เมื่อเออาร์และวีอาร์ ใช้งานได้จริงมากขึ้น

เมื่อเออาร์และวีอาร์ ใช้งานได้จริงมากขึ้น

งานดิจิทัล คอนเทนท์ เอ็กซ์โป ประจำปี 2560(Digital Content Expo 2017) ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 10 ที่กรุงโตเกียวเมื่อปลายเดือนต.ค.ที่ผ่านมานั้น

มีวัตถุประสงค์สำคัญคือการสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและมหาวิทยาลัย ได้มีโอกาสเสนอนวัตกรรมด้านดิจิทัลคอนเทนท์ต่อผู้ที่สนใจ ผู้ประกอบการ และนักลงทุนที่ต้องการหาเทคโนโลยีใหม่ไปพัฒนาเป็นสินค้าของตนเอง 

โดยในปีนี้นั้นมีไฮไลท์อยู่ที่กลุ่มเทคโนโลยี เออาร์ (Augmented Reality) หรือ เทคโนโลยีที่นำภาพเสมือน ที่เป็นรูปแบบ 3 มิติ จำลองเข้าสู่โลกจริงผ่านกล้องและการประมวลผลที่จะนำวัตถุมาทับซ้อนเข้าเป็นภาพเดียวกัน และเทคโนโลยี วีอาร์ (Virtual Reality) เทคโนโลยีภาพเสมือนจริง 

โดยเออาร์ และ วีอาร์ เป็นนำเสนอคอนเทนท์ในรูปแบบ 3 มิติ โดยในปัจจุบันเทคโนโลยีดังกล่าว กำลังได้รับการพัฒนาต่อยอดมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การพัฒนาระบบวีอาร์ ที่ไม่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์สวมใส่กับตัวคนที่ทำให้เกิดอุปสรรคในการใช้งาน การแสดงวีอาร์ โดม เพื่อสนับสนุนการประชุมทางไกล ให้รู้สึกเสมือนว่าประชุมอยู่ในห้องเดียวกัน 

การปรับปรุงให้ระบบเออาร์ และ วีอาร์ มีความเสมือนจริงมากขึ้นทั้งในด้านการสัมผัส กลิ่นและภาพ การใช้เออาร์และวีอาร์ สร้างสถานที่จำลองเช่น วัด เมือง หรือโชว์รูม การใช้วีอาร์กับภาพความละเอียดสูงสำหรับการเลือกซื้อสินค้า การเล่นเกมโดยใช้เครื่องเล่นวีอาร์ 

แม้กระทั่งการผสมผสานคอนเทนท์ 3 มิติเข้ากับระบบเสียงและกลิ่นแบบ 3 มิติ ซึ่งเห็นได้ว่าแนวโน้มในอนาคตของวิธีการนำเสนอคอนเทนท์นั้น กำลังเปลี่ยนไปสู่รูปแบบของการสร้างประสบการณ์ที่เป็น 3 มิติเสมือนจริงเป็นหลัก เพื่อมอบประสบการณ์เสมือนจริงให้กับผู้บริโภค และยังมีการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เพื่อให้การตอบสนองต่อผู้ใช้งานมีความรวดเร็วเข้าใจได้ง่ายและมีปฏิสัมพันธ์ที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น 

โดยสิ่งเหล่านี้กำลังจะเป็นมาตรฐานใหม่ในการ “สร้างความแตกต่าง” ในอนาคต และยังสามารถนำมาต่อยอดเพื่อ:เจาะตลาดใหม่หรือกลุ่มลูกค้าใหม่ เช่น ใช้สร้างหน้าร้านที่เป็น “ดิจิทัล 3 มิติ” แทนที่จะต้องสร้างหน้าร้านแบบปกติขึ้นมา 

พร้อมกันนี้ สร้างธุรกิจใหม่หรือรูปแบบการหารายได้ใหม่ เช่น สร้างเป็นเกมคาเฟ่ สวนสนุก หรือแม้กระทั่งห้องดูกีฬาที่จำลองสนามกีฬามาได้มอบประสบการณ์ที่ดีขึ้น เช่น ช่วยลูกค้าในการทดลองสินค้าได้ก่อนทำการตัดสินใจซื้อโฆษณา 3 มิติ ซึ่งช่วยเพิ่มความน่าสนใจของโฆษณาและสร้างความแตกต่างๆ ให้กับแบรนด์ได้ และทำได้แม้กระทั่งสร้างเป็นเกมขึ้นมาให้ลูกค้าเล่นและใช้คะแนนแลกรับรางวัล ลดต้นทุน ผ่านการสร้างร้านค้าหรือโชว์รูม 3 มิติโดยที่ไม่จำเป็นต้องเสียค่าก่อสร้างมากนัก และยังสามารถย้ายสถานที่ไปได้เรื่อยๆ ได้

แต่กระนั้น ผู้ที่จะเลือกลงทุนในเทคโนโลยีเออาร์ และวีอาร์ จำเป็นต้องพิจารณา 2 ปัจจัยสำคัญเสียก่อน ซึ่งก็คือ 1.การสร้างคอนเทนท์ที่มีคุณภาพ ซึ่งต้องเป็นการมอบประสบการณ์ที่ดีจริงๆ ให้กับผู้ใช้งาน และ 2. การเลือกแพลตฟอร์ม 

เนื่องจากปัจจุบันมีแพลตฟอร์มเออาร์ และวีอาร์ ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกูเกิล เดย์ดรีม หรือ เอชทีซี และ Oculus/Facebook ซึ่งอาจจำเป็นต้องรอดูว่า มาตรฐานของแพลตฟอร์มใดจะกลายเป็นมาตรฐานหลักของเทคโนโลยีนี้ต่อไป

การนำเทคโนโลยีเออาร์และโลเคชั่นเบสเซอร์วิสมาใช้ร่วมกับบิ๊กดาต้าอนาไลติกส์ โมบายโซเชียล และคลาวด์จะช่วยสร้างความแตกต่างเหนือคู่แข่ง และจะเปิดโอกาสให้สามารถต่อยอดไปทำสิ่งต่างๆ เพิ่มขึ้นได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด