แนวโน้มเศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจไทย ปี 2561 (1)

แนวโน้มเศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจไทย ปี 2561 (1)

เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา ทางคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้จัดงานสัมมนาทางวิชาการ

ภายใต้หัวข้อ "แนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางการลงทุน ปี 2561: อนาคตประเทศไทย เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย"  โดยมีอดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ดร. โอฬาร ไชยประวัติ และ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ศ. ดร. สุชาติ ธาดาธำรงเวช ไปกล่าวปาฐกถาถึงอนาคตของบ้านเมืองด้วย 

นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการอีกหลายท่าน (รศ. ดร. โคทม อารียา รศ. ดร. ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ผศ. ดร. อิสริยา นิติภัณฑ์ประภาศ บุญญะศิริ) เข้าร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

ทุกคนเห็นสอดคล้องกันว่า ประเทศไทยควรเดินหน้าสู่การเลือกตั้งและกลับคืนประชาธิปไตย และ สิ่งนี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทยในอนาคตโดยเฉพาะความเชื่อมั่นของนักลงทุน

ในวันดังกล่าว ผมได้ประเมินตัวเลขจีดีพี และตัวเลขเศรษฐกิจของไทยและของโลกในปี 2561 ภาพรวมของ เศรษฐกิจจะขยายตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยที่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกอยู่ที่ระดับ 3.7% เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวได้ในระดับ 2.2-2.3%  ผลจากตลาดแรงงานฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง การกระเตื้องขึ้นของภาคการบริโภค และ การลงทุนของภาคเอกชน 

ค่าเงินดอลลาร์จะกลับมาแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก นโยบายการเงินของสหรัฐจะเข้มงวดมากขึ้น อาจมีการปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อย 3 ครั้งในปีหน้าโดยธนาคารกลางสหรัฐ

ส่วนมาตรการลดภาษีของรัฐบาลอาจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากติดปัญหาฐานะทางการคลัง 

แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐ ทำให้เป็นผลดีต่อภาคส่งออกไทย และการลงทุนโดยตรงของสหรัฐในไทย ซึ่งคาดว่าส่วนใหญ่จะอยู่ในธุรกิจค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ ยานยนต์และชิ้นส่วน 

เศรษฐกิจยูโรโซนในปี 2561 น่าจะขยายตัวได้ประมาณ 1.9% โดยปัจจัยที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือผลกระทบของ Brexit ที่มีต่อเศรษฐกิจของอียู และสหราชอาณาจักร การทยอยถอนมาตรการ QE (QE Tapering) ของธนาคารกลางยุโรป สถานการณ์การจ้างงาน และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ยังคงฟื้นตัวต่อเนื่องจากครึ่งหลังของปี 2560 

เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวได้ 0.7-1% ในปี 2561 อัตราเงินเฟ้อยังคงทรงตัวในระดับต่ำต่อไป ปัญหาการขาดแคลนแรงงานจะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโต วงจรการเติบโตของสินค้าเทคโนโลยี ซึ่งผ่านจุดสูงสุด ช่วงกลางปี 2560 ทำให้การขยายตัวของภาคส่งออกมีขีดจำกัด 

อย่างไรก็ตาม การลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่นในไทยโดยเฉพาะในพื้นที่ ECC น่าจะเพิ่มขึ้น 

ทางด้านเศรษฐกิจจีน มีแนวโน้มชะลอตัวลงเล็กน้อยโดยคาดว่าจะเติบโตได้ 6.8% ในปี 2561 จีนเผชิญความเสี่ยงหนี้สินภายในประเทศสูง การลดกำลังการผลิตส่วนเกิน ความไม่มีประสิทธิภาพของกิจการรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งปัญหาข้อพิพาททางการค้า และปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญากับสหรัฐ

ส่วนประเทศอาเซียน (Asean-5 มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์และไทย) คาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5.2% โดยไทยยังมีอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียน

หลังจากภาคส่งออกมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าหลัก และการเติบโตเพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียน การกระเตื้องขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน การท่องเที่ยวที่เติบโตเพิ่มขึ้น จึงคาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปี 2561 จะอยู่ที่ 4.1-4.7% 

อัตราเงินเฟ้อขยับขึ้นมาอยู่ที่1.0-1.5% อัตราการขยายตัวของการส่งออกอยู่ที่ 6-8% การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงกระจุกตัวอยู่ในโครงสร้างเศรษฐกิจส่วนบน ยังไม่กระจายตัวมายังเศรษฐกิจฐานรากมากนัก และโครงสร้างเศรษฐกิจยังไม่ได้มีการแปรเปลี่ยนอย่างมีนัยยสำคัญ จึงยังทำให้ปัญหาการกระจายรายได้และความมั่งคั่งยังคงเป็นปัญหายืดเยื้อต่อไป

ในปี 2561 ดุลการค้ายังคงเกินดุลต่อเนื่องที่ระดับ 29-30 พันล้านดอลลาร์ คาดว่า การเร่งตัวของการนำเข้าเครื่องจักรกล และส่วนประกอบ สินค้าทุน สะท้อนการฟื้นตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน โดยคาดว่าการลงทุนภาคเอกชน น่าจะขยายตัวได้ในระดับ 3-4 ซึ่งทำให้การลงทุนโดยรวมอาจเติบโตเพิ่มขึ้นได้ถึง 8% ส่วนการลงทุนภาครัฐนั้นน่าจะกลับมาขยายตัวเป็นตัวเลขสองหลักได้ คาดว่า การบริโภคเอกชนจะขยายตัวได้ในระดับ 3%

การลดลงของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทย ไม่ได้ส่งผลให้ภาคบริโภคกระเตื้องขึ้นมากนัก เพราะมีการชะลอการสร้างหนี้ มีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปในปี พ.ศ. 2018 การก่อหนี้เพื่อการบริโภคต่ำกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ปัจจัยที่กดดันภาคบริโภคในปีหน้า คือ ค่าจ้างนอกภาคเกษตรที่ยังไม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ยังคงซบเซา ขณะที่สถาบันการเงินมีความเข้มงวดเพิ่มขึ้นในการปล่อยสินเชื่อเพื่อการบริโภค ครัวเรือนหนี้สูงมีแนวโน้มชะลอก่อหนี้ใหม่

 ขณะที่อัตราการเติบโตของการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นตามลำดับตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุลต่อไปในปีหน้าไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยยังมีลักษณะเป็นการเติบโตที่ยังกระจุกตัวในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกของบรรษัทข้ามชาติ ที่ใช้เทคโนโลยีและทุนเข้มข้น เช่น อุตสาหกรรมหมวดอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ เป็นต้น  

กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ยัง่กระจายตัวไม่ทั่วถึง  อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ยังมีอัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง เช่น อุตสาหกรรมเครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ และ สิ่งทอ ขณะเดียวกันรายได้ และผลประโยชน์ของการเติบโตทางเศรษฐกิจยังไม่กระจายมายังกิจการขนาดกลางและขนาดเล็กและประชาชนโดยทั่วไปมากนัก

ส่วนภาคเกษตรกรรมนั้นได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในหลายพื้นที่ แม้สินค้าเกษตรบางตัว มีราคากระเตื้องขึ้นบ้างในช่วงปี 2560 เช่น ยางพารา อ้อย แต่สินค้า 2 ตัวนี้เกี่ยวข้องกับแรงงานประมาณสองล้านคน และ ในปี 2561 ราคาส่งออกยางพาราน่าจะมีแนวโน้มลดลงไม่ต่ำกว่า 10% จากปริมาณผลผลิตยางพาราที่เพิ่มสูงขึ้น  

ผลผลิตปริมาณน้ำตาลทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 2561 ทำให้ระดับราคาส่งออกน้ำตาลของไทย น่าจะปรับตัวลดลงไม่ต่ำกว่า 10-20% จากระดับราคาปี 2560

ขณะนี้ ราคาข้าวและข้าวโพดปรับตัวลดลงในปี 2561 โดยเฉพาะราคาข้าวน่าจะปรับตัวลดลงไม่ต่ำกว่า 3% 

อัตราการเติบโตของปริมาณการส่งออกข้าวที่เพิ่มขึ้นกว่า 10-12% ในปี 2560 จะพลิกกลับมาขยายตัวต่ำกว่า 5% จากอุปสงค์ข้าวทั่วโลกลดลง ส่วนราคาส่งออกมันสำปะหลัง มีแนวโน้มพลิกกลับมาเป็นบวกเล็กน้อย แต่ปริมาณส่งออกน่าจะหดตัว เนื่องจากเกษตรกรหันไปปลูกสินค้าเกษตรอื่น จากราคามันสำปะหลังตกต่ำในช่วงสองปีที่ผ่านมา

 พืชเศรษฐกิจสามตัว คือ ข้าว ข้าวโพด และ มันสำปะหลังนั้นเกี่ยวข้องกับแรงงานประมาณ 6-7 ล้านคน เป็นปัจจัยทำให้ เศรษฐกิจภาคชนบท โดยรวมยังคงมีกำลังซื้ออ่อนแออยู่ นอกจากนี้ยังไม่มีนโยบายแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรเชิงรุกเหมือน 4 ปีที่แล้ว

ภาคอุตสาหกรรมโลกโดยรวมจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนผ่านการเติบโตของดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคการผลิตของโลก (Global Manufacturing PMI) ล่าสุด ปัจจัยนี้สนับสนุนอุปสงค์ต่อสินค้าอุตสาหกรรมของไทย ส่งผลให้กำลังการผลิตในภาพรวมของอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เขตเศรษฐกิจพิเศษจะช่วยดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม

ธุรกิจอุตสาหกรรมที่จะเป็นดาวรุ่ง และมีแนวโน้มสดใสในปี 2561 ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมค้าปลีกอีคอมเมิร์ซ จะขยายตัวสูงในปี 2561 ทั้งผู้ให้บริการและฐานลูกค้า มีนักลงทุนหน้าใหม่ต่างชาติเข้าสู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซอย่างเต็มที่ โดยในปี 2560 วงการอีคอมเมิร์ซไทยมีการขยับตัวครั้งใหญ่เมื่อ กลุ่ม Alibaba เข้าถือหุ้นใหญ่ในบริษัท Lazada และมีการวางแผนจะลงทุนต่อยอดในระบบขนส่งและระบบกระจายสินค้า  ธุรกิจค้าปลีกอีคอมเมิร์ซจะมีการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นในปี 2561

2.อุตสาหกรรมท่องเที่ยวคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 8% ในปี 2561 และ ภาครัฐตั้งเป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยวไว้ที่ 3 ล้านล้านบาท ทำให้สัดส่วนการส่งออกภาคบริการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 16-17% ของจีดีพี 3.กิจการที่ทำธุรกิจแบ่งปันทรัพย์สิน (Asset Sharing)โดยให้ผู้ร่วมธุรกิจใช้สินทรัพย์ของตัวเองผ่าน Platform ของบริษัท  4.ธุรกิจอุตสาหกรรมภาคก่อสร้างน่าจะเร่งตัวขึ้นทั้งจากโครงการลงทุนภาครัฐและการขยายตัวของการก่อสร้างภาคเอกชน

5. อุตสาหกรรมบริการทางการแพทย์ 6.อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์  7.ธุรกิจฟินเทค  8.อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกและปิโตรเคมี  9. อุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกและพลังงานชีวภาพ 10.อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ

ส่วนธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มขาลง ได้แก่  1.ธุรกิจอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์และเคเบิ้ลทีวี 2.อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 3.ธุรกิจและอุตสาหกรรมโฆษณา  4.อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์  5.อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์  6.อุตสาหกรรมเซรามิค