ปฏิรูปการศึกษาแบบไหนจึงจะได้ผล

ปฏิรูปการศึกษาแบบไหนจึงจะได้ผล

การเสียชีวิตของน้องเมย นักเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร ช่วยตอกย้ำอีกครั้งว่า เราจะต้องคิดและหาทางปฏิรูปการศึกษาอย่างลึก

จึงจะแก้ปัญหาความเชื่อ ค่านิยมที่หัวเก่า ล้าหลัง ของระบบบริหารจัดการศึกษาและฝึกอบรมของไทยได้

การบริหารการจัดการศึกษา หลักสูตร, การเรียนการสอนทั้งในสถาบันทหาร ตำรวจ และพลเรือน ควรจะอิงหลักเสรีประชาธิปไตยที่ใจกว้าง อิงหลักวิชาการ จิตวิทยาการเรียนรู้ การพัฒนาความฉลาดและวุมิภาวะ ทั้งทางปัญญา อารมณ์ และความฉลาดทางสังคม คิด วิเคราะห์ สังเคราะห์อย่างมีเหตุผลเป็น และรู้จักประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง วิชาชีพ และประเทศให้เจริญก้าวหน้าเพื่อสมาชิกทั้งหมด

การสอนแบบให้ท่องจำเชื่อฟังตามอาจารย์และตำราและเรียนเพื่อสอบเป็นเรื่องล้าสมัย ต้องเรียนแบบซักถาม อภิปราย ตามหลักวิชาการและเหตุผล วิเคราะห์ สังเคราะห์ ประยุกต์ นำไปใช้งานแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมได้จริงเป้าหมายสูงสุดคือ ให้ผู้เรียนวิเคราะห์ปัญหาที่เป็นจริงของประเทศไทยอย่างเจาะลึกมากพอที่จะจับประเด็นใหญ่ได้ว่าปัญหาที่เป็นรากเหง้าของไทยจริงๆ แล้วอยู่ที่ไหน ควรจะประยุกต์อย่างไรจึงจะเหมาะสมกับไทยซึ่งมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองและวัฒนธรรมที่มีทั้งปัญหาบางส่วนคล้ายประเทศอื่น และบางส่วนที่มีลักษณะเฉพาะของไทย

การจะปฏิรูปการศึกษาให้ได้ผลจริงต้องมียุทธศาสตร์ มีโครงการ ในการเปลี่ยนแปลง, หลักสูตร, วิธีการสอน การวัดผล, การประเมินติดตามผลสัมฤทธิ์เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติจริงได้ด้วย ไม่ใช่ทำแค่การเขียนเป้าหมาย หลักการ กฎหมาย โรดแมพ แผนพัฒนา ฯลฯ แบบสวยๆ เท่านั้น ต้องสามารถวิเคราะห์กันอย่างเจาะลึก อย่างวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำไมคนไทยถึงปฏิรูปการศึกษาไม่ได้จริงเหมือนคนอื่น

รัฐบาลไทยตั้งคณะกรรมการ, สภาปฏิรูป ฯลฯ ส่งคนไปดูงานต่างประเทศ จัดประชุมสัมมนาฝึกอบรมกันมาก แต่ไม่ได้ผล เพราะคนที่มีอำนาจคือ นายกฯ, คณะรัฐมนตรี, ผู้บริหารและครูอาจารย์ เกือบทั้งหมดมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการปฏิรูปการศึกษาน้อย พวกเขาได้รับการศึกษาแบบเก่า เรียนแบบท่องจำเพื่อสอบเอาคะแนนและประกาศนียบัตร ติดอยู่ในระบบขุนนางข้าราชการที่ทำงานไปตามระเบียบก็ได้ขึ้นเงินเดือนทุกปีอยู่แล้ว ไม่มีใครมาประเมินหรือเลิกจ้าง พวกเขาไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อผลหรือคุณภาพการจัดการศึกษา แค่การเพิ่มงบประมาณเพื่อเพิ่มปริมาณสถานศึกษา พวกเขาก็หาเสียงได้แล้ว

ปัญหาใหญ่คือ สังคมไทยไม่มีระบบที่จี้ตรวจสอบให้นักการเมืองและข้าราชการผู้บริหารจัดการศึกษาเหล่านี้ต้องรับผิดชอบต่อผู้เรียน, ต่อพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่เป็นเจ้าของประเทศและเสียภาษีมาเป็นงบประมาณการศึกษาปีละ 4-5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเงินเดือนของผู้บริหาร ครูอาจารย์ เสีย 80% ส่วนหนึ่งเพราะประชาชนเองก็รู้น้อยและแค่อยากให้ลูกหลานมีที่เรียน อยากให้ลูกหลานได้ประกาศนียบัตร/ปริญญามากกว่าได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ แม้ประชาชนเองจะลงทุนไปมาก เช่น ขายนาส่งลูกไปเรียนมหาวิทยาลัย เรียนจบมาแล้วไม่มีงานทำ ก็พอใจที่ได้ถ่ายรูปร่วมกับลูกที่ใส่เสื้อครุยเหมือนเทวดาในงานวันรับปริญญา

การปฏิรูปการศึกษาในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาที่ใช้ วิธีคิดทำงานแบบลอกเลียนรูปแบบบางอย่างของต่างประเทศ เช่น การปรับ 14 กรม มาเป็นคณะกรรมการ 5 แท่ง กระจายอำนาจสู่เขตการศึกษา การเขียนหลักสูตรที่ดูดี ฯลฯ ต้องล้มเหลวเพราะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระของกระบวนการคัดเลือก, ผลิตครู และการส่งเสริมให้ครูต้องทำงานแบบมืออาชีพที่ต้องมีคุณภาพสูง ไม่ได้มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงหลักสูตร, กระบวนการเรียนการสอน, การวัดผล เพื่อสร้างให้ผู้เรียนรักการอ่าน รู้วิธีการเรียน คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์เป็น, มีความรู้, ทักษะ, คุณสมบัติเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพในโลกศตวรรษที่ 21 ได้อย่างแท้จริง

ตัวปัญหาคือ ระบบการบริหาร (ทั้งการเมืองและระบบราชการ) แบบขุนนางที่มีลักษณะรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง และใช้อำนาจลดหลั่นกันลงมาเป็นชั้นๆ บุคลากรส่วนใหญ่คิดและทำงานแบบขุนนาง ทำตามระเบียบ, ตามเจ้านาย เพื่อประโยชน์ (ตำแหน่ง, รายได้) ของตนเอง ไม่จำเป็นที่ที่จะต้องรับผิดชอบต่อการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน แม้แต่ครูที่มีคุณภาพ, ความตั้งใจที่มีอยู่บ้าง ก็ต้องทำงานตามระบบ, สอนตามหลักสูตรที่เน้นเนื้อหา, ใช้เวลาบรรยายตามตำรามาก แต่ได้ผลน้อย ฯลฯ

องค์ความรู้จากงานวิจัย, งานวิเคราะห์ ว่าประเทศอื่นเขาปฏิรูปการศึกษาสำเร็จได้อย่างไรมีอยู่ และมีการแปล, สัมมนาฝึกอบรม ส่งผู้บริหาร ครูอาจารย์ไปดูงานต่างประเทศกันมาก นักวิชาการ, ผู้บริหารการศึกษา เขียนโรดแมพ, แผนพัฒนา, แผนปฏิรูป, ยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษา ฯลฯ ออกมาสวยๆ ว่าปัญหาคืออะไร จะต้องแก้ปัญหาตรงไหน ปฏิรูปกี่ด้าน แต่เวลาลงมือทำจริง พวกเขาได้แต่ทำงานแบบประนีประนอม แบบข้าราชการที่ค่อยทำไปเรื่อยๆ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น ปัญหาทุจริต โยกย้ายคน ฯลฯ ไปวันๆ รมต.ศึกษาฯไม่มีวิสัยทัศน์/ความกล้าที่จะปฏิรูปโครงสร้างแบบฟันธง ผ่าตัดใหญ่ เช่น เปลี่ยนแปลงปฏิรูปครูอย่างแท้จริง ไปเลียนแบบการทำงานตามต่างประเทศเป็นเรื่องๆ เช่น ประเทศอื่นครูเงินเดือนสูงก็เพิ่มเงินเดือน เพิ่มวิทยฐานะให้ครูที่ส่งผลงานวิชาการมาขอตำแหน่งกัน แต่ไม่ได้มีการฝึกอบรมครูใหม่ ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม, วิธีการสอน, การทำงานของครู ให้ทันสมัยและมีคุณภาพเพิ่มขึ้น ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนไทยในรอบ 10 ปีกลับตกต่ำ ส่วนทางกับการขึ้นเงินเดือนครู และการเพิ่มงบการศึกษา

ถ้าอยากให้ครูไทยคิดวิเคราะห์เป็น ควรจะกำหนดให้ทั้งผู้บริหารและครูทั้งประเทศไปเข้าสอบ วิชาการอ่าน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ตามแนวข้อสอบ PISA ของ OECD จะได้วัดว่าครูคนไหนมีความรู้ในวิชาพื้นฐานเรื่องการอ่าน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ที่ใช้งานแบบคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ได้อยู่ระดับไหน 

คะแนนใครออกมาต่ำ ก็จัดฝึกอบรมครูเหล่านั้น เพื่อไปสอบใหม่ ถ้าใครสอบอีกครั้งแล้วไม่กระเตื้องขึ้น ควรย้ายคนกลุ่มนี้ไปทำงานธุรการหรือให้ออกไปเลยเหมือนสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ที่มีการจัดสอบความรู้สอบพระทั่วประเทศ พระรูปไหนไม่มีความรู้จริงก็ให้สึกไป 

ถ้าวัดผลแล้วจำเป็นที่จะต้องเลิกจ้างครูจำนวนมากและยังผลิตครูดีๆ ได้ไม่ทัน ใช้วิธีระดมทรัพยากรผลิตตำรา หนังสืออ่านประกอบดีๆ และโปรแกรมการเรียนด้วยตนเองผ่านระบบคอมพิวเตอร์มาให้นักเรียน นักศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเองเป็น ยังจะดีกว่าการจ้างครูอาจารย์ที่มีคุณภาพต่ำหรือปานกลาง ที่ไม่เอาใจใส่การอ่านและการเรียนรู้พัฒนาตนเอง