เงินสกุลท้องถิ่น หนึ่งทางเลือกค้าขายเพื่อนบ้าน

เงินสกุลท้องถิ่น หนึ่งทางเลือกค้าขายเพื่อนบ้าน

ในยุคที่การแข่งขันของโลกธุรกิจทั้งในและต่างประเทศมีความเข้มข้นมากขึ้น ผู้ประกอบการต่างต้องพยายามปรับปรุง

สินค้าและบริการของตนไปพร้อมกับการลดต้นทุนต่างๆ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ การช่วยภาคเอกชนลดต้นทุนทางการเงินในการทำธุรกิจจึงเป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ให้ความสำคัญมาโดยตลอด 

หนึ่งในแนวทางที่ ธปท. ได้ดำเนินการก็คือการส่งเสริมให้มีการใช้เงินบาทและเงินสกุลท้องถิ่นอื่นๆ ชำระค่าสินค้าและบริการ เพื่อเป็นทางเลือกในการชำระเงินสำหรับธุรกรรมระหว่างประเทศเพิ่มเติมจากการใช้เงินสกุลหลัก เช่น ดอลลาร์ และยูโร ที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีความผันผวนมาก

การใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการชำระค่าสินค้าและบริการระหว่างประเทศ นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลหลักที่ผันผวนมากแล้ว ยังจะช่วยลดต้นทุนในการแปลงเงินบาทเป็นเงินตราต่างประเทศเพื่อชำระค่าสินค้านำเข้า หรือแปลงรายรับที่เป็นเงินตราต่างประเทศกลับเป็นเงินบาทอีกด้วย 

ปัจจุบัน การค้าขายระหว่างไทย กับประเทศเพื่อนบ้านกว่า 90% ของมูลค่าธุรกรรมทั้งหมดเป็นการชำระเงินด้วยดอลลาร์ สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะความไม่สะดวกในการใช้เงินสกุลท้องถิ่น ดังนั้น ธปท. จึงได้พยายามหาทางช่วยให้การชำระเงินเป็นสกุลท้องถิ่นมีความสะดวกมากขึ้น 

ที่ผ่านมา ธปท. ได้จับมือกับธนาคารกลางมาเลเซียและอินโดนีเซียผ่อนคลายระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมเงินบาท ริงกิต และรูเปี๊ยะห์  ให้แก่ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ที่ได้รับการคัดเลือกให้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการ quote อัตราแลกเปลี่ยน ทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงิน และบริหารเงินทั้งสองสกุลกับลูกค้าในไทย (หรือที่เรียกว่า Appointed Cross Currency Dealer: ACCD)

ในส่วนของความร่วมมือกับธนาคารกลางมาเลเซียนั้น ได้มีการผ่อนคลายระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมเงินบาทและเงินริงกิตให้แก่ ธพ. ที่เป็นตัวกลางในการธุรกรรมไปแล้วตั้งแต่ต้นปี 2559 และจากข้อมูลพบว่ามีการใช้เงินบาท และเงินริงกิตเพื่อชำระค่าสินค้า และบริการระหว่างไทยและมาเลเซียเพิ่มมากขึ้นในระดับที่น่าพอใจ

เมื่อเทียบข้อมูลการชำระเงินของเดือนต.ค.ปีนี้กับปีที่แล้ว พบว่าเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว รวมทั้ง spread ของอัตราแลกเปลี่ยนเงินริงกิตกับเงินบาทก็แคบลงด้วย โดยจากกราฟจะพบว่า spread ทั้งที่เป็น direct quotation และ indirect quotation มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เงินสกุลท้องถิ่น หนึ่งทางเลือกค้าขายเพื่อนบ้าน

จากพัฒนาการที่เกิดขึ้น ธนาคารกลางทั้งสองประเทศจึงได้พิจารณาผ่อนคลายระเบียบต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจมากยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในต้นปีหน้า โดยการผ่อนคลายเพิ่มเติมที่สำคัญในครั้งนี้ คือ การขยายขอบเขตธุรกรรมให้ครอบคลุมการลงทุนโดยตรง และการโอนเงินรายย่อยด้วยจากเดิมที่ครอบคลุมเฉพาะการชำระค่าสินค้าและบริการเท่านั้น รวมทั้งเพิ่มจำนวน ธพ. ที่เป็น ACCD เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ได้มากขึ้น มีการแข่งขันระหว่างกันมากขึ้นเพื่อนำไปสู่ต้นทุนในการทำธุรกรรมทางการเงินของผู้ประกอบการที่ถูกลงในที่สุด 

โอกาสเดียวกันนี้ธปท. ยังได้ร่วมกับธนาคารกลางอินโดนีเซียผ่อนคลายระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมเงินบาทและเงินรูเปี๊ยะห์ให้แก่ ธพ. ที่ได้รับการคัดเลือกในลักษณะที่คล้ายความร่วมมือที่ได้ทำกับธนาคารกลางมาเลเซีย โดยในระยะแรก จะครอบคลุมเฉพาะค่าสินค้าและบริการก่อน และจะมีการพิจารณาผ่อนคลายเพิ่มเติมตามความต้องการของภาคธุรกิจต่อไปในอนาคต 

เราลองมาดูกันสักหน่อยว่า ความร่วมมือดังกล่าวช่วยลดต้นทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนให้แก่ภาคธุรกิจได้อย่างไร 

อันดับแรกคือ ความร่วมมือนี้ช่วยให้ภาคธุรกิจไทยสามารถมีบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศเป็นเงินสกุลริงกิตหรือรูเปี๊ยะห์กับ ธพ. ได้  แม้ปัจจุบัน ธปท. อนุญาตให้ประชาชนเปิดบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit : FCD) กับ ธพ. ได้อยู่แล้ว แต่ทางการมาเลเซียและอินโดนีเซียยังไม่อนุญาตให้มีการเปิดบัญชีริงกิต และรูเปี๊ยะห์นอกประเทศของตน ดังนั้น หากไม่มีความร่วมมือนี้ ธพ. ก็ไม่สามารถรับฝากเงินริงกิตหรือรูเปี๊ยะห์กับลูกค้าได้ 

การที่ผู้ส่งออกไทยสามารถฝากเงินริงกิตหรือรูเปี๊ยะห์ ที่ได้รับจากการขายสินค้าหรือบริการไว้ในบัญชี FCD กับ ธพ. ไทยได้ โดยอาจรอแลกเป็นเงินบาทในภายหลัง หรือเพื่อเตรียมชำระภาระอื่นๆ ในอนาคต จะช่วยให้ไม่ต้องเสียส่วนต่างจากการซื้อขายเงินตราต่างประเทศหลายรอบ 

นอกจากนี้ ผู้นำเข้าที่จะต้องจ่ายเงินริงกิตหรือรูเปี๊ยะห์ ก็สามารถซื้อเงินเพื่อฝากเข้าบัญชี FCD สำหรับเตรียมชำระภาระต่างๆ ในอนาคตได้เช่นกัน 

ความร่วมมือดังกล่าวยังทำให้ภาคธุรกิจไทยสามารถกู้ยืมเงินเพื่อการค้าและการบริการ (trade finance) เป็นเงินสกุลริงกิตหรือรูเปี๊ยะห์กับ ธพ. ได้ ซึ่งแม้ว่าตามระเบียบปัจจุบัน ธพ. สามารถปล่อยกู้เป็นเงินตราต่างประเทศได้อยู่แล้ว แต่เนื่องจากริงกิตและรูเปี๊ยะห์เป็นสกุลเงินที่มีใช้อยู่เฉพาะภายในประเทศมาเลเซียหรืออินโดนีเซียเท่านั้น ธพ. จึงไม่มีริงกิตหรือรูเปี๊ยะห์ที่จะสามารถปล่อยกู้แก่ลูกค้าได้ 

แต่ภายใต้ความร่วมมือนี้เมื่อมีลูกค้าต้องการกู้ยืมเงินริงกิตหรือรูเปี๊ยะห์เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ ธพ. ก็สามารถกู้เงินริงกิตหรือรูเปี๊ยะห์ จาก ธพ. ในมาเลเซียหรืออินโดนีเซีย เพื่อมาปล่อยกู้ต่อให้แก่ลูกค้าได้ นี่จึงเป็นความคล่องตัวอีกรูปแบบหนึ่งให้แก่ภาคธุรกิจที่จะสามารถเลือกกู้เงินให้ตรงกับสกุลเงินที่ต้องการใช้จริง 

สุดท้ายนี้ ก็หวังว่าความร่วมมือระหว่างธนาคารกลางข้างต้น จะช่วยเพิ่มทางเลือกในการชำระเงินสำหรับการค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น และจะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำหรับภาคเอกชนในการลดต้นทุนทางการเงิน ตลอดจนช่วยให้ภาคเอกชนสามารถแข่งขันในโลกธุรกิจปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น 

แน่นอนว่าการตอบรับที่ดีจากภาคเอกชนก็จะเป็นแรงผลักดันให้มีการจัดทำความร่วมมืออื่นๆ เพื่อส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

 

โดย... มุจลินท์ นวลนิ่ม