จินตนาการกับภาษา

จินตนาการกับภาษา

การใช้ภาษาไม่ใช่เพียงแค่การพูด เขียน หรือสื่อสารได้เท่านั้น หากแต่เป็นพลังในการสร้างสรรค์สังคมมนุษย์ให้ดำเนินมาถึงปัจจุบันได้

ภาษาทั้งหลายจึงแปรเปลี่ยนไป พร้อมๆ กับการจินตนาการเชื่อมโยงข้อมูล และเรื่องราวต่างๆ ให้เกิดเป็นความหมายใหม่ ที่ก่อรูปให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเสมอมา

ความสามารถในการใช้ภาษาจึงเป็นคุณสมบัติสำคัญของการคิด การจดจำ การสร้างสรรค์ คนเราจะสามารถคิดได้ จดจำได้ และสร้างสิ่งใหม่ๆ ได้ ก็เพราะกระทำการทั้งหมดในกรอบของภาษา 

เด็กทารกไม่สามารถจะคิด จดจำได้ เพราะยังไม่รู้จักภาษา ลองคิดดูถึงการคิดหรือการรู้สึกของเรา ก็จะพบว่าทั้งหมดล้วนแล้วแต่ถูกกำกับ หรือชี้นำด้วยภาษาทั้งสิ้น

ภาษาจึงมีสถานะที่สัมพันธ์กับมนุษย์เราใน 2 ด้าน ได้แก่ ภาษาที่เป็น “คุก” จำกัดความคิดของผู้คน ขณะเดียวกันในอีกด้านหนึ่ง ภาษาที่เป็นหนทางในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้แก่มวลมนุษยชาติ

อะไรที่ทำให้ภาษามีสถานะ 2 ด้านที่ขัดแย้งกันเช่นนี้

ความสามารถในการใช้ภาษาเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ภาษาเป็น คุก หรือเป็นพื้นที่แห่งการสรรสร้าง เพราะความสามารถในการใช้ภาษา จะทำให้เกิดการใช้คำใหม่ หรือคำเก่าที่เชื่อมโยงกับคำ หรือประโยคอื่นๆ และทำให้เกิดการเปลี่ยนความหมายของชุดความคิด ที่กำกับคำ หรือประโยคกลุ่มนั้นๆ 

ลองคิดถึงกระบวนการสร้างชุดคำเพื่ออธิบายตัวสินค้าสักหนึ่งชิ้น ผู้คิดคำโฆษณาทุ่มแทในการคิดคำหรือประโยค เพื่อทำให้เกิดความหมายใหม่ที่ตนเองต้องการให้ฝังไว้ในตัวสินค้านั้น

ความสามารถในการใช้ภาษาจึงไม่ใช่เพียงแค่การคำนึงถึงความถูกต้องของการใช้ไวยากรณ์ หรือ การใช้ศัพท์ที่ถูกต้องตามพจนานุกรม หากแต่เป็นจินตนาการที่มองเห็นความเหลื่อม ความคล้ายคลึง และ ความหมายที่ซับซ้อนของภาษา มีงานวิจัยเสนอผลงานวิจัยทำนองว่า คนที่รู้ภาษาหลายภาษาก็มีโอกาสที่จะเกิดจินตนาการใหม่ได้มากกว่าคนรู้ภาษาเดียว เพราะสามารถที่จะคิดเปรียบเทียบในน้ำหนักของความหมายของคำ/ประโยคในแต่ละภาษาได้ จึงทำให้สามารถหลุดออกจากกรอบคิดหรือ “คุก” ของภาษาเดียวได้

นักวิทยาศาสตร์สามารถใช้ภาษาได้อย่างน้อย 2 ภาษาในการสร้างผลงาน อันได้แก่ ภาษาทั่วไปที่ตนเองใช้ในสังคม ขณะเดียวกัน ก็สามารถที่จะใช้ภาษาของศาสตร์ตนเองในการคิด จินตนาการควบคู่กันไป 

การเคลื่อนย้ายทางความคิดระหว่างการใช้ภาษา 2 ภาษา ( หรือมากกว่า 2 ภาษา ) นี้ทำให้เกิดจินตนาการเชื่อมโยง ระหว่างข้อมูลปลีกๆ ที่ดำรงอยู่อย่างเป็นอิสระให้เกิดสายสัมพันธ์กันขึ้นมา และก่อให้เกิดความหมายใหม่

ในโลกปัจจุบันที่ระบบเศรษฐกิจสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างลึกซึ้งและไพศาล ชุดภาษาแห่งความรู้เฉพาะทางแบบเดิมเริ่มที่จะไร้พลังในการอธิบายสรรพสิ่งรอบตัว จึงทำให้เกิดความพยายามเชื่อมภาษาแห่งความรู้หลายๆ ชุดเข้าด้วยกัน เช่น การเกิดภาษาและความรู้ชุด “ฟิสิกส์เศรษฐศาสตร์” “ประวัติศาสตร์อารมณ์ความรู้สึก” หรือผลงานนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลคนล่าสุด ที่พยายามเชื่อมต่อภาษาเศรษฐศาสตร์กับอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์

ภาษา จินตนาการ และการคิด จึงเป็นกระบวนการเดียวกันที่แยกกันไม่ได้. และกระบวนการนี้ได้สร้าง “ความรู้” ให้แก่มนุษยชาติให้ก้าวหน้ามาจนถึงปัจจุบันนี้

หากกลับมามองสังคมความรู้ของไทย จะพบปัญหาสำคัญ ที่ขวางกั้นสติปัญญาของผู้คนในหลายด้านด้วยกัน

ด้านแรก ความล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการใช้ภาษาไทยของคนไทย ซึ่งพูดถึงและถกเถียงกันมานานมากแล้ว 

นักเรียน นักศึกษา ครูบาอาจารย์ทุกระดับขาดความสามารถในการใช้ภาษาแม่ของตนเองมากขึ้นๆ จึงทำให้ “คุก” ของภาษานั้นรัดตรึงการคิด และจินตนาการให้เรียวเล็กแคบตื้นมากขึ้น น่าแปลกใจที่ภาษาไทยเป็นวิชาบังคับในทุกระดับการศึกษา แต่นักเรียนนักศึกษากลับไม่มีความสามารถในการใช้ภาษาไทยเลย 

ความล้มเหลวของการศึกษาภาษาไทยเกิดขึ้นจากการคิดของผู้คนในวงการศึกษา ที่เน้นเพียงความถูกต้องของการใช้ภาษาโดยไม่มีความเข้าใจธรรมชาติของภาษาเลยแม้แต่น้อย และการเรียนการสอนภาษาไทย/วรรณคดี/วรรณกรรมที่ว่าตามคนรุ่นเก่าก่อนบอกมา โดยปราศจากความตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคม (ผมคิดอย่างมีอคตินะครับ ว่าเอาเข้าจริงแล้วครูในสังคมไทยอ่านหนังสือกันน้อยมาก และเมื่ออ่านน้อยก็ไม่มีทางที่จะใช้ภาษาได้ดี สงสัยต้องใช้มาตรา 44 บังคับให้ครู/อาจารย์อ่านหนังสืออาทิคย์ละเล่มกระมัง)

ด้านที่ 2 การคิดไม่เป็นประวัติศาสตร์ของคนในวงการการศึกษา ที่ยังคงเน้นว่า “รู้อย่างเดียว ให้เชี่ยวชาญเถิด” ซึ่งเป็นความคิดเก่าที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่สังคมไทยเพิ่งจะแบ่งงานกันทำเฉพาะด้าน การติดอยู่ในกรอบเก่านี้เอง จึงทำให้วงการศึกษาก้าวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของความรู้ในโลกปัจจุบัน

ตัวอย่างที่เจ็บปวดสำหรับคนมหาวิทยาลัย ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ) ที่ออกระเบียบให้แต่ละภาควิชารับอาจารย์ ที่จบตรงสาขาวิชาเดียวกันทั้ง 3 ปริญญา (ตรี​ โท เอก ) ซึ่งขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับการสร้างสรรค์ความรู้ในสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิทยาศาสตร์หลายสาขา อาจจะยกเว้นความรู้แคบๆ ของแพทย์ศาสตร์บางสาขาเท่านั้นกระมัง

ด้านที่ 3 ระบบเศรษฐกิจไทยปัจจุบันวางอยู่บนฐานของภาคบริการ (Service Sector) ระดับชีวิตประจำวัน จึงทำให้บรรดาเจ้าของธุรกิจทั้งหลาย ต้องการเพียงคนที่ความรู้เฉพาะด้านเพื่อทำงานให้พวกเขา โดยที่ไม่มีจินตนาการสร้างสรรค์ธุรกิจเพื่อความก้าวหน้า และผลักภาระทั้งหมดให้ตกบนบ่าของระบบการศึกษา ซึ่งยิ่งทำร้ายสังคมไทยมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น เจ้าของธุรกิจโรงแรมเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตทางการท่องเที่ยวที่ปูที่นอนเป็นเท่านั้น มีเสียงตำหนิทำนองว่าบัณฑิตจบการท่องเที่ยวเสียเปล่า แต่ปูที่นอนไม่เป็น ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องของการสอนงานขณะทำงาน (On the job training)

ยังมีอีกหลายด้านนะครับ ที่กีดขวางจินตนาการของสังคมผ่านความสามารถในการใช้ภาษา เช่น เสรีภาพในการคิด แต่เรื่องนี้คงต้องสู้กันไปอีกนาน เอาเพียงแค่ปราการ 3 ด้านนี้ก็ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไรแล้ว

คนในสังคมไทยทุกคนต้องช่วยกันทำลายปราการขวางกั้นจินตนาการแห่งภาษานี้ให้ได้ในเร็ววันนะครับ ไม่อย่างนั้น 10 ปีข้างหน้าก็ไม่รู้ว่าสังคมไทยจะตกหล่นไปอยู่ตรงไหน