วางแผนภาษี รับปีใหม

วางแผนภาษี รับปีใหม

วางแผนภาษี รับปีใหม

ช่วงปลายปีแบบนี้เป็นช่วงที่ผู้เสียภาษีเงินได้หลายคนหาซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อนำมาลดหย่อนภาษี วันนี้ผมขอแนะนำวิธีการและแนวคิดดีๆ ของคุณธีรพัฒน์ มีอำพล Wealth Strategist ของ Wealth Creation International(WCI) ผู้เชี่ยวชาญการบริหารการเงินและภาษี เพื่อนำมาวางแผนบริหารเงินที่เรามีในช่วงสิ้นปีนี้กันครับ

ผลิตภัณฑ์ทางการเงินอะไรบ้างที่เราสามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้

กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)

LTF เป็นกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในหุ้นไทย ไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน เหมาะสำหรับผู้ที่อยากให้เงินลงทุนมีโอกาสงอกเงย สามารถรับความเสี่ยงได้สูงจากการลงทุน ซึ่งอาจมีโอกาสขาดทุนหรือกำไรได้ โดยผู้ลงทุนสามารถลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี โดยที่ไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี ลงทุนปีไหนก็ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ในปีนั้น และต้องถือครองอย่างน้อย 7 ปีปฏิทิน

LTF เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนในหุ้นระยะยาวแต่อาจไม่มีความชำนาญเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นหรือไม่มีเวลาติดตามการลงทุนอย่างใกล้ชิด หรือไม่อยากลงทุนต่อเนื่องทุกปี เหมือนประกันชีวิตหรือ RMF

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

RMF การลงทุนแบบผูกพันระยะยาว โดยมุ่งหวังให้ผู้ลงทุนมีเงินไว้ใช้ยามเกษียณ มีนโยบายการลงทุนให้เลือกหลากหลายประเภท ตั้งแต่ความเสี่ยงต่ำ ไปจนถึงความเสี่ยงสูง เราสามารถเลือกให้เหมาะกับความเสี่ยงที่เรารับได้

ซึ่งนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษี และต้องไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข. ประกันชีวิตแบบบำนาญ กองทุนการออมแห่งชาติ และกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน

โดยต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี (เว้นได้ไม่เกิน 1 ปี ติดต่อกัน) และลงทุนต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปีเต็ม นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก (การนับ 5 ปีให้นับเฉพาะปีที่มีการซื้อ RMF เท่านั้น) ลงทุนปีไหน ก็ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ปีนั้น และขายคืนได้เมื่อลงทุนต่อเนื่องจนถึงอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี

เบี้ยประกันชีวิต

ประกันชีวิตเหมาะกับผู้ที่ต้องการสร้างหลักประกันให้กับครอบครัว มีภาระ หรือมีคนข้างหลังที่ต้องดูแล ซึ่งมีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุน LTF และ RMF เพราะมีอัตราการรับเงินคืนที่แน่นอน ไม่ผันผวนตามกระแสการลงทุนของกองทุนอีกด้วย โดยสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายในแต่ละปีมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี โดยต้องเป็นประกันชีวิตที่มีระยะเวลาความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป

และในปีนี้มีการเพิ่มค่าลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพตนเองที่จ่ายไปตั้งแต่ 1 มกราคม 2560 ใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้วจะต้องไม่เกิน 100,000 บาทด้วย

เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ

ประกันชีวิตแบบบำนาญเหมาะกับคนที่อยากออมเงินเพื่อการเกษียณที่ต้องการความแน่นอนของเงินเกษียณส่วนหนึ่ง เพื่อให้ตอนเกษียณมีเงินที่จะได้แน่ๆก้อนหนึ่งไว้ใช้ทุกปี เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญสามารถนำมาลดหย่อนได้ ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 200,000 บาท และอาจจะลดหย่อนได้สูงสุด 300,000 บาท ถ้ายังไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป

เพื่อเป็นแนวทางผมจึงเลือกพิจารณาจากในแต่ละช่วงอายุ ว่าจะต้องมีการวางแผนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินข้างต้นอย่างไรจึงจะเหมาะสม

1.วัยเริ่มต้นทำงาน (21-30 ปี)

วัยเริ่มต้นของการมีรายได้เป็นของตนเอง หากเงินเดือนยังไม่ถึงเกณฑ์ อาจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเลย แต่ถ้าเริ่มมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี ก็ลองใช้กองทุน LTF

2.วัยเริ่มสร้างครอบครัว (31-40 ปี)

เป็นวัยที่ต้องเพิ่มพูนความมั่งคั่งให้กับตัวเอง ส่วนมากเริ่มมีรายได้ที่มากกว่าเดิม การวางแผนภาษีเลยจำเป็นมากขึ้น เป้าหลายคนมุ่งไปที่การสร้างครอบครัว และออมเงินไว้เพื่ออนาคต การวางแผนของวัยนี้จึงควรให้ความสำคัญกับการปกป้องความเสี่ยงให้ครอบครัวด้วยการซื้อประกันชีวิต และออมเงินด้วยการลงทุนผ่าน LTF

3.วัยการงานมั่นคง (41-50 ปี)

วัยที่ต้องเริ่มจริงจังกับการวางแผนเกษียณอย่างเป็นระบบเพราะเหลือระยะเวลาในการหารายได้อีกไม่นาน โดยเพิ่มการลดหย่อนภาษีด้วยการออมให้มากขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็น RMF หรือ ประกันชีวิตแบบบำนาญ แต่ต้องจัดการวางแผนให้พอดีกับช่วงเวลาเกษียณ

4.วัยก่อนเกษียณ (51+)

วัยเตรียมความพร้อมวัยเกษียณ โดยเพิ่มการลดหย่อนภาษีด้วยการออมให้มากขึ้นหรือเต็มสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ LTF RMF หรือประกันชีวิตแบบบำนาญ แต่ทั้งนี้ต้องระวังเรื่องความเสี่ยงในการลงทุนใน LTF หรือ RMF ที่ลงทุนในหุ้นหรือสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงเพราะมีโอกาสที่จะขาดทุนหรือกำไรได้

เรื่องวางแผนภาษีไม่มีหลักเกณฑ์ที่ตายตัว เพราะขึ้นอยู่กับเป้าหมายการเงินของแต่ละบุคคล การลดหย่อนภาษีเป็นเพียง “ผลประโยชน์ส่วนเพิ่ม” เท่านั้น แต่เราควรดูถึง “เป้าหมายการเงินที่แท้จริง” ของเราก่อนว่าควรใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินตัวไหนถึงจะเหมาะกับตัวเองมากที่สุดครับ