ทยอยเก็บหุ้นไทยเข้าพอร์ต

ทยอยเก็บหุ้นไทยเข้าพอร์ต

ทยอยเก็บหุ้นไทยเข้าพอร์ต

การเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นไทยแบบ Sideway ในระดับดัชนีประมาณ 1,700 จุด และคาดหวังว่าเม็ดเงินลงทุนในช่วงปากปีจากกองทุน LTF/RMF อีกประมาณ 3 หมื่นล้านบาท น่าจะช่วยพยุงระดับดัชนีให้ยืนอยู่ได้ หลายท่านคงมีคำถามว่า มีมุมมองต่อทิศทางปีหน้าดัชนีจะสามารถปรับตัวขึ้นสูงกว่าปีนี้หรือไม่อย่างไร

สำหรับบลจ.วรรณ เราเชื่อว่าโอกาสการปรับตัวของดัชนีปีหน้าสามารถแตะระดับ 1,884 จุด จากปัจจัยหลักในแง่ของปัจจัยพื้นฐานการเติบโตของในประเทศ เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว หลังจาก GDP ในไตรมาส 3/60 ส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง 4.3%  และมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะการส่งออกและการท่องเที่ยว การบริโภคภายในประเทศ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภาครัฐยังคงกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ผ่านนโยบายภาคการลงทุนต่างๆ อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง EEC ที่มีขนาดเม็ดเงินโครงการกว่า 750,000 บาท ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในปีหน้า นอกจากนี้ กรอบเวลาการเลือกตั้งในเดือนพ.ย. 61 เชื่อว่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันตลาดหากสามารถดำเนินได้ตามกรอบเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ แนวโน้มกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่น่าจะปรับตัวดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ประกอบกับราคาน้ำมันดิบปีหน้าจะยืนเหนือ 50 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรลและเอื้อให้ตลาดทรงตัวอยู่ได้

ในแง่ Valuation ของ ตลาดหุ้นไทยถือว่ามี Valuation สูงกว่าค่าเฉลี่ยภูมิภาค ในขณะที่ Dividend Yield 2018 ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีอยู่ที่ระดับ 2.96% จากปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 2.73% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในปี 61ที่ระดับ 2.67% และ 2.47% ในปี 60   โดยประเมินการเติบโตของกำไรจากการดำเนินธุรกิจ(Earning) ในปีหน้าอยู่ที่ระดับ 10.0% 6.4% โดยเฉพาะอย่างยิ่งคาดการณ์ผลกำไรจากการดำเนินธุรกิจหลัก(Core Earning) อยู่ที่ระดับ 9.9% ในปีหน้า จากผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจส่งผลให้นักวิเคราะห์ปรับเพิ่มประมาณการของผลประกอบการของปี 61

สำหรับ Downside Risk ของตลาด คาดว่าน่าจะยังมีอยู่บ้างแต่เชื่อว่าการปรับตัวลงค่อนข้างจำกัด จากแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทยที่ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดย Sector ที่มีความน่าสนใจในปีหน้า อาทิ  หุ้นในกลุ่มธนาคาร ซึ่งมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการเบิกจ่ายเงินลงทุนของภาครัฐและภาคการส่งออก ทั้งนี้ คาดการณ์อัตราการเติบโตของสินเชื่อขยายตัวในปีหน้า 5.7% จากปีนี้ 4.5% ขณะที่ ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปีหน้าคาดว่าจะลดลงและการขยายตัวของเศรษฐกิจและการปล่อยสินเชื่อจะทำให้กำไรของธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มดีขึ้น หุ้นกลุ่มค้าปลีก ซึ่งจะเติบโตขึ้นตามการบริโภคที่ฟื้นตัว รวมถึง หุ้นในกลุ่มสื่อโฆษณา โดยในไตรมาส 4/17 นี้ จากการสำรวจของ Neilson คาดว่า ค่าใช้จ่ายค่าโฆษณาจะฟื้นตัวราว 12% -14% และจะฟื้นตัวต่อเนื่องอีกประมาณ 5%-10%  รวมถึง การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย EEC ที่จะทำให้มีเม็ดเงินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใน 3 จังหวัด ที่เอื้อต่อการลงทุน การจ้างงานและการบริโภค

 อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ลงทุนที่สนใจเข้าลงทุนในตลาดหุ้นไทย กลยุทธ์การทยอยเข้าลงทุนของดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ที่นักลงทุนยังรอติดตามผลการประชุมการขยายเพดานหนี้ของสหรัฐฯ รวมถึงวันหยุดยาวติดต่อกัน จะเป็นโอกาสสำหรับการจัดสรรพอร์ตการลงทุนของหุ้นไทยในปีหน้า ครับ