมั่นว่าเงินเฟ้อสหรัฐจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2018 (แม้ว่าจะไม่มีท่าทีที่จะกระเตื้องขึ้นมากนักในปี 2017) ทั้งนี้เพราะตลาดแรงงานสหรัฐตึงตัวอย่างมาก

อัตราการว่างงานปัจจุบันที่ 4.1% นั้น ถือว่าต่ำกว่าปกติที่ประมาณ 5.0-5.5% อย่างมาก ดังนั้น แบงก์ออฟอเมริกาจึงเชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับดอกเบี้ยขึ้น 3 ครั้งในปี 2018 แตกต่างจากตลาดล่วงหน้า ซึ่งปัจจุบันประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเพียง 1 หรือ 2 ครั้งเท่านั้น

  1. พรรครีพับลิกัน อาจสามารถผ่านกฎหมายปฏิรูปภาษีได้ในปีหน้าแต่เป็นกฎหมายที่ไม่เข้มข้นในการปฏิรูปภาษี (reform-lite) เป็นเพียงการลดภาษีนิติบุคคลแต่อาจมีการเปิดโอกาสให้บริษัทสหรัฐที่เก็บรายได้เอาไว้ในต่างประเทศสามารถนำเอากำไรที่สะสมเอาไว้ในอดีตดังกล่าว กลับเข้ามาในประเทศโดยเสียภาษีอัตราต่ำเช่น 14% ทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าสหรัฐในระยะสั้น(ประมาณ 9 แสนล้านดอลลาร์) เพราะกำไรสะสมในต่างประเทศของบริษัทสหรัฐอาจมีมากถึง 2.5-3.0 ล้านล้านเหรียญ 

หากมีการนำกำไรกลับเข้าประเทศสหรัฐก็ย่อมจะทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างมากได้ในระยะสั้น

  1. การลดภาษีเป็นหลัก แต่มิได้มีการปฏิรูปภาษีอย่างจริงจังนั้น แบงก์ออฟอเมริกาเมอร์ริลลินซ์ มองว่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นจากการขาดดุลงบประมาณ (ซึ่งอาจทำให้หุ้นราคาขึ้นในระยะสั้นเช่นกัน)

 แต่ในระยะยาวจะไม่เป็นผลดี เพราะเศรษฐกิจสหรัฐโตเต็มที่ คือ ประมาณ 3% ติดต่อกันในไตรมาส 2 และ 3 (และอย่าลืมว่าตลาดแรงงานก็ตึงตัวมากแล้วที่อัตราการว่างงานที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ 4.1%) ดังนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากการขาดดุลงบประมาณก็จะมีแต่ ทำให้เกิดเงินเฟ้อและ/หรือ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้น  

หากเกิดขึ้นจริงก็จะกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ ต้องปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเร็วกว่าและมากกว่าคาด กล่าวคือจะเสี่ยงต่อการเกิดวัฏจักรร้อนแรงและตกต่ำ (boom-bust) ขึ้นได้

  1. ความเสี่ยงอื่นๆ ที่ต้องระมัดระวังได้แก่การกีดกันการค้า (ทรัมพ์อาจยกเลิกนาฟต้าได้จริงๆ) วิกฤติเกาหลีเหนือ ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง และความเสี่ยงจากการเผชิญหน้าทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ และปัญหาแคว้นกาตาลุญญากับรัฐบาลสเปน ครับ