โอ-เน็ต เกษตรกรรมและความมั่นคง

โอ-เน็ต เกษตรกรรมและความมั่นคง

เป็นเวลากว่า 12 ปี ที่มูลนิธินักอ่านบ้านนา และกัลยาณมิตร เข้าไปสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมการศึกษาของโรงเรียนใน อ.บ้านนา จ. นครนายก

เราเริ่มด้วยการสนับสนุนกิจกรรมด้านการส่งเสริมการอ่าน ตามด้วยด้านการเขียน พร้อมกันนั้น เราพยายามสนับสนุนกิจกรรมที่ไม่มีในหลักสูตร แต่เราเห็นว่ามีค่าสูงยิ่ง อาทิ การทำสวนครัวอินทรีย์ การเล่นดนตรีและการฝึกขี่จักรยานล้อเดียว 

แม้เราจะไม่มีตัวชี้วัดที่ตีค่าออกมาได้เป็นตัวเลข แต่เราแน่ใจว่าการสนับสนุนของเราได้ผลดีเป็นที่ประจักษ์

 ในช่วงเวลากว่า 10 ปี ผมมีข้อสังเกตหลายอย่าง รวมทั้งที่ได้เสนอไปแล้วเกี่ยวกับแนวคิดของรัฐบาลเรื่อง การยุบโรงเรียนชั้นประถมศึกษาขนาดเล็ก แนวคิดนี้จะมีผลในด้านการทำลายชุมชน ซึ่งเป็นฐานของความมั่นคงของชาติ เมื่อฐานถูกทำลาย ชาติย่อมทรุด

สิ่งหนึ่งที่โรงเรียนถูกกดดันอย่างหนัก จากทางราชการในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้แก่ การสอบวัดความสำเร็จด้านการเรียนรู้ของนักเรียน ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ. ศ. 2551 ซึ่งเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปในนามของ โอ-เน็ต (O-NET = Ordinary National Education Test) 

โรงเรียนใดเด็กได้คะแนนต่ำ ผู้บริหารและครูของโรงเรียนนั้นถูกเพ่งเล็ง ความกดดันนี้ทำให้มีปรากฏการณ์หลายอย่างตามมา  เช่น การกดดันให้มีการเรียนพิเศษ รวมทั้งการกวดวิชาในระดับชั้นประถม ครูและผู้บริหารที่มีจริยธรรมต่ำ ฉวยโอกาสหารายได้จากธุรกิจกวดวิชา การกระทำที่ส่งผลให้พวกตนมีโอกาสได้หน้าเมื่อเด็กของตนสอบได้คะแนนสูง 

ในขณะที่ครูและผู้บริหารมองว่าเรื่องนี้มีแต่ได้กับได้ หรือที่เรียกตามฝรั่งว่า win-win ผู้ปกครองต้องเสียเงิน และเด็กต้องเสียเวลาสำหรับพัฒนาด้านอื่น อันเกิดจากการทำกิจกรรม รวมทั้งการเล่นตามประสาเด็ก

ปรากฏการณ์อีกด้านหนึ่งได้แก่การละทิ้งสิ่งที่เป็นฐานของชุมชน หรือจะเรียกว่า เป็นฐานของชีวิตก็ว่าได้ นั่นคือ การให้เด็กเลิกเรียนเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมจำพวกสวนครัว ทั้งที่เด็กส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่เกษตรกรรม 

คอลัมน์นี้เคยพูดถึงแล้วเรื่องการสอนเด็กให้โกหก ในช่วงที่ทางราชการบังคับให้โรงเรียนปลูกผักและสมุนไพร โดยการปลูกสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาก่อนผู้ตรวจการศึกษาไปตรวจ หลังผู้ตรวจกลับ ทางโรงเรียนก็รื้อผักและสมุนไพรเหล่านั้นทิ้ง 

วันนี้ อาจไม่มีการให้เด็กทำเช่นนั้นอีก พ่อแม่อาจพอใจที่ลูกของตนไม่ต้องมือเปื้อนดิน เพราะมองกว่าเกษตรกรรมต่ำต้อย และเป้าหมายของการให้ลูกเรียนหนังสือคือการรับราชการ หรือทำงานนั่งโต๊ะในห้องปรับอากาศ ส่วนทางครูที่ไม่มีความรู้ หรือความใส่ใจในด้านเกษตรกรรมอยู่แล้ว ก็พอใจที่ไม่ต้องฝืนเอามือเปื้อนดินเพื่อสอนเด็ก

กระบวนการกดดันและเตรียมเด็กสอบโอ-เน็ตให้ได้คะแนนสูงเหนือสิ่งอื่นใด ส่งผลให้ เด็กขาดความสามารถในการช่วยเหลือตัวเอง ทั้งที่ทางราชการมีแนวคิดเรื่องการสอนทักษะชีวิต หรือการช่วยเหลือตัวเองให้แก่เด็ก 

เกษตรกรรมเบื้องต้น เช่นการทำสวนครัวปลูกผักและสมุนไพรเป็นทักษะชีวิตอย่างหนึ่ง ซึ่งจะมีผลดีต่อไปในอนาคตของเด็ก

ปรากฏการณ์ดังกล่าว จะมีผลพวงสำคัญต่อไป เด็กอาจสอบโอ-เน็ตได้คะแนนสูงเป็นที่น่าพอใจ และไปสอบเรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้สมความปรารถนา ทว่าเด็กขาดทักษะชีวิตที่จำเป็น 

ยิ่งเป็นเด็กจากครอบครัวที่ประคบประหงมลูกแบบไข่ในหินด้วยแล้ว เด็กจะยิ่งทำอะไรไม่เป็น และช่วยตัวเองไม่ได้เลย 

เรื่องนี้มีตัวอย่างที่ฟังแล้วหดหู่ใจ เล่าโดยอาจารย์มหาวิทยาลัยที่สอนนักศึกษาแพทย์ เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ผู้สอบเข้าเรียนแพทย์ได้เป็นผู้ปราดเปรื่องโดยเฉพาะเรื่องการทำคะแนนสอบวิชาในกรอบของโอ-เน็ต เมื่อเข้าเป็นนักศึกษาและจากบ้านมาพักอยู่ในหอพักของมหาวิทยาลัย นักศึกษาแพทย์ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แม่ต้องไปปูที่นอนให้เป็นประจำ

ตัวอย่างดังกล่าวมานี้ น่าจะมีคำถามเรื่องนิยามของการศึกษา และเป้าหมายของการศึกษาว่าคืออะไร 

เป้าหมายคือการให้เด็กสอบคะแนนโอ-เน็ตได้สูงๆ หรือการรู้จักคิด พร้อมกับมีทักษะชีวิตเบื้องต้น หรือช่วยเหลือตัวเองได้ในระดับหนึ่ง?

ชาติใดเต็มไปด้วยประชาชนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ชาตินั้นย่อมไม่มั่นคง