ด่วน! วิจัยวิทยาศาสตร์เพิ่มมูลค่าข้าว ที่กลับมารักษาแชมป์***

ด่วน! วิจัยวิทยาศาสตร์เพิ่มมูลค่าข้าว ที่กลับมารักษาแชมป์***

ข่าวดี คือข้าวหอมมะลิไทยคว้าแชมป์ข้าวรสชาติดีที่สุดในโลกมาครองอีกหนึ่งสมัยในการจัดประกวดข้าวดีเด่นโลก(The World's Best Rice 2017) ครั้งที่ 9

งานนี้จัดโดยองค์กร The Rice Traders ซึ่งเป็นองค์กรต่างประเทศให้บริการข้อมูลข่าวสารในเชิงลึกเกี่ยวกับอุตสาหกรรมข้าวโลก เริ่มจัดขึ้นมาเมื่อ ปี 2552 ณ เมืองเซบู ฟิลิปปินส์ โดยจะจัดหมุนเวียนไปตามประเทศที่ปลูกข้าวเป็นหลัก

นับเป็นการกลับมาครองแชมป์ติดต่อกันจากปี 2559  ที่ข้าวหอมมะลิไทยทวงตำแหน่งคืนมาได้อย่างน่าชื่นชมทุกฝ่ายในบ้านเมืองที่เกี่ยวข้อง หลังจากที่ข้าวไทยเซแซ่ดๆ เสียหลักเสียแชมป์ไปในช่วงปี 2554-2556  อันเป็นช่วงนโยบายจำนำข้าว ปั่นป่วนไปทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ การปลูกการผลิตการเก็บรักษาไปจนถึงการตลาดครบวงจรอย่างที่เราทราบกันดี

ชัยชนะครั้งนี้ทำให้ ข้าวหอมมะลิไทยกลับมาผงาดเป็นแชมป์ข้าวรสชาติดีที่สุดในโลกถึง สมัย จากการประกวดทั้งหมด 9  ครั้ง คือครั้งที่ 1 (ปี 2552) ครั้งที่ 2 (ปี 2553) ครั้งที่ 6  (ปี 2557) ครองแชมป์ร่วมกับข้าวผกาลำดวนของกัมพูชา และครั้งที่ 8 (ปี 2559 ) ก่อนจะมารักษาแชมป์ได้อีกในปีนี้

อย่างไรก็ตาม เราจะมัวแต่ลิงโลดดีใจหยุดอยู่ที่การทวงแชมป์รักษาแชมป์แค่นี้ไม่ได้

การปล่อยให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำด้วยการออกปากเหวี่ยงแหไร้การจำแนกเชิญชวนแกมบังคับและบ่นให้ชาวนาเลิกปลูกข้าวเสียบ้าง ผลผลิตจะได้ลดลงไม่ล้นตลาด เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ไม่ได้ใช้สติปัญญาอะไรมาก และสร้างปัญหาอื่นตามมา

ชาวนาจะทำอะไรกินทดแทนในทันทีเล่า

การรักษาแชมป์ของข้าวไทยก็คือการเพิ่มความมั่นคงทางด้านอาหารทางเศรษฐกิจ

 “ความมั่นคง” ของประเทศไม่ได้อยู่แค่อาวุธยุทธภัณฑ์กำลังทหารการรบการข่าว จะเลือกตั้งมาหรือไม่ก็ตาม รัฐบาลต้องทุ่มเททำวาระแห่งชาติพัฒนาข้าวด้วยการวิจัยวิทยาศาสตร์หลายสาขา ซึ่งเป็น“ความมั่นคง”ที่แท้จริงและยั่งยืน

ย้ำและเน้น " วิทยาศาสตร์หลายสาขา " ไม่ใช่วิจัยเชิงเดี่ยวสาขาเดียว ดังที่ ศาสตราจารย์ ดร.อรอนงค์ นัยวิกุล ได้นำเสนอไว้ในหนังสือ ข้าว: วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2560  สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยประสบการณ์จากการเรียนการสอนการวิจัยเรื่องข้าวมา 30 กว่าปี

ด่วน! วิจัยวิทยาศาสตร์เพิ่มมูลค่าข้าว ที่กลับมารักษาแชมป์***

หนังสือเล่มนี้ ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2557 ทำให้เสียดายทศวรรษที่ผ่านไป ว่าเราได้เสียเวลาชักช้ากันมานานมากเกินไปแล้วในการทำประโยชน์จากข้าวในทุกด้านที่เป็นไปได้ ด้วย“งานวิจัยวิทยาศาสตร์หลายสาขาและเทคโนโลยี” ซึ่งในทางความรู้เราพร้อมทำได้ก่อนหน้า พ.ศ. 2547 ด้วยซ้ำไปหากว่าเรามีนโยบายบริหารการเกษตรที่มีวิสัยทัศน์มีการลงทุนในงานวิจัยวิทยาศาสตร์หลายสาขาและเทคโนโลยีมาก่อนหน้านั้น

สามในสี่ของเนื้อหาหนังสืออัดแน่นด้วยการแปรรูปข้าว สร้างมูลค่าเพิ่มที่ใช้วิทยาศาสตร์หลายสาขามาวิเคราะห์ชี้แจง คือ ตั้งแต่หัวข้อที่ 4-9  (321 หน้า ไม่รวมอ้างอิงและภาคผนวก) เช่น หัวข้อที่ 4 พัฒนาเทคโนโลยีระบบสีข้าวเปลือก หัวข้อที่  5 กระบวนแปรรูปข้าวนึ่ง มีเพียงหนึ่งในสี่ของหนังสือเท่านั้น คือหัวข้อ 1-3  ที่เป็นการปรับให้ทันสมัยข้อมูลใหม่ทั่วไป จากผลการวิจัยเพื่อปลูกและข้าวขายข้าวเปลือกข้าวสารตามแบบดั้งเดิม

 ดร.อรอนงค์ สรุปย้ำท้ายบทหัวข้อ ที่  6  คุณภาพและมาตรฐานข้าวไทย  ดังนี้ 

“ ...จะเห็นได้ว่าในการตรวจสอบคุณภาพข้าวที่กล่าวแล้วข้างต้นนั้นต้องเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์หลายสาขาผสมผสานกันได้แก่ วิทยาศาสตร์พื้นฐานทางเคมี ฟิสิกส์ เคมีเชิงฟิสิกส์ และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เช่นวิทยาศาสตร์ของธัญชาติ สรีรวิทยาของพืช วิทยาศาสตร์การอาหาร วิศวกรรมและโภชนาการ ดังนั้นจึงต้องทำงานวิจัยเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพข้าวให้ดีขึ้นเรื่อยไปในอนาคต

หัวข้อที่ 7  ถึงหัวข้อสุดท้ายที่ 9  เน้นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเมล็ดข้าว เสนอช่องทางการทำประโยชน์การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ข้าวอีกมากมาย ก้าวไกลกว่าการปลูกข้าวเพียงเพื่อขายข้าวสาร เช่น ในรูปผลิตภัณฑ์ข้าวกระป๋อง ข้าวหุงสุกเร็ว ข้าวแช่เยือกแข็ง ผลิตภัณฑ์อาหารเช้า อาหารว่างจากข้าว ผลิตภัณฑ์อาหารหมักดองจากข้าว เช่น ขนมจีน ข้าวแดง 

แม้แต่มิโซะ ก็ใช้ข้าวหมักร่วมกับถั่วเหลือง ไม่ได้ใช้แต่ถั่วเหลือง ข้าวหมาก รวมทั้งผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์จากข้าว แป้งข้าวและผลิตภัณฑ์ รำและผลิตภัณฑ์ แกลบและผลิตภัณฑ์ ซึ่งประโยชน์ที่จะทำได้จากข้าวและผลพลอยได้ของข้าว คือ รำและแกลบ มีเพิ่มขึ้นมากกว่าแต่ก่อนด้วยการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ มีทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์อาหารและไม่ใช่อาหาร เช่น ใช้ส่วนผสมของรำในผลิตภัณฑ์อาหารเด็กอ่อน แกลบ(ส่วนเปลือกแข็งหุ้มเมล็ดข้าว) นอกจากเป็นเชื้อเพลิงขายได้ราคาดี ในแกลบมีสารซิลิกาซึ่งมีราคา และมูลค่าสูงเพราะใช้ในอุตสาหกรรมหลายแขนง

แม้จะเป็นการนำเสนอข้อมูลวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพียบโดยเฉพาะทางเคมี ชี้ช่องให้เกิดอุตสาหกรรมการคิดค้นผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยี แต่ผู้บริโภคทั่วไปสามารถประยุกต์ใช้ข้อมูลเชิงลึกทางเคมีในชีวิตประจำวันได้ เพราะผู้วิจัยได้เขียนด้วยภาษาธรรมดานำข้อมูลเชิงเคมีมาเสนอในแต่ละผลิตภัณฑ์ด้วยรูปแบบโภชนาการ ทำให้เข้าใจง่าย อย่างเช่น แป้งข้าวมีไขมันต่ำกว่าแป้งสาลีประมาณเท่าไร ทำไมเส้นก๋วยเตี๋ยวจึงต้องใช้ข้าวเก่า (หมายถึงข้าวสารสีจากข้าวเปลือกที่เก็บไว้ตั้งแต่ ๔ เดือนขึ้นไปหลังการเก็บเกี่ยว) สารออรีซานอลในข้าวสามารถลดคอเลสเตอรอลได้ โอกาสอันงามในการใช้แป้งข้าวประกอบผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้บริโภคกลุ่มแพ้สารกลูเตนในแป้งสาลี

แต่ละเรื่องอ้างอิงงานวิจัยที่ติดตามต่อยอดอีกได้ ภาคผนวกมีอธิบายความหมายของคำทางวิทยาศาสตร์ และมีดัชนีคำไทยควบคู่คำอังกฤษสำหรับทำความเข้าใจและค้นหาสะดวก

หนังสืองานวิจัยดีๆช่วยทำให้คนไทยฉลาดขึ้น อยากกินข้าวดีๆให้สมกับเป็นพลเมืองของประเทศครองแชมป์ข้าว รู้ว่ามีหนทางใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวิจัยแก้ปัญหาและสร้างความมั่งคั่งความมั่นคงจากข้าวได้

หมดสมัยและไม่เอานโยบายข้าวของใครก็ตามที่ไร้วิสัยทัศน์หลอกประชาชนไปวันๆ

 ///

*** ชื่อเต็มเรื่อง : ด่วน ! วิจัยวิทยาศาสตร์เพิ่มมูลค่าข้าวไทย ที่กลับมารักษาแชมป์โลก