ว่าด้วยเรื่องความเสี่ยงการลงทุนในปีหน้า

ว่าด้วยเรื่องความเสี่ยงการลงทุนในปีหน้า

ว่าด้วยเรื่องความเสี่ยงการลงทุนในปีหน้า

ในช่วงท้ายปีเช่นนี้ นักวิเคราะห์หลายๆ ท่านคงจะเริ่มออกมาพูดถึงมุมมองเศรษฐกิจและการลงทุนในปีหน้ากันแล้ว โดยส่วนใหญ่มุมมองจะค่อนข้างคล้ายกัน คือ เศรษฐกิจโลกยังคงดีขึ้นต่อเนื่อง ได้ผลดีจากที่หลายประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้นพร้อมๆ กัน (Synchronized growth) ขณะที่เศรษฐกิจไทยที่สัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นด้วย เหล่านี้จะส่งผลดีต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนฯ ขณะที่ดอกเบี้ยอาจจะปรับเพิ่มขึ้นบ้าง โดยเฉพาะดอกเบี้ยในสหรัฐฯ แต่ถึงกระนั้นดอกเบี้ยก็ยังอยู่ในระดับต่ำอยู่ ส่วนดอกเบี้ยในประเทศยังคงตัวในระดับต่ำต่อเนื่องในปีหน้า ทำให้ภาพการลงทุนในตลาดหุ้นยังดูน่าสนใจอยู่

แต่ในที่นี้ เราจะขอมาพูดถึงความเสี่ยงที่น่าจับตาว่าจะมีประเด็นใดที่หลายคนมีความกังวลว่าจะทำให้ภาพการลงทุนแตกต่างจากที่กล่าวข้างต้น

ประเด็นแรกที่หลายคนยังคงกังวลใจคือเรื่องการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเมืองในประเทศ อย่างเช่น ความขัดแย้งในสหรัฐฯ หรือการเลือกตั้งอิตาลีที่เกิดขึ้นในปีหน้า รวมไปถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ทั้งในตะวันออกกลางและคาบสมุทรเกาหลี สำหรับในสหรัฐฯ ปธน. ทรัมป์ อาจสร้างความขัดแย้งได้รายวัน แต่ความขัดแย้งนั้นยังน่าจะรุนแรงจนบั่นทอนความเชื่อมั่น การที่เขามีแนวความคิดแบบ “พ่อค้า” ก็น่าจะสามารถบรรเทาผลกระทบต่อความนิยมชมขอบต่อตัวเขาและความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจด้วย ส่วนประเด็นการเลือกตั้งในอิตาลี ก็อาจยกฝรั่งเศสที่มีการเลือกตั้งเมื่อต้นปีมาเป็นตัวอย่าง สุดท้ายแล้วการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจ-สังคมมีการผูกติดกันเป็นอย่างมาก อีกทั้ง เศรษฐกิจอิตาลีก็เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามลำดับ อัตราการว่างงานก็ลดต่ำลง เหตุผลของผู้ที่ชูแนวคิดให้อิตาลีแยกตัวออกจากยูโรโซนก็ดูเหมือนจะมีน้ำหนักน้อยลงไปเรื่อยๆ และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ในพื้นที่ต่างๆ อาจจะคาดเดาได้ยากว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาอาจสร้างความตระหนกให้กับตลาดได้เฉพาะในช่วงสั้นๆ ดังที่เห็นในปีนี้

สำหรับความเสี่ยงที่สองที่หลายคนกังวลคือ การดำเนินนโยบายการเงินที่ผิดพลาดของธนาคารกลางใหญ่ๆ เพราะที่ผ่านมาตลาดปรับตัวขึ้นมาได้ด้วยสภาพคล่องที่ล้นโลกจากมาตรการ QE ดังนั้น หากธนาคารกลางเหล่านั้นดึงสภาพคล่องออกในปริมาณที่มากก็อาจทำให้ตลาดปรับตัวลดลงได้ อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้คิดว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็ในปีหน้า แนวทางเดินของธนาคารกลางต่างๆ ก็พอจะเห็นเลาๆ อยู่แล้ว เฟดลดขนาดงบดุลอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าอาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยไปบ้าง แต่ดอกเบี้ยที่ระดับประมาณ 2% ณ สิ้นปีหน้า ก็ไม่ได้ใช่ระดับที่จะชะลอเศรษฐกิจแต่อย่างใด ขณะที่ธนาคารกลางยุโรปก็จะลดปริมาณเข้าซื้อธนบัตรเริ่มตั้งแต่ต้นปีหน้า และอาจหยุดการเข้าซื้อตั้งแต่เดือน ต.ค. เป็นต้นไป แต่ดอกเบี้ยก็ยังน่าจะอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง จึงยังไม่ใช่ประเด็นที่น่าจะกังวลมาก ในทางตรงกันข้าม เราอาจจะกังวลต่อท่าทีของธนาคารกลางญี่ปุ่นมากกว่า ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ-เงินเฟ้อยังเพิ่งอยู่ในช่วงแรกของการฟื้นตัวเท่านั้น ทำให้เรามองว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นยังน่าจะดำเนินเหมือนเช่นเดิม แต่ภาพเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวและเงินเฟ้อที่ดีขึ้นนี้ ทำให้ความจำเป็นในการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายอาจจะเริ่มดูน้อยลง และในอดีตที่ผ่านมา ธนาคารกลางญี่ปุ่นก็มักจะสร้างความประหลาดใจให้กับตลาดอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้น เราอาจจะมองว่าท่าทีของธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจถือเป็นความเสี่ยงมากกว่าธนาคารกลางอื่นๆ

อีกประเด็นเสี่ยงคือราคาน้ำมัน การที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปีก่อน ทำให้เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (EM) เริ่มฟื้นตัวขึ้น และมีแรงซื้อเข้ามาในตลาดหุ้น EM ด้วย ดังนั้น หากราคาน้ำมันดิบร่วงลงไปอย่างรุนแรงอีกครั้ง ก็อาจกลับมาสร้างแรงกดดันให้กับเศรษฐกิจ-ตลาดหุ้น EM ได้อีกครั้ง เหมือนเช่นในช่วงปี 2557-2559 ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้หาก OPEC กลับมาขยายกำลังการผลิตเหมือนแต่ก่อน ในทางตรงกันข้าม หากราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากและสามารถยืนในระดับที่สูงได้ต่อเนื่อง ก็เป็นผลลบต่อตลาดหุ้นเหมือนกัน เพราะนั่นจะทำให้เงินเฟ้อจะเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ธนาคารกลางต่างๆ อาจต้องเริ่มใช้นโยบายการเงินที่คุมเข้มมากขึ้น เฟดอาจจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดเพื่อหยุดเงินเฟ้อ เป็นการแตะเบรคให้กับเศรษฐกิจและสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ ด้วย

การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนก็เป็นประเด็นที่น่าติดตาม เพราะหลังจากที่เศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนขึ้นตั้งแต่ต้นปีนี้ ส่งผลทำให้การค้าระหว่างประเทศของโลกปรับตัวดีขึ้น ดังนั้น นักลงทุนจึงต้องติดตามผลกระทบจากมาตรการคุมเข้มทางการเงินและอสังหาริมทรัพย์ของทางการจีนที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ด้วย ว่าจะทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอลงมากหรือไม่ เพียงใด แต่เรามองว่ามาตรการเหล่านั้นจะทำให้การเติบโตของจีนมีเสถียรภาพมากขึ้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนยังจะไม่รุนแรงนัก และการปรับตัวลงของตลาดหุ้นจีนน่าจะเป็นโอกาสในการเข้าสะสมเสียมากกว่า

แน่นอนว่ายังมีความเสี่ยงต่างๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้ แต่เราอาจมองว่าสำคัญน้อยกว่าประเด็นที่กล่าวข้างต้น หรือตลาดก็อาจจะปรับตัวลดลงโดยไม่มีสาเหตุนักก็ได้ (“Flash Crash”) จากราคาสินทรัพย์ที่ค่อนข้าง “แพง” ในปัจจุบัน แต่หากเรามองภาพระยะยาว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังดีต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงภาวะสภาพคล่องที่ยังสูง ดอกเบี้ยที่ยังคงต่ำ ขณะที่ความเสี่ยงหลายด้านที่กล่าวข้างต้นก็อาจจะไม่ได้ดูเสี่ยงอย่างที่กังวลกัน หมดนี้ก็น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้ต่อเนื่องครับ