ติดคุกเพราะเป็นคนจน เรื่องที่ต้องพิจารณา

ติดคุกเพราะเป็นคนจน เรื่องที่ต้องพิจารณา

เงินประกัน กับผู้ต้องหาคดีอาญา เป็นเรื่องราวที่อยู่ในระบบกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่เรากำลังปฏิรูปกันตอนนี้

มีคนเป็นจำนวนไม่น้อยที่ต้องติดคุกในระหว่างรอศาลพิจารณา เพราะเหตุที่ไม่มีเงินประกันตัว ซึ่งถ้าผลปรากฏว่าไม่ได้กระทำความผิด ก็เป็นเหมือนถูกพิพากษาไปแล้วโดยไม่ได้ทำผิด และตัวเองก็เกิดปัญหามากมายในระหว่างการฝากขังและระหว่างพิจารณาคดี ซึ่งไม่ใช่เฉพาะตัวเองที่ต้องตกอยู่ความทุกข์และความยากลำบาก ครอบครัวก็ต้องเดือดร้อน เป็นปัญหาไม่ใช่น้อย

กฎหมายไทยกำหนดว่าตราบใดที่ศาลยังไม่พิพากษา ให้ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญก็กำหนดเช่นนั้น แล้วทำไมเขาจึงต้องติดคุก เพียงเพราะไม่มีเงินประกันตัว 

เรื่องนี้น่าสนใจเพราะเป็นเรื่องของคนจนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในคดีอาญา ที่มีโทษสูงต้องใช้เงินประกันสูงมาก คดีฆ่าคนตายโทษประหารชีวิตต้องใช้เงินประกันสูงถึง 800,000 บาท คดีที่โทษจำคุกตลอดชีวิต ต้องใช้เงินประกันสูงถึง 600,000 บาท อย่างนี้คนจนจะเอาเงินมาจากไหน เมื่อไม่มีเงินก็ต้องติดคุกระหว่างพิจารณาเป็นเดือนเป็นปี เดือดร้อนแสนสาหัส

กระบวนการยุติธรรมบ้านเราใช้เวลานาน ยิ่งเป็นคดีที่อุทธรณ์ ฎีกา ก็อาจเป็นสิบปี เรื่องนี้หลายฝ่ายตระหนักดี

เท่าที่ได้รับทราบ ศาลยุติธรรมโดยประกาศคำสั่งของประธานศาลฎีกาปี 2548 ก็มีประกาศให้การพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวนั้น ไม่ต้องขึ้นอยู่กับการมีเงินประกันอย่างเดียว แต่ให้พิจารณาจากองค์ประกอบอื่นๆ ที่เชื่อว่าจะไม่หลบหนี ซึ่งจะต้องใช้วิธีการพิจารณาจากข้อมูลส่วนตัวเช่น การมีอาชีพการงาน มีจิตอาสา มีน้ำใจกับเพื่อนบ้านคนในสังคมชุมชน ทำความดีเป็นประจำเช่นบริจาคโลหิตหลายครั้ง อุทิศร่างกายเป็นอาจารย์ใหญ่เมื่อเสียชีวิต หลายๆอย่างนำมาประกอบกัน ที่ศาลจะเชื่อได้ว่าจะไม่หลบหนีเมื่อได้รับการประกันตัวโดยไม่ต้องใช้เงินหรือหลักทรัพย์วางเป็นประกัน

มีการเก็บตัวอย่างเพื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มผู้ที่ได้ประกันเพราะมีการวางเงินหรือหลักทรัพย์เป็นประกัน กับกลุ่มผู้ที่ได้ประกันตนโดยอาศัยเหตุผลแวดล้อมที่ศาลเชื่อว่าจะไม่หลบหนีโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ มีผลสรุปว่าอัตราส่วนของผู้หลบหนีและไม่หลบหนีหลังได้รับการประกันไม่มีความแตกต่างกัน

จริงๆ เรื่องนี้ ก็มีหลากหลายวิธีการที่ดำเนินการโดยหลายหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม อาทิ มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเรื่องการติดกำไลข้อเท้าที่สามารถติดตามผู้ต้องหาหรือจำเลยได้ หรือแม้กระทั่งในกระทรวงยุติธรรมก็มีหน่วยงานกองทุนยุติธรรมช่วยเรื่องการวางเงินเป็นประกัน แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีไหน ก็รับรองไม่ได้ว่าผู้ต้องหาจะไม่หลบหนี

พูดง่ายๆก็คือ หนีหรือไม่หนี ไม่ได้อยู่ที่เงินประกันมากน้อย ขนาดวางเงินประกันสูงถึง 30 ล้านบาทก็หนีศาลได้ มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว หรือแม้จะมีกองทุนยุติธรรมให้ ก็ไม่ใช่เงินของตัวเอง ถ้าจะหนีเสียอย่าง ก็ไม่ต้องคิดว่าใครประกันให้

ผลที่เกิดขึ้นคือ ศาลมักจะไม่พิจารณาให้ประกันเพราะกลัวหลบหนีทำให้เกิดผู้ต้องหามากมายล้นคุกที่คุมขัง กรมราชทัณฑ์มีขีดความสามารถคุมขังนักโทษทั้งประเทศได้ไม่เกินหนึ่งแสนคน แต่ปัจจุบันมีนักโทษอยู่ถึงสามแสนคน และทำให้เกิดผลกระทบอื่นๆตามมาอีกมากมาย

ปัจจุบันมีผู้ต้องหาที่ถูกคุมขังเพราะไม่มีเงินประกันตัวประมาณ 66,000 คน ถ้าเปลี่ยนระบบประกันตัวโดยไม่ใช้เงิน แต่ใช้เหตุผลที่เชื่อว่าเขาจะไม่หลบหนี ก็จะแก้ปัญหาคนล้นคุกได้เป็นจำนวนมาก ปัญหาอื่นๆก็จะไม่เลวร้ายเหมือนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องหลักการที่หลายประเทศก็ทำกันอยู่ บางประเทศถึงกับให้ภาคเอกชนเข้ามาทำหน้าที่คุมขังแทนรัฐ ซึ่งก็ยังไม่ชัดเจนว่าช่วยแก้ปัญหาคนล้นคุกได้แค่ไหน แต่ก็พยายามกันอยู่ 

คำถามมีว่า หลักการที่ให้ศาลพิจารณาให้ประกันตนโดยไม่ใช้เงินหรือหลักทรัพย์นี้จะทำได้จริงแค่ไหน และศาลซึ่งเป็นผู้มีอำนาจจะกล้าสั่งแค่ไหน เพราะเกือบไม่มีหลักประกันอะไรเลย และถ้าผู้ต้องหานั้น ไม่มาศาล หนีศาล จะทำอย่างไร

ทราบว่าขณะนี้มีการทดลองนำร่องประมาณ 20 ศาล ซึ่งรายงานว่าไม่มีความแตกต่างระหว่างผู้ที่ได้รับการประกันเพราะวางเงินประกัน กับผู้ที่ศาลให้ประกันโดยไม่ต้องมีการวางเงินประกัน แต่รายงานนี้ไม่ใช่งานวิจัย และการเก็บตัวอย่างช่วงระยะเวลาสั้นๆอาจทำให้ไม่มั่นใจในความถูกต้อง

จะว่าไปแล้ว ศาลมีดุลยพินิจเรื่องนี้อยู่แล้วที่สามารถให้ประกันโดยไม่ต้องมีหลักประกันได้ แต่ศาลก็ต้องตกอยู่ในฐานะที่รับผิดชอบไม่น้อย ถ้าผู้ต้องหาไม่ปรากฏตัวที่ศาลเมื่อถึงวันนัด แล้วจะเรียกร้องให้ใครรับผิดชอบ ซึ่งถ้ามีเงินประกันอย่างน้อยก็ริบเงินประกันได้ แต่นี่ไม่มีอะไรเลย

อดคิดไม่ได้ว่าถ้าเรื่องการวางเงินประกันเป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ ทำไมทุกประเทศยังใช้กันอยู่ ไม่ว่าประเทศพัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนาก็ตาม และทำไมจึงต้องมีวิธีการอื่นๆเช่นติดกำไลข้อเท้าติดตามตัว หรือให้ภาคเอกชนเข้ามาดูแลควบคุมแทนรัฐ เพราะถ้าการดูเหตุผลแวดล้อมแล้วตัดสินให้ประกันโดยไม่มีเงินประกันนั้น ถ้าจำเลยไม่มาศาลจะยิ่งเกิดปัญหามากขึ้น

เรื่องนี้ ถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นคนดีไม่ได้ทำผิดจริง โอกาสจะหนีคดีไม่มาศาลคงน้อย แต่ถ้าไม่ใช่และหนีคดีไม่มาศาล กระบวนพิจารณาก็ต้องหยุดเพื่อติดตามตัวอีกครั้ง ทุกอย่างก็จะถูกลากยาวไปอีก

แนวคิดนี้เห็นด้วยว่าเป็นแนวคิดที่ดี ช่วยให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีปัญหาเรื่องไม่มีเงินประกัน หรือพูดง่ายๆว่าไม่ต้องติดคุกเพราะเหตุที่เป็นคนจน แต่ในทางปฏิบัติ ไม่แน่ใจว่าเป็นการแก้ปัญหาได้ เพราะเรื่องนี้หลายประเทศก็ทดลองทำแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จที่น่าพอใจ

ที่สำคัญคือการหาเหตุผลเพื่อประกอบการพิจารณาให้ศาลปล่อยตัวโดยไม่ต้องมีเงินประกันนั้น จะใช้หลักเกณฑ์อะไรที่ถือว่าเป็นธรรม มั่นใจว่าเป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่สองสามมาตรฐาน รายนั้นให้ รายนี้ไม่ให้ เพราะเรื่องอย่างนี้ คงใช้ดุลยพินิจไม่ได้ ต้องมีองค์ประกอบที่ชัดเจน แล้วองค์ประกอบนั้นควรจะเป็นอย่างไร

เรื่องให้ประกันหรือไม่ให้ประกันนี้ ในทางศาลยุติธรรมถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะมีโอกาสที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยอาจจะไปทำอะไรกับพยานหรือโจทก์ผู้เสียหายได้ รวมตลอดถึงการทุจริตประพฤติมิชอบที่ผู้พิพากษาผู้สั่งให้ปล่อยจำเลยโดยไม่การวางเงินประกันก็อาจถูกสอบสวนความผิดทางวินัยหรือแม้แต่ต้องโทษอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนด

มีความเห็นว่าเรื่องนี้ต้องกำหนดมาตรการวิธีการและกระบวนการให้ชัดเจน ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้ประมวลกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร ที่เรียกว่า Civil Law ไม่ใช่ระบบCommon Law ที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร และเราก็ไม่มีระบบลูกขุน หรือ Jury หรือคณะลูกขุนที่เป็นคนธรรมดาสามัญทำหน้าที่พิจารณาความผิดและเสนอความเห็นต่อศาลในการพิจารณาคดีอาญาเหมือนสหรัฐ อังกฤษ 

ศาลไทยยึดตัวบทกฎหมายเป็นหลัก แม้จะมีประกาศจากประธานศาลฎีกาให้ทำได้ หรือแม้กระทั่งมีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็คงต้องมีกฎหมายกำหนดรายละเอียดที่เรายังไม่มี

ความคิดที่ว่าคนจนต้องไม่ติดคุกเพราะเหตุไม่มีเงินประกันตัวนั้น เห็นด้วยแน่นอน เพราะทั้งป้องกันและแก้ปัญหามากมายตั้งแต่ส่วนตัว ครอบครัว สังคมชุมชน รัฐ งบประมาณ โอกาสกระทำผิดอีก 

แต่ท่ามกลางสิ่งดีๆ ก็อดที่จะวิตกเรื่องวิธีการ มาตรการ มาตรฐาน การเป็นที่ยอมรับ ความรับผิดของพนักงานเจ้าหน้าที่ การกระทำความผิดซ้ำ การเข้าไปพัวพันกับคดี การขู่เข็ญทำร้ายพยานและผู้เสียหาย และอีกมากมายหลายอย่างที่ต้องคิดด้วย

เพราะถ้าในที่สุดแล้ว ศาลเองที่เป็นผู้อนุญาตก็คงลำบากใจที่จะตอบคำถาม ทำไมเรื่องเดียวกัน แต่ไม่เหมือนกัน และถ้าศาลถูกตั้งคำถาม สังคมจะไว้ใจศาลได้แค่ไหน

มันจะยุ่งกันใหญ่