รัฐสวัสดิการสแกนดิเนเวีย สร้างด้วยคุณค่าแบบใด

รัฐสวัสดิการสแกนดิเนเวีย สร้างด้วยคุณค่าแบบใด

ท่านผู้อ่านครับ ช่วงหลังสังเกตไหมครับ ว่าหนังสือเกี่ยวกับวิถีชีวิตสแกนดิเนเวีย เริ่มมีวางแผงมากขึ้นเรื่อยๆ

ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “ฮุกกะ” ที่ว่าด้วยเรื่องความสุขของเดนมาร์ก หรือว่าคำใหม่ “ลากอม” (อ่านว่า ลา-กอม) ที่เป็นคำสวีดิช ที่แปลได้เลาๆ ว่า ไม่มากไป ไม่น้อยไป แถมคำพวกนี้ยังถูกยืมเอาไปใช้ประกอบการขายคอนโดฯอีกแน่ะ ไปซะนั่น 

ที่จริงสแกนดิเนเวียมีอะไรมากกว่านี้นะครับ มีอะไรมากกว่าที่คนไปเที่ยวดูแสงเหนือแน่ๆ หรือว่ามีมากกว่านักฟุตบอลที่คนรู้จักทั่วโลกอย่าง สลาตัน อิบราฮิมโมวิช หรือเฟอร์นิเจอร์อิเกีย และอื่นๆ

ก่อนอื่น ขอเคลียร์ความเข้าใจเรื่องคำก่อนนะครับ คือ จะมีคำต่างกันอยู่ 3 คำ ที่ใช้เรียกประเทศแถบนั้น 

อันแรก สแกนดิเนเวีย หมายถึงประเทศสวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์ พวกนี้ภาษาจะใกล้กันครับ ต่อให้คนแต่ละประเทศเหล่านี้พูดภาษามาสนทนากันด้วยภาษาตนเอง เขาก็พอฟังที่เพื่อนบ้านของเขาพูดรู้เรื่องครับ ฟินแลนด์นั้นจะไม่จัดอยู่ในพวกนี้ ภาษาจะแยกออกไปอีกตระกูล ดังนั้น ถ้ารวมฟินแลนด์ไปด้วย ก็จะเรียกว่านอร์ดิกครับ 

นอร์ดิกก็จะรวมประเทศเล็กๆ อย่างไอซ์แลนด์ และเกาะกรีนแลนด์เข้าไปด้วยอีก แต่ประเทศเล็กๆ อย่างไอซ์แลนด์นี่ไม่ธรรมดานะครับ เพิ่งเข้ารอบบอลโลกรอบสุดท้าย ทั้งที่มีพลเมืองประมาณ 350,000 คนเท่านั้น นึกๆ ดูมันเหมือนทำนองว่า เขตปทุมวันไปบอลโลก มันมหัศจรรย์และน่าภูมิใจขนาดไหน 

ส่วน ไวกิ้ง นั่นหมายถึงชนเผ่าโบราณ ที่มีถิ่นฐานในแถบสแกนดิเนเวีย แล้วบุกยึดอังกฤษตอนบน ล่องไปไอซ์แลนด์ และไปถึงชายฝั่งทวีปอเมริกานั่นแหละครับ

ในที่นี้ออกตัวไว้ก่อนครับว่า จะขอใช้คำว่าสแกนดิเนเวียในความหมายกว้างๆ รวมๆ ทุกประเทศพวกนี้เข้าไว้ เพราะคุ้นชินปากคนทั่วไปในบ้านเราครับ

เอาล่ะ เข้าเรื่องครับ ที่จะเล่าคือ วันก่อนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยสังคม และองค์กรร่วมจัด ได้จัดวงเสวนาเล็กๆ อบอุ่นๆ จากคำถามว่า รัฐสวัสดิการสแกนดิเนเวียสร้างด้วยคุณค่าแบบใด

ในวงนี้เราไม่ได้คุยกันในเชิงเทคนิคเท่าใดนัก ว่าการจัดสวัสดิการต้องใช้เงินเท่าไร หาเงินมาจากไหน พักเรื่องพวกนั้นไว้ก่อนครับ เราคุยกันเรื่องรัฐสวัสดิการเกิดขึ้นเพราะคนคิดแบบใด เชื่อแบบใด ตกลงกันแบบใด ทำนองนั้นมากกว่า

คนมาชวนคุยคนแรก คุณปกรณ์ เลิศเสถียรชัย จากสถาบันวิจัยสังคม มาเริ่มต้นเล่าจากกระแสหนังสือที่ชวนคนเรียนรู้เรื่องสแกนดิเนเวียที่มีตีพิมพ์ในโลกอังกฤษและอเมริกาอย่างมากในช่วง 2-3 ปีหลัง

หนังสือที่น่าสนใจมีอย่างเช่น The Almost Nearly Perfect People เล่มนี้นักหนังสือพิมพ์อังกฤษไปแต่งงานกับคนเดนมาร์กเลยเขียนเรื่องชีวิตของคนประเทศในแถบนั้นมาเล่า เล่มที่หนักหน่อยก็อย่าง Viking Economics เล่มนี้นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันที่แต่งงานกับคนนอร์เวย์มาเล่าเรื่องว่าพัฒนาการทางเศรษฐกิจในแถบนั้น ต่างจากส่วนอื่นของโลกเช่นไร จึงมาเป็นกลุ่มประเทศที่มีผู้ประกอบการมา มีเทคโนโลยีขั้นสูงมาก มีนวัตกรรมมาก ซึ่งสวัสดิการถ้วนหน้าที่เป็นรากฐานชีวิต เป็นส่วนสร้างความก้าวหน้าพวกนี้ขึ้นมา

เล่มต่อมาที่น่าสนคือ The Nordic Theory of Everything เล่มนี้สาวฟินแลนด์ที่ไปแต่งงานกับคนอเมริกันเล่าเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างเรื่องการจัดสรรพื้นฐานชีวิต ระหว่างแบบสแกนดิเนเวีย ที่รัฐจัดให้ กับแบบอเมริกัน ที่ผู้คนและครอบครัวต้องมุ่งใฝ่หากันเอง 

ข้อสรุปของนางคือ แบบแรกนั้น ทำให้คนเป็นอิสระมากกว่า ไม่เป็นหนี้บุญคุณใคร ไม่ต้องกังวลเรื่องความไม่มั่นคง กล้าทำสิ่งใหม่ กล้าทำตามแรงบันดาลใจ โดยสรุป นักเขียนเหล่านี้ เอาสังคมสแกนดิเนเวียมาเล่าเปรียบเทียบกับสังคมที่สวัสดิภาพที่ต้องดิ้นรนใฝ่หามาที่พวกเขาไม่พอใจครับ

แนวความคิดแบบนี้ก็สอดคล้องกับที่ อ.บุญส่ง ชเลธร ผู้ไปอยู่อาศัยในสวีเดนมากกว่า 30 ปี เขาเล่าเรื่องการดูแลสุขภาพถ้วนหน้าของสังคมที่นั่น 

การศึกษาที่นั่นจัดให้แบบฟรีทั้งหมด ไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย เรื่องพวกนี้เป็นพื้นฐานชีวิต ที่ทำให้ทุกคนเริ่มต้นเท่าเทียมกัน ที่นั่นจะไม่มีการแบ่งว่าคนจนเท่านั้นที่ได้รับสวัสดิการ เพราะเมื่อสมัยก่อนนานมาแล้วเคยทำเช่นนี้ พบว่าในห้องเรียนเกิดการแบ่งแยกกันระหว่างเด็กที่ถูกติดป้ายว่ายากจนกับเด็กที่พอมี จึงยกเลิกการจัดสวัสดิการแบบแบ่งแยก 

การจัดให้ทุกคนถ้วนหน้า ยังทำให้สังคมโดยรวมมองว่าสวัสดิการเป็นสิ่งที่ต้องหวงแหน ไม่ปล่อยให้คนบางกลุ่มต่อสู้ให้ได้มาโดยเพียงลำพัง และระดับของสวัสดิการก็ดีขึ้นด้วย ถือเป็นของส่วนรวม ไม่ใช่ของบริจาค

แน่นอนครับ จะทำเช่นนี้ได้ ประชาชนก็ต้องพร้อมจ่ายภาษีในระดับที่สูงไปด้วย แต่ผู้คนที่นั่นเขาก็มีความเชื่อมั่นอย่างมาก คอร์รัปชันมีน้อย และผลที่ได้กลับมาจากภาครัฐ นั้นจับต้องได้ การเมืองตอบสนองต่อประชาชน

ที่สังคมเขาจัดสวัสดิการเสียดีเลิศได้ ไม่ใช่ว่าเพราะสังคมเขารวยนะครับ แต่เพราะเขาจัดสวัสดิการ เขาจึงรวยต่างหาก

คุณฐณฐ จินดานนท์ บรรณาธิการหนังสือเศรษฐกิจ ผู้เคยไปเรียนประวัติศาสตร์เศรษฐกิจมากจากสวีเดน เล่าให้ฟังว่า ประเทศแถบสแกนดิเนเวียสมัยก่อนจัดว่ายากจนในหมู่ยุโรป แต่การรวมตัวอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของกลุ่มสหภาพแรงงาน ทำให้สามารถเจรจากับนายจ้างจนได้ค่าแรงมากขึ้น ได้สวัสดิการมากขึ้น 

ครั้นอุตสาหกรรมเผชิญสภาพที่ต้นทุนเพิ่มเช่นนี้ ก็รังแต่จะขายของถูกไม่ได้ ก็ต้องพัฒนาด้านคุณภาพและเทคโนโลยีให้มากขึ้น แรงงานที่มั่นคงก็สามารถพัฒนาตนได้ต่อเนื่องมากกว่าด้วย ประสิทธิภาพการทำงานของผู้คนแถบนี้จึงสูงกว่าส่วนอื่นของโลก แม้จะเห็นว่าทำงานน้อยกว่าใครเขาก็ตาม กระบวนการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นสั้นๆ นะครับ ต่อเนื่องแทบจะเป็นร้อยปีเลยทีเดียว

จบแล้วก็นึกถึงพี่ตูนเลยนะครับ เราคงจะจบแค่การพึ่งพี่ตูนไม่ได้ แต่ต้องมองไกลว่า จะสร้างสวัสดิการด้วยคุณค่าแบบใดจากสังคมเรา

 โดย...

ปกรณ์ เลิศเสถียรชัย

สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย