มองผลของเทคโนโลยีในยุค 4.0

มองผลของเทคโนโลยีในยุค 4.0

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทที่ปรึกษายักษ์ใหญ่ แมคเคนซี่ เสนอรายงานการมองไปข้างหน้าเป็นเวลา 13 ปี

รายงานพูดถึงเรื่องเครื่องจักรที่เกิดจากเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งสามารถทำงานแทนคนได้มากขึ้น 

รายงานสรุปว่า แรงงานถึง 1 ใน 3 ของสหรัฐ หรือราว 70 ล้านคนอาจถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักร ประเทศก้าวหน้าอื่นๆ จะประสบกับสภาพเดียวกันไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี หรือญี่ปุ่น 

ส่วนจีนซึ่งขณะนี้มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ผลกระทบจะต่ำกว่านั้น นั่นคือ แรงงานเพียง 12% อาจจะถูกแทนที่ เพราะค่าแรงในจีนยังต่ำกว่าของประเทศก้าวหน้าที่อ้างถึง

เมื่อรวมทุกภาคของโลกเข้าด้วยกัน แรงงานอาจถูกแทนที่ถึง 375 ล้านคน

ข้อสรุปนี้มองได้หลายแง่มุม

เบื้องแรก เรื่องเครื่องจักรทำงานแทนคน และผลกระทบทางลบจากเทคโนโลยีใหม่ มิใช่ปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น หากเกิดมาตลอดประวัติศาสตร์ เท่าที่ผ่านมา มนุษย์เราปรับตัวได้ในระดับหนึ่ง ทำให้ผลกระทบทางลบของเทคโนโลยีมักมีน้อยกว่าผลดี

 กระบวนการนี้จึงมีปราชญ์ด้านเศรษฐศาสตร์ชื่อ โจเซฟ ชุมเพเตอร์ ตั้งชื่อให้ว่า การทำลายแบบสร้างสรรค์" (Creative Destruction)

ย้อนไปก่อนที่ชุมเพเตอร์จะคิดคำนั้นขึ้นมา ปราชญ์ทางเศรษฐศาสตร์ชื่อ จอห์น เมนาร์ด เคนส์ ทำนายไว้เมื่อปี 2473 ว่า เทคโนโลยีใหม่จะเอื้อให้คนเราทำงานน้อยลง ส่งผลให้แต่ละคนมีอิสระที่จะแสวงหาความสำราญเพิ่มขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือ เราจะใช้เวลาทำงานกัน คนละเพียง 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ก็จะมีรายได้เพียงพอสำหรับดำรงชีวิตเป็นอย่างดี 

จากวันนั้นมา เทคโนโลยีใหม่สามารถทำงานแทนคนได้สารพัดตามที่เขาทำนาย แต่คนเรามิได้ทำงานน้อยลง ตรงข้าม ในหลายๆ กรณีกลับทำงานเพิ่มขึ้น จึงมีคำถามตามมาว่าเพราะอะไร 

คำถามนี้ไม่มีคำตอบจำพวกที่แย้งไม่ได้ อย่างไรก็ดี มีประเด็นที่น่าพิจารณาเป็นพิเศษอยู่ 2 ประเด็นด้วยกัน

ประเด็นแรก เทคโนโลยีใหม่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมมนุษย์มากขึ้น เมื่อผู้ประดิษฐ์ เข้าถึง และใช้เทคโนโลยีใหม่ได้ก่อนมักได้ส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้น้อยลง ส่งผลให้คนเหล่านี้ต้องทำงานเพิ่มขึ้นเพื่อหารายได้มาใช้ซื้อหาสิ่งที่ตนต้องการ

ประเด็นที่ 2 เทคโนโลยีใหม่นำไปสู่การเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้อาจไม่มีความจำเป็นสำหรับใช้ในการดำเนินชีวิตเบื้องต้น แต่คนทั่วไปมักต้องการใช้ส่งผลให้ต้องหารายได้เพิ่มขึ้นมาซื้อหาผลิตภัณฑ์ที่ออกมาใหม่ ยิ่งกว่านั้น ยังมักมีการแข่งขัน หรือโอ้อวดกันที่จูงใจให้คนทั่วไปใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทั้งที่ไม่มีความไม่จำเป็น

2 ประเด็นนี้มีผลต่อไปที่มองได้อีกหลายแง่มุม เช่น นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมักมองว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะการใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ พร้อมกับการไม่ลดชั่วโมงทำงานทำให้เศรษฐกิจขยายตัว

อย่างไรก็ดี การมองเช่นนี้ทำให้มองไม่เห็นผลพวงสำคัญอีกด้านหนึ่ง นั่นคือ การขยายตัวของเศรษฐกิจต้องใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นซึ่งมีผลพวงต่อไปอีกหลายด้าน เช่น ผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งพร้อมจะต่อต้านการกระทำของมนุษย์ และการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด

ผลพวงทั้งสองกำลังนำไปสู่สงคราม 2 ด้านอันได้แก่ สงครามระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม และสงครามระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ 

ผลเสียหายของสงครามทั้งสองเสริมกันและกัน จนผลสุดท้ายมนุษยชาติอาจถูกทำลายจนหมดไปจากผิวโลก

มุมมองดังกล่าวไม่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไป ส่งผลให้นโยบายในระดับรัฐบาล และการปฏิบัติตนในระดับบุคคลของชนส่วนใหญ่ยังไม่มุ่งไปในทางลดการใช้ทรัพยากรที่เกินความจำเป็น ตรงข้าม โดยทั่วไปยังมีการจูงใจและผลักดันให้เกิดการใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้น

ยิ่งกว่านั้น ยังมีการจูงใจให้ประชาชนมีลูกเพิ่มขึ้นอีกด้วย สงคราม 2 ด้านจึงจะยังดำเนินต่อไปส่งผลให้มนุษยชาติมีโอกาสถูกทำลายสูงขึ้นอีก 

ปัจจุบัน รัฐบาลและคนไทยมีภูมิปัญญาในรูปของศาสตร์พระราชาสำหรับป้องกัน และแก้ปัญหาที่มากับเทคโนโลยี และโลกที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทั้งรัฐบาลและคนไทยจึงไม่จำเป็นต้องเดินตามผู้อื่น 

แต่เป็นที่น่าเสียดายที่รัฐบาลและคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ จึงไม่ดำเนินนโยบายและดำเนินชีวิตไปตามแนวศาสตร์พระราชาอันเป็นภูมิปัญญาที่มีค่าสูงยิ่ง