เบื้องหลังซีอีโอ Unilever เจอทรัมป์ ในบรรยากาศอึดอัด ***

เบื้องหลังซีอีโอ Unilever เจอทรัมป์ ในบรรยากาศอึดอัด ***

ผมมีโอกาสได้นั่งจับเข่าสัมภาษณ์ Paul Polman ประธานบริหารคนดังระดับโลกของ Unilever ที่มาเมืองไทยอีกครั้งเมื่อเร็ว ๆ นี้

คำถามแรกคือเรื่องโดนัลด์ ทรัมป์

ทรัมป์เกี่ยวกับยูนิลีเวอร์ตรงไหน ตรงที่พอลเป็นคนรณรงค์ในระดับสหประชาชาติว่าด้วยการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างเข้มแข็ง อีกทั้งยังถือเป็นผู้บริหารสูงสุดของธุรกิจ ที่ยืนยันว่าธุรกิจจะยั่งยืนได้จะต้องทำทุกอย่างในองค์กรให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ผมแอบรู้มาว่พอลเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ได้ไปเจอโดนัลด์ ทรัมป์ที่ทำเนียบขาวหลังจากเขาชนะเลือกตั้ง

ทรัมป์ประกาศช่วงหาเสียงว่าหากเขาได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ เขาจะให้อเมริกาถอยจาก ข้อตกลงปารีส ว่าด้วยโลกร้อน ที่โอบามาเป็นแกนสำคัญในการชักชวนประเทศทั่วโลก มาร่วมลงนามเพื่อผลักดันการแก้ปัญหาระดับโลก

แต่ทรัมป์ไม่เชื่อเรื่อง Climate change และการที่สหรัฐไปรับปากว่าจะลดการส่งคาร์บอนขึ้นในชั้นบรรยากาศนั้นเป็นการบั่นทอนอุตสาหกรรมของอเมริกันเอง

คุณพอลกับคณะกรรมการเรื่องโลกร้อน ขอเข้าไปพบทรัมป์เพื่ออธิบายถึงความสำคัญของการที่สหรัฐ ควรจะต้องอยู่ในกรอบของข้อตกลงปารีส 

แต่ไร้ผล

เพราะทรัมป์ไม่ยอมฟังเหตุผลใด ๆ จากผู้เชี่ยวชาญที่ยืนยันว่าปัญหาโลกร้อนเป็นจริง แม้ 196 ประเทศได้ตกลงร่วมมือกันทำข้อตกลงนี้ขึ้นมาเพื่อช่วยกันลดความรุนแรงของปัญหา

เดิมมีสองประเทศที่ไม่เข้าร่วมคือ นิคารากัวและซีเรีย แต่ถึงวันนี้สองประเทศนี้ก็ได้ยอมมาลงนามร่วมแล้ว

กลายเป็นว่าอเมริกาเป็นประเทศเดียวที่ไม่ยอมเข้าร่วมเท่านั้น

ทรัมป์มีความเชื่อว่าถ้าทุกประเทศทั่วโลกตกลงจะทำอะไรร่วมกัน คงจะเป็นเรื่องไม่ดีสำหรับสหรัฐแน่นอน เหมือนที่เขาทำกับ TPP…” พอลบอกผมระหว่างการสัมภาษณ์

วิธีคิดของทรัมป์คือถ้าคนอื่น ๆ เห็นว่าอะไรดี นั่นย่อมแปลว่ามันไม่ดีสำหรับสหรัฐ

พอลบอกว่า พอทรัมป์ชนะเลือกตั้ง, เขาก็ขอพบประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ เพื่ออธิบายถึงความสำคัญของการที่อเมริกาควรจะต้องดำรงบทบาทที่เป็นแกนของ “ข้อตกลงปารีส” เพราะโอบามา และจอห์น แคร์รี่ (ตอนเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ) ได้เป็นหัวหอกในการทำให้เกิดความเห็นพ้องในเรื่องนี้มาก่อน

เบื้องหลังซีอีโอ Unilever เจอทรัมป์ ในบรรยากาศอึดอัด ***

พอล บอกว่า การเจอกับทรัมป์ครั้งนั้น เป็นประสบการณ์ที่อึดอัดสำหรับผมพอสมควร

ซีอีโอของยูนิลีเวอร์บอกว่าประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อสหรัฐในการเดินตามแนวทางนี้ชัดเจนอยู่แล้ว แม้แต่นักการเมืองพรรครีพับบลิกันส่วนใหญ่ก็เชื่อเรื่องภัยจากโลกร้อน

แต่ทรัมป์ไม่ยอมเปลี่ยนใจ

“ทันทีที่ทรัมป์ประกาศว่าเขาจะไม่เดินตามข้อตกลงปารีส เราก็เห็นคนอเมริกันจำนวนไม่น้อยรณรงค์ให้อเมริกาอยู่ในกรอบของตกลงนั้น และเราก็ได้สร้างขบวนการใหม่ขึ้นมาซึ่งตอนนี้มี 4,600 บริษัท รัฐ และเมืองต่าง ๆ ในสหรัฐ ที่ประกาศว่าจะคงอยู่กับข้อตกลงนี้โดยมีชื่อว่า We’re Still In ซึ่งเป็นการยืนยันว่าคนอเมริกันส่วนใหญ่ต้องการจะร่วมกันแก้ปัญหาโรคร้อนแม้ว่าประธานาธิบดีของพวกเขาจะไม่เห็นด้วยก็ตาม” 

พอลเล่าด้วยความกระตือรือร้นที่จะผลักดันความเคลื่อนไหวที่ไปคนละทางกับทรัมป์

ผมถามว่าเมื่อทรัมป์ไม่เอาด้วยแล้ว “ข้อตกลงปารีส” จะล่มสลายหรือไม่

พอลตอบอย่างไม่ลังเลว่า “ข้อตกลงนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนใดคนหนึ่ง พลังเศรษฐกิจโลกจะเป็นตัวกำหนดทิศทางของโลก

เขาอธิบายว่าตามกติกาของข้อตกลงนี้ ประเทศที่จะขอออกจากกรอบนี้จะต้องใช้เวลา 4 ปี

“ผมก็เชื่อว่าถึงเวลานั้น เหตุผลต่าง ๆ คงจะทำให้อเมริกายังอยู่ในข้อตกลงนี้”

ผมบอกว่า “ถึงเวลานั้นทรัมป์จะยังอยู่หรือเปล่าล่ะ”

พอลยิ้มพร้อมกับบอกว่า “นั่นก็เป็นอีกหนึ่งประเด็น ที่เราคงต้องตั้งอีกวงหนึ่งมาวิเคราะห์กัน”

ชาวยูนิลีเวอร์หลายร้อยคนที่มาร่วมฟังด้วยอย่างคึกคักวันนั้นฮากันดังลั่นไปทั่ว!

 

*** ชื่อเต็มเรื่อง: 

เบื้องหลังซีอีโอ Unilever เจอทรัมป์

ในบรรยากาศอึดอัดเรื่องโลกร้อน!