4 ธีมเศรษฐกิจไทยในปี 2018

4 ธีมเศรษฐกิจไทยในปี 2018

นบทความที่แล้ว ผู้เขียนได้กล่าวถึง 5 ธีมเศรษกิจโลกในปี 2018

สำหรับบทความนี้ ผู้เขียนขอฉาย 4 ธีมใหญ่ของเศรษฐกิจไทย ดังนี้

ธีมที่หนึ่ง เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอย่างทั่วถึง ?

ในปี 2017 เป็นปีที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวอย่างพร้อมเพรียง (Synchronized Growth) ซึ่งเศรษฐกิจไทยก็ได้รับอานิสงส์ดังกล่าว โดยจะเห็นได้ว่า ภาคเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวคือ ภาคการส่งออกและภาคท่องเที่ยว โดยตัวเลขของการส่งออกกลับมาเพิ่มขึ้นในระดับ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน อันเป็นระดับเดียงกับช่วงปี 2012-13 อีกครั้ง ขณะที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวก็เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 34 ล้านคนต่อปี

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมองว่า ภาพเศรษฐกิจต่างประเทศที่ฟื้นขึ้นไม่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างทั่วถึง (Broadening) ซึ่งหากพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศก็สะท้อนภาพนั้นชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นภาคการบริโภคและการลงทุนที่ฟื้นตัวแต่ภาคที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจระดับบน ขณะที่เศรษฐกิจฐานรากรวมถึงธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) ยังคงไม่ฟื้นตัว

ผู้เขียนเชื่อว่า ภาพเศรษฐกิจ 2 ขั้วเช่นนี้ จะยังดำเนินต่อเนื่องไปในปี 2018 แต่หากเศรษฐกิจจะขยายตัวอย่างทั่วถึงได้นั้น จะต้องเห็นการฟื้นตัวใน 3 จุดที่เกี่ยวเนื่องกัน ได้แก่ เงินเฟ้อ ภาคเกษตร และแรงงานระดับล่าง

ในส่วนของเงินเฟ้อที่หายไปนั้น แม้ว่าจะเป็นปรากฎการณ์ระดับโลก แต่สำหรับประเทศไทยจะเห็นว่ายาวนานกว่า โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ดัชนีเงินเฟ้อไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจภายในของไทยฝืดเคือง ทำให้ผู้ผลิตไม่มีกำลังในการตั้งราคา (Pricing Power) ราคาสินค้าจึงไม่ปรับขึ้น และทำให้ประชาชนเริ่มคาดหวังว่าราคาจะไม่ปรับขึ้นอีกในอนาคต และเกิดภาวะที่ “จมอยู่กับเงินฝืด” (Deflationary Mindset)

สำหรับผู้ผลิต เมื่อไม่สามารถปรับราคาเพิ่มขึ้นได้ สิ่งที่ทำได้คือกดต้นทุนโดยเฉพาะค่าจ้างให้อยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น เราจึงเห็นค่าจ้างของแรงงานไม่เพิ่มขึ้นเลยในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา นอกจากนั้น นายจ้างยังเริ่มปรับลดคนงานโดยเฉพาะระดับล่างลง และนำเครื่องมือเครื่องจักรเข้ามาแทน (Automation) ทำให้ค่าจ้างไม่ปรับขึ้น และเมื่อค่าจ้างไม่ขึ้น การบริโภคก็ไม่มา เงินเฟ้อก็จะยังต่ำอยู่ต่อเนื่อง

อีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้เงินเฟ้อยังต่ำและกดการบริโภคในอนาคต คือ รายได้ภาคเกษตรที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่เป็นแนวโน้มขาลงอยู่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าเกษตรสำคัญอย่าง ข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง ซึ่งหากราคายังอยู่ระดับต่ำเช่นนี้ต่อเนื่อง ก็จะยังทำให้รายได้เกษตรกรตกต่ำ ส่งผลต่อเงินเฟ้อและการบริโภคในระยะต่อไป

ธีมที่สอง 2018 จะเป็นปีทองของการลงทุนหรือไม่ ?

อาจกล่าวได้ว่า จุดอ่อนที่สำคัญจุดหนึ่งของไทยคือการลงทุนโดยเฉพาะภาคเอกชนที่อยู่ในระดับต่ำตั้งแต่ปี 2014 ที่วิกฤตการเมืองไทยเริ่มรุนแรง และไม่เคยฟื้นตัวมานับจากนั้น อย่างไรก็ตาม หน่วยงานเศรษฐกิจของทางการต่างคาดว่าการลงทุนภาครัฐจะฟื้นตัวแรงในปีหน้า และส่งผลให้การลงทุนเอกชนฟื้นตัวตามในช่วงต่อไป (Crowding-in Effect)

ผู้เขียนเชื่อว่าการลงทุนของไทยอาจฟื้นตัวขึ้นบ้างในระยะต่อไป แต่คงไม่ได้กลับไปขยายตัวในระดับ 2 หลักดังเช่นในอดีต โดยในส่วนการลงทุนภาครัฐ แม้ว่างบประมาณลงทุนภาครัฐจะเพิ่มขึ้นมากในปีหน้า (ทั้งงบรัฐบาลกลาง งบรัฐวิสาหกิจ รวมถึงโครงการร่วมภาครัฐและเอกชนหรือ PPP) จากประมาณ 9.5 หมื่นล้านบาทในปีนี้เป็น 1.3-2.4 แสนล้านบาทในปีหน้า แต่ก็เป็นไปได้ที่หลายโครงการจะล่าช้ากว่าคาด เนื่องจากอุปสรรคหลายประการ เช่น กระบวนการประมูล การจัดซื้อจัดจ้าง และการต่อต้านจากชุมชน เป็นต้น

ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชน แม้ว่าน่าจะเพิ่มขึ้นบ้างในภาคการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกที่ขยายตัวดี แต่ภาคการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศน่าจะลงทุนในระดับต่ำกว่า เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีสัดส่วนของภาคบริการ (ซึ่งไม่ต้องการการลงทุนขนาดใหญ่) เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ศักยภาพเศรษฐกิจไทยที่ลดลงทำให้ผู้ประกอบการไทยหันไปเน้นการลงทุนในต่างประเทศหรือเลือกที่จะทำการควบรวมกิจการ (M&A) มากกว่า

ธีมที่สาม ภาคการเงิน: เอ่อล้นแต่ตึงตัว?

อาจกล่าวได้ว่า ในช่วงที่ผ่านมา ภาพรวมภาคการเงินรวมถึงนโยบายการเงินมีลักษณะย้อนแย้ง โดยอาจแบ่งได้เป็น 2 จุด คือ ในส่วนนโยบายการเงิน และในส่วนภาคสถาบันการเงิน

ในประเด็นนโยบายการเงินนั้น หากพิจารณาจากสภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ซึมเซาและเงินเฟ้อต่ำ รวมถึงอัตราการหมุนของเงิน (Money Velocity) ต่ำนั้น ดอกเบี้ยนโยบายควรต่ำกว่าปัจจุบัน แต่เนื่องจากทางการกังวลเรื่องว่าดอกเบี้ยที่ต่ำอาจนำไปสู่การลงทุนแบบสุ่มเสี่ยง จึงคงดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูง (กว่าเงินเฟ้อ) และหันไปใช้เทคนิคทางการเงิน อันได้แก่การลดปริมาณการออกพันธบัตรลง ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายมาก (หรือมองอีกแง่หนึ่งคือ สภาพคล่องสูง) แต่สถาบันการเงินกลับไม่ปล่อยสินเชื่อ ส่งผลให้ภาคธุรกิจ (โดยเฉพาะ SMEs) ที่สายป่านสั้นเกิดภาวะการเงินตึงตัว

ผู้เขียนมองว่าภาวะย้อนแย้งเช่นนี้จะอยู่ต่อไปอีกพักหนึ่ง จนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างทั่วถึง ทำให้สถาบันการเงินมั่นใจว่าสินเชื่อที่ปล่อยไปจะได้คืน จึงจะหันมาปล่อยสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม โอกาสที่สินเชื่อจะกลับมาขยายตัวในระดับสูงดังเช่นในอดีตคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากหนี้ภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ในระดับสูง และการคุมเข้มจากภาครัฐจะทำให้สถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อมากเท่าในอดีต

ธีมที่สี่ การเมือง: ไม่ตายแต่ไม่โต?

ในประเด็นนี้ หลายฝ่ายมองว่าในปีหน้าการเมืองจะเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย โดยหากมีการเลือกตั้งในปลายปีหน้านั้น อาจทำให้ความเสี่ยงทั้งจากนโยบายประชานิยม รวมทั้งความขัดแย้งอาจกลับมา แต่ผู้เขียนมองว่า โอกาสรวมถึงความเสี่ยงดังกล่าวอาจไม่มากนัก เนื่องจากกลไกของรัฐ 3 ประการ คือ ประชารัฐ รัฐธรรมนูญใหม่ และยุทธศาสตร์ชาติ

กระบวนการทั้งสามจะทำให้การดำเนินนโยบายประชานิยมเช่นในอดีตยากขึ้น เนื่องจากโอกาสที่พรรคการเมืองหนึ่งใดจะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว รวมถึงผลักดันนโยบายที่หาเสียงไว้ทำได้ยากขึ้น แต่ก็จะทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลใหม่ค่อนข้างต่ำ และอาจไม่สามารถบริหารงานได้เต็มที่ เพราะติดในประเด็นข้อกฎหมายต่าง ๆ

เหล่านี้คือธีมเศรษฐกิจไทยในปีหน้าที่ยังเต็มไปด้วยความเสี่ยง ท่านผู้อ่านทั้งหลาย จงอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด

[1] บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่