การบังคับสัญญาค้ำประกัน

การบังคับสัญญาค้ำประกัน

บทความนี้ ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงหลักการสำคัญบางประการใน การบังคับสัญญาค้ำประกันทางธุรกิจ และแนวคำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว

สำหรับท่านผู้อ่านที่ไม่คุ้นเคยกับสัญญาค้ำประกัน ผู้เขียนขออธิบายโดยสังเขปว่า สัญญาค้ำประกันคือ สัญญาที่บุคคลที่สาม (ซึ่งเรียกว่า ผู้ค้ำประกัน”) ตกลงว่าจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามที่ได้ตกลงกันไว้

ท่านผู้อ่านหลายท่านคงทราบดีแล้วว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายค้ำประกันได้รับการแก้ไขในเดือนก.พ. และ ก.ค. 2558 โดยสาระสำคัญประการหนึ่งของการแก้ไขในครั้งนี้คือ กฎหมายได้กำหนดวิธีการในการบังคับตามสัญญาค้ำประกันเมื่อลูกหนี้ผิดนัดไว้อย่างชัดเจนขึ้น (มาตรา 686)

กล่าวโดยย่อ มาตรา 686 แห่ง ป.พ.พ. วางหลักไว้ว่า เมื่อลูกหนี้ผิดนัดแล้ว เจ้าหนี้จะต้องบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด 

หากเจ้าหนี้ไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในระยะเวลา 60 วันข้างต้น ผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ย และค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับหนี้ประธาน ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดระยะเวลา 60 วันดังกล่าว 

อย่างไรก็ดี ผู้ค้ำประกันยังคงต้องรับผิดในดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน และค่าภาระติดพัน ซึ่งเกิดขึ้นก่อนพ้นกำหนดระยะเวลา 60 วันดังกล่าว

นอกจากนั้น มาตรา 685/1 ยังวางหลักไว้ว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับการค้ำประกันที่แตกต่างไปจากมาตรา 686 นั้นเป็นโมฆะ ดังนั้น คู่สัญญาจึงไม่อาจตกลงย่นหรือขยายระยะเวลา 60 วันดังกล่าวได้ เจ้าหนี้จะต้องฟ้องบังคับตามสัญญาค้ำประกันภายในอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ด้วย มิฉะนั้นแล้ว เจ้าหนี้จะไม่สามารถเรียกร้องเอาจากผู้ค้ำประกันได้เนื่องจากหมดอายุความ

แต่สัญญาค้ำประกันบางสัญญาได้ระบุเงื่อนไขเพิ่มเติมให้เจ้าหนี้ต้องปฏิบัติตาม ก่อนที่เจ้าหนี้จะสามารถใช้สิทธิเรียกร้องบังคับตามสัญญาค้ำประกันได้ กล่าวคือ ระบุเงื่อนไขว่าเจ้าหนี้จะต้องยื่นคำเรียกร้องตามหนังสือสัญญาค้ำประกัน ให้แก่ผู้ค้ำประกันภายในระยะเวลาที่สัญญากำหนดด้วย เช่น ภายใน 15 วันนับแต่วันสุดท้ายของอายุสัญญาค้ำประกัน 

ตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่ 1451/2524, 4761/2537, 1274/2544 และ 6622/2546 นั้น ศาลฎีกาตัดสินว่า หากเจ้าหนี้ไม่ได้ยื่นคำเรียกร้องแก่ผู้ค้ำประกันภายในระยะเวลาที่สัญญากำหนด ผู้ค้ำประกันจะไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ ทั้งข้อกำหนดดังกล่าวก็มิใช่เป็นการย่นอายุความ 

ศาลฎีกาได้ให้เหตุผลในคำพิพากษาฎีกาที่ 6622/2546 ไว้ว่า สัญญาค้ำประกันเป็นนิติกรรมอย่างหนึ่งที่คู่กรณีจะตกลงกันอย่างไรก็ได้หากไม่ขัดต่อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และหากมีข้อจำกัดเป็นเงื่อนไขเพิ่มขึ้นว่า จะต้องรับผิดในกรณีอย่างใด ก็ต้องเป็นไปตามข้อความในสัญญาค้ำประกัน เพราะถือว่าเป็นการจำกัดความรับผิดของผู้ค้ำประกัน และสัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกันมีความรับผิดฝ่ายเดียว 

การตีความในสัญญาจึงต้องเป็นไปอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ แนวคำพิพากษาฎีกาข้างต้นเป็นการตัดสินตามบทบัญญัติเดิมของกฎหมายค้ำประกันก่อนที่จะมีการแก้ไขเมื่อปี 2558

จากแนวคำพิพากษาดังกล่าว ยังมีข้อให้ชวนสงสัยอยู่ว่า การกำหนดระยะเวลาให้เจ้าหนี้ต้องใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาค้ำประกันนั้นจะถือเป็นการกำหนดเงื่อนไขเพื่อเลี่ยงบทบัญญัติของมาตรา 193/11 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งห้ามไม่ให้คู่สัญญาตกลงย่นหรือขยายอายุความหรือไม่ (แม้ว่าคำพิพากษาฎีกาที่ 6622/2546 จะระบุไว้อย่างชัดเจนว่าข้อกำหนดดังกล่าวมิใช่เป็นการย่นอายุความก็ตาม) เนื่องจากข้อกำหนดดังกล่าวมีผลในทางปฏิบัติแทบจะไม่แตกต่างจากการตกลงย่นอายุความเลย เพราะหากเจ้าหนี้ไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่สัญญาค้ำประกันกำหนดภายในระยะเวลาที่ระบุแล้ว เจ้าหนี้จะไม่สามารถเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันรับผิดได้เลย

นอกจากนั้น ยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า เมื่อมาตรา 686 ตามที่ได้มีการแก้ไขเมื่อปี 2558 ได้กำหนดระยะเวลาให้เจ้าหนี้บอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ไม่สามารถตกลงเป็นอย่างอื่นได้

การกำหนดเงื่อนไขในสัญญาค้ำประกันว่า เจ้าหนี้จะต้องยื่นคำเรียกร้องตามหนังสือสัญญาค้ำประกันให้แก่ผู้ค้ำประกันภายในระยะเวลาที่สัญญากำหนด เช่น ภายใน 15 วันนับแต่วันสุดท้ายของอายุสัญญาค้ำประกัน จะถือเป็นการตกลงที่แตกต่างจากมาตรา 686 หรือไม่

เนื่องจาก ป.พ.พ. ในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายค้ำประกันเพิ่งได้รับการแก้ไขเมื่อปี 2558 และอาจยังไม่มีคดีความเกี่ยวกับการตีความกฎหมายค้ำประกันที่แก้ไขใหม่ขึ้นสู่ชั้นพิจารณาของศาลฎีกา เราจึงต้องรอดูแนวคำพิพากษาฎีกาในประเด็นเหล่านี้ต่อไปครับ

 ////

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่]

พีรจิต จันทรโมลี

บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด

[email protected]