เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนมนุษย์

เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนมนุษย์

เป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่า ในอนาคตอันใกล้ คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เทคโนโลยี หุ่นยนต์ หรือเครื่องจักรจะเข้ามาทดแทนการทำงานและอาชีพต่างๆ ของคนเรา

แต่คำถามที่ทุกคนจะยังมีอยู่คือ เทคโนโลยีจะทดแทนการทำงานของมนุษย์ได้มากน้อยเพียงใด และในอาชีพ หรือ สาขาใดบ้าง

ผมได้พบมีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารองค์กรธุรกิจหลายๆ ท่าน ซึ่งต่างแสดงความเห็นด้วยต่อแนวโน้มที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เหล่านี้ และหลายๆ องค์กรก็พยายามรีบเร่งปรับตัวในการนำเทคโนโลยีมาแทนมนุษย์ 

สาเหตุที่ผู้บริหารเหล่านี้มองถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้นนั้น หลักๆ ก็หนีไม่พ้นเรื่องผลิตภาพ หรือ Productivity ในการทำงานที่เทคโนโลยีมีสูงกว่า อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วเทคโนโลยีไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาในการทำงานเท่ามนุษย์ และในระยะยาวต้นทุนก็จะต่ำกว่าด้วย

ล่าสุด McKinsey Global Institute ได้เปิดเผยผลสำรวจเรื่องลักษณะของงานในอนาคต ภายใต้ผลการศึกษาชื่อ What the future of work will mean for jobs, skills, and wages โดยมีผลการศึกษาที่น่าสนใจหลายประการที่เกี่ยวกับลักษณะของงานในอนาคต การเข้ามาทดแทนมนุษย์ของเทคโนโลยี และสิ่งที่มนุษย์จะต้องปรับตัว

ประการแรกเทคโนโลยียังไม่สามารถทดแทนการทำงานของมนุษย์ได้ทั้งหมด มีอาชีพจำนวนไม่มาก (น้อยกว่า 5%) ที่เทคโนโลยีสามารถทดแทนงานที่มนุษย์ทำได้ทั้งหมด 

อย่างไรก็ดี 60% ของอาชีพที่มีในปัจจุบัน ที่เทคโนโลยีสามารถทดแทนการทำงานได้อย่างน้อย 1/3 ของงานที่มนุษย์ทำ แสดงให้เห็นว่าในอนาคตคนส่วนใหญ่จะต้องมีการปรับตัว และไม่สามารถทำงานในรูปแบบและลักษณะเดิมได้อีกต่อไป (เพราะงานอย่างน้อย 1/3 เทคโนโลยีสามารถเข้ามาทดแทนได้)

ประการที่ 2 ผลกระทบของเทคโนโลยีต่อการทำงานนั้นแตกต่างกันออกไปตามแต่ละวิชาชีพ อาชีพที่จะได้รับผลกระทบที่สุด จะเป็นอาชีพที่ทำงานภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการเก็บและประมวลผลข้อมูล 

ส่วนงานที่เทคโนโลยีจะมีผลน้อยกว่านั้น จะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการคน งานที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และงานที่ต้องมีการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น

ประการที่ 3 ทาง McKinsey ได้ให้คำแนะนำไว้ว่าผลกระทบของเทคโนโลยีต่อการทำงานจะแตกต่างกันออกไปตามแต่ละประเทศ โดย McKinsey ได้สร้างภาพจำลองไว้ว่าในปี 2030 ประเทศต่างๆ จะมีคนทำงานที่ถูกทดแทนเทคโนโลยีอยู่กี่คน (คิดเป็น FTE หรือ Full-time equivalents ที่เป็นการเทียบกลับมาเป็นจำนวนคน 1 คน) สำหรับประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือประเทศจีน 

สำหรับประเทศไทยนั้นภาพจำลองในอนาคตว่าคนไทยที่จะมีโอกาสถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีในการทำงานอยู่ที่ 6.9 ล้าน FTE

ประการที่ 4 ผลกระทบของเทคโนโลยีต่อการทำงาน ส่งผลต่อระดับการศึกษาพื้นฐานที่ต้องใช้ในการทำงานด้วย พบว่าอัตราการเติบโตของงานที่ใช้วุฒิการศึกษาที่ไม่สูงจะลดน้อยลง โดยถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีมากขึ้น ขณะที่งานที่ต้องอาศัยวุฒิการศึกษาที่สูง (ระดับอุดมศึกษาขึ้นไป) ยังคงมีการเติบโตอยู่

จากข้อมูลทั้งหมด ทำให้เห็นว่าในอนาคต (อันใกล้) ความท้าทายที่สำคัญทั้งสำหรับองค์กร และ บุคลากร ก็คือการปรับและเปลี่ยนแปลงพนักงาน (workforce transition) โดยสำหรับองค์กรนั้น ถ้าองค์กรไม่คิดที่จะปลดพนักงาน ก็จะต้องคิดและเตรียมพร้อมไว้แล้วว่า พนักงานเดิมที่ปฏิบัติงานในส่วนที่เทคโนโลยีจะเข้ามาทดแทนนั้น จะต้องมีการฝึกฝนทักษะใหม่ๆ อย่างไร เพราะการมาของเทคโนโลยีไม่ใช่ว่าจะทำให้งานหายไป แต่อาจจะมีงานชนิดใหม่ๆ ที่ต้องอาศัยทักษะใหม่ๆ มาทดแทน 

ส่วนตัวคนเองก็ต้องเริ่มคิดว่าด้วยทักษะ ความรู้ และงานที่ทำงานอยู่ในปัจจุบัน จะสามารถถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีหรือไม่ และควรจะหาหนทางเพิ่มทักษะใหม่ๆ ที่ยากจะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี