เรื่องอยากเล่า 'ครม ประยุทธ์ 5'

เรื่องอยากเล่า 'ครม ประยุทธ์ 5'

เป็นเรื่องที่ต้องเรียนว่า นำมาเล่าด้วยความคิดเห็นส่วนตัว ไม่ใช่ “วงใน” ไม่ใช่ คนที่มีข้อมูลลึก หรือลับจากแหล่งข่าว

หลายเรื่องที่จะเล่าเป็นประสบการณ์ เป็นความคาดหมาย และเป็นความคิดเห็นส่วนตัวโดยแท้ ต้องเรียนว่า ในคณะรัฐมนตรีที่มีการแต่งตั้งเข้าไปใหม่นี้ ส่วนตัวเคยมีโอกาสร่วมงานกับท่านทั้งหลายเหล่านี้อย่างน้อยๆ 5 ท่านด้วยกัน เพราะทั้ง 5 ท่านเคยเป็นสมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช) มาด้วยกันตั้งแต่เริ่มต้นแนวทางการปฎิรูปประเทศ ได้เห็นฝีไม้ลายมือและผลงานกันมา 

แต่จำนวนสมาชิกที่มากถึง 250 ท่าน ทำให้ผมอาจไม่สามารถสัมผัสใกล้ชิดหรือคุ้นเคยขนาดเรียกได้ว่าสนิทสนม แต่ยืนยันว่ารู้จักและได้ติดตามบทบาทการทำหน้าที่ของทุกท่านอย่างตั้งใจ

ในภาพรวมการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ มีเสียงเล่าลือว่า ท่านนายกรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกตัวบุคคลด้วยตัวท่านเอง ซึ่งตรงกับที่ได้คิดไว้แต่แรกว่า” โผ “ หลายโผที่ประกาศผ่านสื่อต่างๆ พรั่งพรูออกมาเไม่เป็นความจริง หลายชื่อในระยะแรกๆ เมื่อมีการโฆษณาทางหน้าหนังสือพิมพ์ทำให้รู้ได้ทันทีว่าน่าจะ “โยนหินถามทาง” หรืออาจเป็น “โผที่สื่อตั้งเอง” ด้วยเหตุผลที่ประเมินความสัมพันธ์ ระยะห่างของคนที่มีชื่อในโผ กับทีมงานการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรีแล้ว รู้ได้ทันทีว่าไม่ใช่ตัวจริง 

ฃในที่สุดก็มีโผรายวันอย่างที่เป็นอยู่ ไม่ต่างกับในช่วงสมัยก่อนที่ผมจะได้รับความไว้วางใจให้มาทำหน้าที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ในเวลานั้นร่ำลือกันต่างๆ นานา ว่าคนนั้นคนนี้จะมาในตำแหน่งนั้น จะไปเป็นนั้นเป็นโน่น เมื่อให้สัมภาษณ์กับสื่อแล้วเหตุการณ์ “ โผคนอยากเป็น และโผสื่อตั้ง” เป็นจริงขึ้นมา ผมเลยถูกตั้งข้อหาว่า “อยู่วงใน” โดยความเข้าใจผิดของสื่อเอง

ที่ยกตัวอย่างก็เพื่อให้เห็นถึง สัจธรรม" ของคำว่า "การเมือง ไม่ว่าจะในยุคของสภาวะบ้านเมืองปกติ หรือในสภาวะที่เป็นเหตุการณ์พิเศษดังที่เป็นอยู่นี้ วิถีทางทางการเมืองยังไม่เปลี่ยนแปลง ยังมีรูปแบบคล้ายๆ กัน 

คนอยากได้ตำแหน่งบางทีก็ทำกันทุกวิถีทาง อย่างโผหลายโผมีผู้หวังดีมาเล่าให้ฟังว่า มีคนนำไปให้สื่อโปรโมท เราก็ไม่ทราบว่าเป็นใคร อาจจะเป็นพรรคพวกของสื่อ หรือคนที่สื่อเชียร์เผื่อจับพลัดจับพลูเป็นจริงขึ้นมาได้เหมือนถูกหวย ทำกันถึงขนาดนี้เพราะเรื่องตำแหน่งแห่งที่หากไม่ปฎิเสธความจริง ทุกคนอยากได้อยากมี หรือบางท่านอาจจะมีความไม่พึงพอใจริษยาหรือคิดในทางร้ายๆ กับคนที่มีโอกาสที่ดีกว่าก็มี อันเป็นเรื่องของ “โลกะวัชชะ” ดังคำพระท่านว่า โลกมนุษย์เป็นสังคมที่มีการติฉินนินทา

แต่สำหรับคนใน สปช ที่มีโอกาสเข้าร่วมคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้ ส่วนตัวผมเชื่อว่า ท่านนายกรัฐมนตรี น่าจะมีความเชื่อมั่นในความรู้ความสามารถ และจากที่ได้เคยสัมผัสกันดังได้กล่าวเมื่อเริ่มต้น ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ท่านเหล่านี้จะสามารถพิสูจน์ฝีมือ ผลักดันแนวคิดวิธีการหลายอย่างที่อาจเคยถูกมองว่าอยู่ในผังภูมิหรือกรอบแนวคิดไปสู่การปฎิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรมได้ 

หากไล่เรียงเป็นรายบุคคล จะต้องยอมรับว่าท่านนายกรัฐมนตรี มีความใจกว้าง และมุ่งประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นสำคัญมากกว่าเรื่องของพวกพ้อง เนื่องด้วยใครก็ทราบดีว่า การเข้ามาเป็นรัฐมนตรี ซึ่งเป็นคณะผู้บริหารประเทศในสมัยที่นักการเมืองเป็น “ผู้เล่น” การจะเข้าสู่ตำแหน่งเหล่านี้ มีเงื่อนไขสำคัญอยู่หลายอย่าง

 หนึ่งในจำนวนนั้น คือ เงื่อนไขว่าด้วยอำนาจบารมี ทั้งทรัพย์สินเงินทองและอิทธิพลของเจ้าตัวรวมทั้งจำนวนสมาชิกในสังกัดของรัฐมนตรีท่านนั้นๆ เป็นเรื่องยากมากถึงมากที่สุดที่จะมีการดึงเอา ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ technocrats มาเข้าร่วมคณะรัฐมนตรี ที่เคยเห็นเข้ามาก็ล้วนแต่เป็นคนมีสังกัดค่ายโน้นค่ายนี้ หรือเป็นนักวิชาการหรือผู้ทรงคุณวุฒิที่น่าจะเรียกว่า “นักการเมืองในคราบนักวิชาการ” เสียมากกว่า

จึงเห็นได้ว่า การเปิดโอกาสอย่างกว้างขวางในคร้งนี้ของท่านนายกรัฐมนตรี ไม่ต่างกับที่ผมได้รับโอกาสมากมาย ดังที่หากเป็นยุคของการเมืองปกติคงเป็นเรื่องยากยิ่ง 

หลายคนถึงกับตั้งคำถามด้วยความไม่รู้ว่า รัฐมนตรีใหม่ท่านนี้เป็นใคร ทำไมเขาไม่รู้จัก ที่เขาไม่รู้จักก็เพราะท่านเหล่านี้ทำงานโดยไม่ต้องใช้สื่อโฆษณา ทำงานด้วยความตั้งใจ มุ่งผลของงาน เลยกลายเป็นประเด็นปัญหาที่สะท้อนในการเลือกตั้งหลายครั้งว่า ทำไมคนทำดีทุ่มเทเสียสละถึงไม่ได้รับเลือกตั้ง แต่คนที่โหนกระแสสื่อกลับได้รับความนิยมคะแนนพุ่งพรวดพราดเข้าป้ายเป็น สส เป็นรัฐมนตรีได้อย่างรวดเร็ว

ถือว่าการตัดสินใจตั้งคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้ของท่าน นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา น่าจะให้ความหวังหลายๆ อย่างให้กับประเทศไทยของเราได้ แม้เวลาในการทำหน้าที่อาจอยู่ในกรอบเวลาที่กระชับ เพราะกระบวนการเลือกตั้งใกล้เข้ามาทุกขณะ ด้วยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทุกฉบับเข้าสู่การพิจารณาของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากกฎหมายสำคัญสี่ฉบับที่นำไปสู่การเลือกตั้งได้มีการประกาศบังคับใช้ เส้นทางการเลือกตั้งก็จะเห็นเด่นชัด

แต่น่าเสียดายที่การปฎิรูปหลายอย่างยังค้างคาเฉพาะอย่างยิ่ง การปฎิรูปตำรวจ” ที่ยืนยันได้ว่า หากจะนับถึงวันที่ครบกำหนดเวลาหนึ่งปีที่รัฐธรรมนูญกำหนด เป้าหมายหลายอย่างน่าจะเสร็จเสมบูรณ์ 

แต่ ผมไม่ใช่มาเชียร์หรือมาอวยพวกเดียวกันเอง ต้องยอมรับว่า คณะกรรมการปฎิรูปตำรวจชุดที่ท่านนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นจำนวน 36 ท่าน โดยมีพลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานนี้ จัดเป็น Dream Team อย่างแท้จริง แม้จะมีความเห็นหลากหลายแตกต่างกันบ้าง แต่จัดว่าเป็นสิ่งช่วยจรรโลกขัดเกลาแนวทางการปฎิรูปตำรวจให้เดินไปในทิศทางที่ตรงกับวัฒนธรรมวิถีชีวิตของสังคมไทย ที่เดิมเราไปรับเอาแนวทางวิธีการของที่ต่างๆ มาใช้ แต่เข้ากันไม่ได้กับความเป็นจริงสิ่งที่เป็นอยู่ของพวกเรา

ผมยังเชื่อมั่นว่า ท่านนายกรัฐมนตรี จะยังให้ความสำคัญกับการปฎิรูปตำรวจโดยมอบหมายภารกิจที่ยังคั่งค้างอีกหลายประการ เช่น ภารกิจการสืบสวนสอบสวน การจัดรูปองค์กรและภารกิจตำรวจ ไม่จบเฉพาะ “การบริหารบุคคล การแต่งตั้งโยกย้าย” ให้คณะกรรมการชุดนี้สานงานสืบเนื่องไปเช่นเดียวกับคณะปฎิรูปประเทศอีก 11 ชุดที่ได้แต่งตั้งขึ้น ให้ทำงานบูรณาการร่วมกันไป และไม่อยากให้ถ่ายโอนภารกิจไปยังคณะปฎิรูปอื่นที่อาจมีลักษณะงานที่ดูผิวเผินอาจคล้ายกัน  

แต่ สารัตถะหรือเนื้อหาสำคัญของการปฎิรูปตำรวจเรามาถูกทางแล้ว ไม่อยากให้เกิดการรื้อ คณะกรรมการที่เปรียบเหมือนนั่งร้านทิ้งขณะที่โครงสร้างภายในเพิ่งเป็นรูปเป็นร่าง และเชื่อว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะไม่ใส่ใจและจะไม่นำพากับการปฎิรูปตำรวจได้เหมือนอย่างที่รัฐบาลและคณะกรรมการชุดนี้ได้ทุ่มเทเสียสละอย่างสุดตัว