อนาคตประเทศไทยฝากไว้ในมือเด็ก

อนาคตประเทศไทยฝากไว้ในมือเด็ก

"เราจะสร้างชีวิตของพวกเรา และลูกหลานบนพื้นฐานของการศึกษาที่เข้มแข็ง เพื่อให้คนในชาติสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างรวดเร็ว-

และมีประสิทธิภาพ”

ลี กวน ยู 

เด็กสมัยนี้มีโอกาสดีมากกว่าเด็กรุ่นก่อน มีความฉลาดและรอบรู้มากขึ้น กล้าแสดงออก กล้าคิดกล้าทำ ร่างกายใหญ่โตกว่าคนรุ่นก่อน พัฒนาการเชิงบวกเหล่านี้เป็นเพียงพัฒนาการเชิงภายภาพ เปรียบไปแล้วก็เหมือนคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ที่มีความสามารถมากขึ้น 

แต่การพัฒนาเยาวชน ซึ่งเน้นเชิงฮาร์ดแวร์โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับ การพัฒนาจิตใจเด็ก ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ควบคุมการทำงานของฮาร์ดแวร์ ทำให้พัฒนาการ 2 ด้านนี้ไม่สอดคล้องกัน ส่งผลให้ฮาร์ดแวร์ทำงานได้ไม่เต็มความสามารถหรือถูกใช้ไปในทางที่ผิดก่อให้เกิดปัญหาต่อตัวเอง และสังคมในที่สุด

พ่อแม่ทุกคนย่อมต้องการให้ลูกของตัวเองมีความสุขและประสบความสำเร็จ มีหน้าที่การงานมั่นคง แต่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ต้องแข่งขันกัน ปากกัดตีนถีบ จะมีพ่อแม่สักกี่คนที่สามารถสละเวลามาอบรมสั่งสอนลูกของตนเอง

เช้าขึ้นมาก็ต้องออกไปทำงาน ตกเย็นกลับมาก็หมดแรง บางทีทะเลาะกับเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงาน กลับมาถึงบ้านก็แทบจะไม่มีอารมณ์คุยกับลูกแล้ว

ครูบาอาจารย์ทั้งหลายก็เจอสภาพเดียวกัน สำหรับคนเป็นครูแล้ว ความภูมิใจของครูคือการได้เห็นศิษย์ของตนประสบความสำเร็จ จบไปแล้วมีหน้าที่การงานดี ครูจึงพยายามเคี่ยวเข็ญให้ลูกศิษย์ของตนได้เรียนต่อในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง 

นอกจากนี้แล้ว ครูยังต้องตอบสนองนโยบายคณะผู้บริหาร ที่วัดความสำเร็จของครูจากจำนวนนักเรียนที่สอบเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้แล้ว แรงกดดันต่อครูก็ยิ่งมีมากขึ้น จนทำให้การเรียนกลายเป็นการยัดเยียดความรู้ ครูสอนเพื่อให้เด็กสอบได้ เด็กเรียนเพื่อให้สอบผ่าน ไม่ได้เรียนเพราะด้วยความอยากเรียนจริง ๆ 

เมื่อจบออกไปจึงมีทัศนคติที่ไม่ดีกับการเรียน ไม่ขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมอีกต่อไป

ด้วยความหวังดีที่ส่งผลร้ายเช่นนี้ ประกอบกับความเชื่อของสังคมไทย ที่วัดการประสบความสำเร็จด้วยเงิน ความมีหน้ามีตาทางสังคม จึงทำให้เด็กส่วนใหญ่ต้องแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายตั้งแต่เข้าอนุบาล ไปโรงเรียนก็ต้องแข่งกับเพื่อน กลับมาบ้าน คนที่บ้านก็ไม่ค่อยมีเวลาเอาใจใส่

แรงกดดันจากการแข่งขันและความรู้สึกโดดเดี่ยวเมื่อสะสมไว้นานเข้า ก็จะส่งผลต่อบุคลิกภาพและความรู้สึกนึกคิด กลายเป็นคนเห็นแก่ตัว ก้าวร้าว ทำอะไรก็นึกถึงตัวเองมากกว่าส่วนรวม 

ยิ่งสมัยนี้มีของล่อใจสารพัด โอกาสที่เด็กจะเดินทางผิดจึงมีอยู่มาก สุดท้ายก็เลยกลายเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคม ลองนึกดูว่าถ้าวันหนึ่งเขามีครอบครัวขึ้นมา เขาจะเลี้ยงดูลูกของเขาอย่างไร

ปัญหาของเด็กนั้นไม่ได้เป็นอันตรายต่อเด็กเท่านั้น พวกเราเองก็จะได้รับผลกระทบเหล่านี้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รถซิ่งส่งเสียงดังลั่น กลุ่มวัยรุ่นขี้เหล้าข้างบ้าน พนักงานที่ขาดความกระตือรือร้นในการทำงาน ขาดความสามารถในการคิดวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหา ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต สิ่งเหล่านี้คือผลกระทบที่มองเห็นได้อยู่ทุกวัน

ปัญหาเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหญ่ก็จริง แต่สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่กว่านั้นก็คือผลกระทบในระยะยาว วันหนึ่งข้างหน้าพวกเราต้องเกษียณตัวเอง ไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไป เด็กรุ่นใหม่เหล่านี้จะเป็นผู้รับช่วงกุมชะตาของประเทศ

สำหรับด้านเศรษฐกิจ ความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการของประเทศขึ้นอยู่กับปริมาณและคุณภาพของคน หากคนขาดคุณภาพ ความสามารถในการผลิตของประเทศลดลง แล้วผลิตสินค้าและบริการมาเลี้ยงดูคนทั้งประเทศได้อย่างไร?

อีกอย่าง คู่แข่งเราคือทุกประเทศทั่วโลก แค่เราย่ำอยู่กับที่เขาก็แซงเราไปแล้ว เมื่อแข่งกับชาวบ้านไม่ได้ เศรษฐกิจถดถอย คนในประเทศจะเดือดร้อนแค่ไหน

สมมติว่าเหตุการณ์เลวร้ายสุดๆ เศรษฐกิจตกต่ำ ข้าวของราคาแพง คนที่อยู่ด้วยเงินออมหรือเงินบำนาญย่อมต้องเดือดร้อนมากกว่าเดิม เพราะไม่สามารถจะทำงานได้เหมือนคนหนุ่มคนสาว 

ชีวิตหลังเกษียณซึ่งควรจะได้พักผ่อน กลับต้องมานั่งหวาดผวากลัวว่าเงินอาจไม่พอใช้ แล้วจะมีความสุขได้อย่างไร

ปีใหม่ปีนี้ นอกจากจะพาพวกเขาไปเที่ยวสนุกสนาน น่าจะถือเอาวันนี้เป็นวันตั้งต้นให้สิ่งดีๆ กับเด็กๆ ของเรา คอยประคับประคองต้นกล้าในบ้านของตนเองให้เติบใหญ่ขึ้นอย่างมีคุณภาพ ให้ความรักความเอาใจใส่ ให้โอกาส ยอมรับเขาอย่างที่เขาเป็น ปลูกฝังความรู้คู่กับคุณธรรม ช่วยกันคนละไม้ละมือ ถึงจะไม่เห็นผลในทันที รับรองได้การลงทุนครั้งนี้ไม่สูญเปล่าแน่นอน

ถ้าเราให้ขนมเขาก็ได้กินแค่ตอนนั้น หากเราให้ความรู้ ให้ความรัก ให้ความเอาใจใส่ ผลดีไม่ได้ตกอยู่กับคนแค่รุ่นเดียว ลูกหลานรุ่นต่อไปก็จะได้รับประโยชน์ด้วยเช่นกัน เรียกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว ต่อให้ลงทุนมากแค่ไหนก็ไม่มีวันขาดทุน