นิติศาสตร์แนวพุทธ ของท่าน ป.อ. ปยุตโต กับข้อพิพาททางการแพทย์

นิติศาสตร์แนวพุทธ ของท่าน ป.อ. ปยุตโต กับข้อพิพาททางการแพทย์

ได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่สะดุดตา เป็นหนังสือที่วางไว้กับพื้นบ้าน เดินผ่านไปผ่านมา แต่ไม่เคยหยิบมาอ่าน คือเรื่อง นิติศาสตร์แนวพุทธ เล่มนี้

หนังสือมีความหนาประมาณ 130 หน้า พิมพ์ครั้งสุดท้ายต้นปีนี้ เป็นการพิมพ์ครั้งที่ 19 แสดงว่าเป็นหนังสือที่ดีมีประโยชน์ และนักกฎหมายไม่ว่าผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ทนายความ ผู้อยู่ในวงการยุติธรรม รวมถึงนิสิตนักศึกษา และประชาชนทั่วไปถ้าได้อ่าน ก็น่าจะเป็นประโยชน์

ท่านปยุตโตกล่าวว่า โดยหลักการของกฎหมาย ก็เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม การทำสิ่งที่ถูกกฎหมายแต่ไม่เป็นธรรมกับสังคม ก็ไม่ถือเป็นเรื่องชอบธรรม

ท่านตั้งข้อสังเกตหลายเรื่องที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่อง หลักนิติธรรม (Rule of Law) ว่าอาจยังไม่เพียงพอ จึงยังไม่ควรภูมิใจ เพราะถ้าพัฒนาสาระแท้ขึ้นมาไม่ได้ อารยธรรมก็จะสลายด้วยการกินตัวของมันเอง

ในส่วนที่เกี่ยวกับปัญหาการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในทางการแพทย์ ท่านกล่าวโดยสรุปว่า เรื่องแบบนี้เด่นมากอย่างหนึ่ง คือคนไข้และญาติคนไข้คอยจ้องจับผิดแพทย์ที่รักษา เพื่อหาแง่ที่จะได้ฟ้องร้องเรียกเงินค่าเสียหายจากแพทย์ ทำให้แพทย์เดือดร้อนมากขึ้น กระแสนิยมนี้กำลังก้าวไกลมากขึ้นในสังคมตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐ

เรื่องนี้กำเนิดมาจากคนรักความเป็นธรรม จึงมีการพัฒนากฎหมายเพื่อรักษาความเป็นธรรมให้มีผลเป็นจริงและอยู่ได้อย่างมั่นคง แต่เมื่อนานๆ เข้าการรักความเป็นธรรม ซึ่งเป็นสาระที่แท้ เลือนลางลงไป มาตรการทางกฎหมายที่เป็นรูปแบบภายนอกก็ค่อยๆ แปรเปลี่ยนความหมาย แทนที่จะคุ้มครองสิทธิเพื่อรักษาความเป็นธรรม ก็กลายเป็นการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์จากผู้อื่น

ท่านปยุตโต ได้ยกตัวอย่าง 2-3 เรื่องเกี่ยวกับเรื่องการแปรเปลี่ยนความคิด จากเพื่อความเป็นธรรมไปเป็นเพื่อแสวงหาผลประโยชน์

แต่เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลในบ้านเรา ท่านก็กล่าวว่า สังคมไทยไม่มีวัฒนธรรมแบบนี้ แต่มีวัฒนธรรมน้ำใจที่ประชาชนและคนไข้มองแพทย์เป็นผู้มีพระคุณ แต่เมื่อสังคมหลงสมมติมากขึ้น การแพทย์เป็นธุรกิจอย่างตะวันตกมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมก็ตามมา ตอนแรกก็จะเป็นเพียงการฟ้องร้องเพื่อพิทักษ์สิทธิ แต่ต่อไปคุมกระแสไม่ได้ การฟ้องร้องเพื่อหาเงินรายได้ก็เกิดขึ้นและก็เฟื่องฟูได้ด้วยเช่นกัน

ท่านสรุปว่า เมื่อความต้องการธรรมเลือนลางจางหาย กฎหมายก็อาจกลายเป็นเครื่องมือสนองความปราถนาส่วนตัวของบุคคล ที่อาจจะตรงกันข้ามกับธรรม เช่นเป็นเครื่องมือของการแสวงหาผลประโยชน์ของตนหรือการกลั่นแกล้งทำร้ายผู้อื่น

ความคิดของท่านปยุตโตก็คงไม่ต่างจากนักคิดเพื่อความเป็นธรรมคนอื่นๆ แม้ว่าท่านจะเน้นย้ำว่าเป็นแนวพุทธ แต่แนวพุทธนั้นเป็นเรื่องที่อิงธรรมชาติ อิงความสมดุลแห่งธรรมชาติ และสมดุลนั้นจะคงอยู่ได้นานเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นธรรมและชอบธรรมแค่ไหนเพียงไร

มีรายละเอียดอีกมากที่ต้องค่อยๆ อ่าน ค่อยๆ ย่อย แต่ส่วนที่เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างแพทย์พยาบาลกับผู้ป่วย ก็อาจนำแนวคิดของท่านมาพิจารณาได้ เพราะแม้เราจะออกกฎหมายออกมามากมาย แต่ถ้ากฎหมายนั้นเพื่อประโยชน์กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากกว่าเพื่อความเป็นธรรมอย่างมีสมดุล ก็คงไม่สามารถแก้ไขป้องกันความขัดแย้งได้อยู่ดี

โดยเฉพาะกับสังคมประเทศไทยที่มองเรื่องผลประโยชน์มากขึ้นเรื่อยๆ จนมองข้ามความเป็นธรรมที่แท้จริง