ถึงเวลาคิดเรื่อง กองทุนแห่งชาติ หรือยัง

ถึงเวลาคิดเรื่อง กองทุนแห่งชาติ หรือยัง

กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. เริ่มดำเนินการมาได้สองปี โดยตั้งเป้าหมายว่าจะมีสมาชิกขั้นต้นประมาณหนึ่งล้านคน แต่สองปีผ่านไป สมาชิกกองทุนอยู่

แต่สองปีผ่านไป สมาชิกกองทุนอยู่ที่ครึ่งหนึ่งของเป้าหมาย คือที่ห้าแสนคน 

จริงๆแล้ว กอช.มีจุดประสงค์ให้ประชาชนมีความมั่นคงด้านการเงินเพิ่มขึ้นเมื่อถึงเวลาเกษียณจากการทำงาน โดยรัฐบาลร่วมจ่ายเงินสมทบจำนวนหนึ่ง ไม่เกินปีละ 1,200 บาท ให้สมาชิกผู้ออม แต่ผู้ออมสามารถออมได้มากกว่าเงินสมทบจากรัฐบาล 

แต่ดูเหมือน กอช. ยังไม่สามารถดึงดูดให้ประชาชนเข้าเป็นสมาชิกได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ และขณะนี้กำลังจะกระตุ้นความสนใจโดยเพิ่มเงินสมทบจากรัฐเป็นไม่เกินปีละ 1,500 บาท พร้อมขยายฐานสมาชิกไปสู่เยาวชนอายุ 15 ปีขึ้นไป 

กอช. ทำงานคล้ายๆกับประกันสังคมในแง่ที่ว่าสมาชิกจะมีส่วนร่วมในการออมเหมือนที่ลูกจ้างต้องจ่ายเงินส่วนหนึ่งจากค่าจ้างที่ได้รับเข้าประกันสังคม ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็สมทบให้อีกส่วนหนึ่งเหมือนกัน จะต่างกันก็แค่กองทุนประกันสังคมนั้นมีส่วนที่นายจ้างต้องจ่ายสมทบด้วย แต่ กอช. ไม่มีนายจ้าง จึงไม่มีส่วนนี้ 

ประกันสังคม ไม่ใช่แค่การสร้างหลักประกันให้กับสมาชิกในขณะทำงาน แต่สร้างหลักประกันขณะทำงานพร้อมคืนเงินในลักษณะเงินบำนาญให้กับผู้ประกันตน ในขณะที่ กอช.ไม่มีการสร้างหลักประกันให้กับสมาชิกนอกจากเงินที่สมาชิกสามารถขอคืนได้เพื่อใช้ในยามต้องการเท่านั้น ตรงนี้จึงเป็นจุดอ่อน ที่ผู้ที่ต้องการสมัครเป็นสมาชิก กอช. ต้องพิจารณา เพราะประกันสังคมขณะนี้เปิดช่องให้มีการรับสมัครผู้ที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างองค์กรก็สามารถเป็นสมาชิกประกันสังคมได้แล้วเช่นกัน 

จึงเท่ากับว่าประกันสังคม กับการออมแห่งชาติจะมาจากฐานประชาชนเดียวกัน ในขณะที่ประกันสังคมจะได้เปรียบเพราะให้ความคุ้มครองมากกว่า

มีข้อน่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือทั้งประกันสังคมและการออมแห่งชาติมีเงินออมจากสมาชิกส่วนหนึ่ง และมีกฎหมายที่เปิดทางให้นำเงินออมนั้นไปลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุนได้ จึงสามารถใช้เงินทำงานเพื่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดแข็งของทั้งสองกองทุนที่ลดภาระของรัฐได้ในระดับหนึ่ง พร้อมทั้งเพิ่มการดูแลสมาชิกได้มากขึ้น ถ้าบริหารจัดการได้ดีและได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับการลงทุน

ตรงนี้ต่างจากบางกองทุนเช่นกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติที่ไม่มีเงินสมทบหรือร่วมจ่ายจากประชาชน รัฐบาลจึงต้องรับภาระแต่เพียงฝ่ายเดียว

สิ่งที่เป็นปัญหาก็คือ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนใดก็ตาม ภาระของทุกกองทุนก็คือจำนวนเงินที่ต้องใช้เพิ่มขึ้นเมื่อประชาชนที่เป็นสมาชิกทุกกองทุนเกษียณอายุการทำงานและทุกกองทุนต้องหาเงินมาจ่ายมากขึ้นเรื่อยๆและนานขึ้นเรื่อยๆ เพราะยิ่งประชาชนที่เป็นสมาชิกอายุยืนยาวขึ้นก็ต้องจ่ายกันจนกว่าจะตายจากกัน และที่สำคัญก็คือยิ่งมีกองทุนที่รัฐบาลร่วมจ่ายหรือสมทบมากเท่าไร ภาระของรัฐบาลก็มากขึ้นเท่านั้น แล้วรัฐบาลจะเอาเงินที่ไหนมาโปะ

บางทีอาจถึงเวลาที่รัฐบาลต้องคิดหาทางรวมกองทุนทั้งหลาย ระดมทรัพยากร เป็นการ pool resources เข้าด้วยกัน ลดต้นทุนค่าบริหารจัดการที่กระจายกันตามกองทุนต่างๆมาอยู่ ณ ที่เดียวกัน ใช้เทคโนโลยีเสริมสร้างประสิทธิภาพการบริหารจัดการแทนที่จะใช้พนักงานเจ้าหน้าที่จำนวนมากมายอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ

แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ถ้าทำไม่ได้ก็เพียงแต่เรายังก้าวไม่ได้ไกล แต่ถ้ารัฐบาลเกิดขาดงบประมาณดูแลกองทุนนับสิบๆกองทุนไม่ว่ากองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม เงินสวัสดิการข้าราชการ กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนชราภาพ กองทุนหมู่บ้าน กองทุนสงเคราะห์เรื่องต่างๆที่เป็นภาระติดพันกับงบประมาณระยะยาว

รัฐบาลจะทำอย่างไร