ขยันเท่ากันแต่ประสบความสำเร็จไม่เท่ากัน

ขยันเท่ากันแต่ประสบความสำเร็จไม่เท่ากัน

การสำรวจผลตอบแทนของคนทำงานที่อังกฤษ พบความจริงที่ดูแปลกๆว่า คนทำงานในตำแหน่งเดียวกัน ขยันพอๆกัน เก่งในเรื่องคล้ายๆกัน แต่เงินเดือนไม่เท่ากัน

คนที่มาจากครอบครัวที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจสูงกว่าจะได้ค่าตอบแทนสูงกว่า คนขาวได้เงินเดือนมากกว่าคนผิวสีที่ทำงานในหน้าที่เดียวกัน 

ผลการสำรวจยังบอกไว้ด้วยว่า 7 ใน 10 ของคนที่เริ่มต้นทำงานเป็นครั้งแรก ใช้อิทธิพลของครอบครัว มากบ้าง น้อยบ้าง ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ในการได้งานการครั้งแรก หรือใครที่มาจากครอบครัวที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจสูงกว่า ย่อมมีโอกาสได้งานมากกว่า กลายเป็นว่า ความสำเร็จไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถเพียงอย่างเดียว ความสำเร็จยังต่างกันระหว่างคนมั่งมี กับคนยากจน ต่างกันตามชาติกำเนิด

ถ้าเชื่อแบบงมงายว่า ความสำเร็จมาจากเก่งบวกเฮง บางคนจะถอดใจไปเลยว่า ตัวฉันคงไม่มีวันประสบความสำเร็จ เพราะฉันไม่ได้มาจากครอบครัวร่ำรวย แล้วทำงานไปแบบเอาตัวรอดไปแต่ละวัน มากกว่าที่จะทุ่มเทใฝ่หาโอกาสที่จะสร้างความสำเร็จใหม่ให้เป็นที่ประจักษ์ ทำประหนึ่งว่ามีระดับความสำเร็จของแต่ละชนชั้นในการทำงานกำหนดไว้ตายตัว 

ถ้าเชื่อแล้วทำตัวตามนั้นจริงๆ ตัวท่านนั่นแหละ เป็นผู้กำหนดระดับความสำเร็จสำหรับแต่ละชนชั้นขึ้นมาเอง เพียงเพราะไปเชื่อว่า แข่งอะไรอื่นพอแข่งได้ แต่แข่งบุญแข่งวาสนาไม่ได้

ผลงานวิจัยทางพฤติกรรมการทำงานในเรื่อง availability heuristic พบว่า คนเราเชื่อมโยงความสำเร็จที่เกิดขึ้นในการทำงานกับอะไรก็ตามที่ตนเองคุ้นเคย หรือนึกได้เร็วๆ 

คนที่ทำงานขยันมากๆ จะนึกว่าความสำเร็จมาจากความขยัน ความพยายาม จนกล่าวว่า ที่ใดมีความพยายาม ที่นั่นต้องมีความสำเร็จเกิดขึ้นตามมา พอขยันแล้วความสำเร็จไม่เกิดขึ้นอย่างที่คาดคิดไว้ เราจะระลึกถึงเรื่องที่คุ้นเคยก่อน คือความขยันต้องทำให้เกิดความสำเร็จ พอขยันแล้วไม่สำเร็จอย่างที่คิดเอาไว้ ก็จะโยนว่าเป็นเรื่องของบุญวาสนา ทั้งๆ ที่ไม่ได้ลองนึกดูดีๆ ก่อนว่า งานนั้นจริงๆ แล้ว มีเรื่องเฮงที่เกิดขึ้นในขั้นตอนต่างๆ บ้างหรือไม่

การงานทุกงานจะประกอบขึ้นจากขั้นตอนการทำงานหลายๆ ขั้นตอน มาส่งต่อให้กันไปตามลำดับบ้าง คู่ขนานกันบ้าง ในบรรดาขั้นตอนเหล่านั้น มีโอกาสดีๆ เกิดขึ้นได้เสมอ หรือมีโชคดีเล็กบ้างใหญ่บ้างเกิดขึ้น เพียงแต่เราจะระลึกถึงเฉพาะที่คุ้นเคย คือ จำได้แต่ว่างานนี้หนักหนา ต้องขยันทำงานหนักมากขึ้น เราจำได้เฉพาะว่าต้องขยันมาก แต่ไม่จดจำว่ามีโชคช่วยในขั้นตอนใดบ้าง

เราจำแต่อุปสรรคที่นำมาสู่ความขยัน เพื่อเอาชนะอุปสรรคนั้น โชคผ่านมาแล้ว แต่ไม่เห็น เห็นแต่ความขยัน

ถ้าเชื่อว่าความสำเร็จมาจากความขยัน แต่ความสำเร็จไม่เกิดขึ้นดั่งที่คาดหวังไว้ ให้ทบทวนดูในทันทีว่า ที่ว่าขยันนั้น เราขยันถูกเรื่อง ถูกทางหรือไม่ 

ความสำเร็จจากความขยันจะเกิดขึ้น ตามความตั้งใจว่า อยากประสบความสำเร็จในเรื่องใด บวกกับความขยัน หรือความพยายามที่สอดคล้องกับความตั้งใจนั้น

ถ้าตั้งใจอยากประสบความสำเร็จในการเป็นคนเขียนโปรแกรมเกม แล้วขยันเล่นเกมอย่างเดียว ห้าปีสิบปีก็ไม่มีทางพบความสำเร็จ เพราะขยันไม่ตรงกับความสำเร็จที่ตั้งใจไว้ 

อยากเป็นคนเขียนเกมต้องขยันเขียนเกมส่งให้คนอื่นเล่น ไม่ใช่เล่นเกมที่คนอื่นเขียนไว้ ขยันไม่ถูกทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จที่ตั้งใจไว้ ขยันแค่ไหน ความสำเร็จก็ไม่เกิดขึ้น โชคร้ายจึงมักกลายเป็นข้ออ้างในการไม่บรรลุความสำเร็จอยู่เสมอ

ถ้าเชื่อว่าความสำเร็จมาจากโชคดี ให้เริ่มหูไวตาไวในระหว่างที่กำลังขยันทำงานนั้น ดูดีๆ ว่าขั้นตอนไหน เรามีโชคดีอะไรบ้าง เราได้โอกาสอะไรมาบ้าง เราได้ความอนุเคราะห์จากใครที่เราไม่เคยคาดหวังบ้าง เพื่อหาทางยืนยันให้ตนเองยอมรับว่างานนี้ยังพอมีโชคให้กับฉันบ้าง 

ศาสตราจารย์Robert H. Frank ที่ Cornell บอกว่า ถ้าตัวเราเชื่อว่าเรามีโชคดีอยู่บ้างในขั้นตอนแรกๆ ของการทำงานนั้น เราจะไขว่คว้าโอกาสที่สนับสนุนให้ทำงานในขั้นตอนต่อไปให้ประสบความสำเร็จได้ดีกว่าการเริ่มต้นด้วยความรู้สึกว่า เริ่มก็อับโชคจนล้มเหลวไปแล้ว 

อย่างไรก็ตาม ยังมีบ่อยครั้งที่เริ่มต้นก็ล้มเหลวไปเลย อย่าเพิ่งเร่งไปโทษว่าเป็นเพราะโชคไม่ดี ก่อนที่จะตรวจสอบให้แน่ใจจริงๆ ว่า ความสำเร็จที่เราตั้งใจไว้นั้น ใช่เส้นทางที่มีโอกาสเป็นไปได้สำหรับตัวเราจริงหรือไม่

 ก่อนจะตั้งใจว่าจะไปสิบจุดศูนย์ ต้องมั่นใจก่อนว่า สองจุดศูนย์นั่นนะ ไปถึงได้จริงหรือเปล่า