เงื่อนไขสัญญาจ้าง ไม่ทำงานให้คู่แข่ง

เงื่อนไขสัญญาจ้าง ไม่ทำงานให้คู่แข่ง

ในสัญญาจ้างงาน นายจ้างอาจกำหนดเงื่อนไขในสัญญาจ้างว่า เมื่อพ้นหน้าที่ตามสัญญาไม่ว่าด้วยเหตุใด

ลูกจ้างจะต้องไม่ประกอบกิจการ ที่เป็นการแข่งขันกับนายจ้าง หรือไปทำงานให้คู่แข่งของนายจ้าง ในระยะเวลาที่กำหนด หากฝ่าฝืนต้องชำระค่าเงินให้นายจ้างเป็นเงินตามอัตราที่กำหนดไว้ 

จุดประสงค์หลักที่นายจ้างกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวไว้ เพื่อป้องกันส่วนแบ่งการตลาด หรือ เพื่อป้องกันความลับทางการค้าของนายจ้าง เช่นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ สูตรวิธีขั้นตอนการผลิต ข้อมูลการดำเนินธุรกิจ และข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าของนายจ้าง 

เงื่อนไขในสัญญาจ้างดังกล่าว เรียกกันว่า Non Compete contract หรือ Non Compete clause 

สัญญาลักษณะดังกล่าวทำกันในยุโรป บางประเทศ และในสหรัฐนานมาแล้ว

ตัวอย่างเช่น ลูกจ้างที่ทำงานในวงการสื่อสารเพื่อการพาณิชย์ ของเอกชน เช่น สถานีวิทยุหรือสถานีโทรทัศน์ เมื่อพ้นจากหน้าที่ในสถานีวิทยุ หรือสถานีโทรทัศน์ของนายจ้างเดิมไม่ว่าด้วยเหตุใดฯ จะไปทำงานในสถานีวิทยุ หรือสถานีโทรทัศน์อื่นไม่ได้ในช่วงเวลาที่กำหนด ปกติจะกำหนดไว้หนึ่งปี แต่รัฐบางรัฐ ถือว่าสัญญาลักษณะดังกล่าวเป็นโมฆะไม่มีผลใช้บังคับ

สำหรับในประเทศไทยไม่มีกฎหมายห้ามการทำสัญญาในลักษณะเช่นนี้ 

การพิจารณาว่าสัญญามีผลใช้บังคับหรือไม่ เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา และภายใต้บังตับของพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ที่ต้องมีลักษณะไม่เอาเปรียบลูกจ้างมากเกินสมควร

เงื่อนไขสัญญาจ้างดังกล่าวส่วนมาก จะกำหนดไว้ในสัญญาจ้างสำหรับลูกจ้าง ที่มีหน้าที่หรืออยู่ในตำแหน่งที่สำคัญ หรือในตำแหน่งที่เข้าถึงข้อมูลความลับทางการค้าของนายจ้าง ที่ผ่านมีกรณีพิพาทตามข้อสัญญานี้เข้าสู่การพิจารณาของศาล มากพอควร และมีคดีสู้กันจนถึงศาลฎีกา. มีคำพิพากษาฎีกาที่น่าจะถือเป็นบรรทัดฐาน ได้ คือ

* ข้อสัญญาห้ามทำงานให้คู่แข่งใช้บังคับได้ ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน  

คำพิพากษาฎีกาที่ 1275/2543. ที่วินิจฉัยว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่กำหนดว่า ในระหว่างการจ้างงาน หรือภายใน 5 ปี นับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดลง จำเลยจะต้องไม่ทำงานให้แก่บริษัทคู่แข่งทางการค้าของโจทก์ หรือมีหุ้นในบริษัทคู่แข่งทางการค้าของโจทก์ ซึ่งครอบคลุมถึงประเทศไทย ประเทศสาธารณรัฐเวียดนาม ประเทศกัมพูชา ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และประเทศเมียนมา(พม่า) เกี่ยวกับกิจการขนย้ายของตามบ้านฯ เป็นเพียงข้อจำกัดห้ามการประกอบอาชีพแข่งขันกับโจทก์ โดยจำกัดประเภทของธุรกิจไว้อย่างชัดเจน มิได้ห้ามประกอบอาชีพปิดทางทำมาหาได้ของฝ่ายใดโดยเด็ดขาด จนไม่อาจดำรงอยู่ได้ จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่เป็นโมฆะ

*เป็นข้อสัญญาที่จำกัดสิทธิของลูกจ้าง ต้องตีความโดยเคร่งครัด

คำพิพากษาฎีกาที่2169/2557. ที่วินิจฉัยว่า ข้อตกลงในการห้ามจำเลย ทำงานให้คู่แข่ง หลังจากพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์นั้น เป็นข้อตกลงในการจำกัดสิทธิของจำเลย จึงต้องตีความในข้อตกลงดังกล่าวโดยเคร่งครัด 

เมื่อเงื่อนไขในข้อตกลงนั้นเป็นการห้ามมิให้ประกอบกิจการ หรือเข้าร่วมในการประกอบกิจการใดๆ เอง 

ดังนั้น การที่จำเลยเข้าไปเป็นเพียงลูกจ้างของบริษัท ซ. แม้บริษัทที่เป็นนายจ้างใหม่ของจำเลย จะเป็นบริษัทที่แข่งขันกับธุรกิจของโจทก์ก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ประกอบกิจการ หรือเข้าร่วมในการประกอบกิจการ อันเป็นการแข่งขันกับธุรกิจของโจทก์ด้วยตนเอง จำเลยจึงไม่ได้ผิดสัญญา

*เป็นข้อสัญญาที่ใช้บังคับได้ ถ้าไม่ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม 

คำพิพากษาที่วินิจฉัยว่าโจทก์ผลิตเครื่องสำอาง ซึ่งในการประกอบกิจการโจทก์ต้องอาศัยการแข่งขันทางธุรกิจการค้า โจทก์จึงมีสิทธิตามสมควรที่จะป้องกันสงวนรักษาข้อมูล และความลับในทางการค้า เพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจของโจทก์ได้ จำเลยเป็นพนักงานโจทก์ ตำแหน่งหัวหน้างานผสมผลิตภัณฑ์บำรุงผิด ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการผลิตตามแผนงานของแผนกวางแผน โจทก์จึงมีสิทธิที่จะทำความตกลงกับจำเลยเพื่อรักษาความลับทางการค้าของโจทก์ได้ ด้วยการทำข้อตกลงกับจำเลยในการห้ามประกอบกิจการ หรือปฏิบัติงานในกิจการอื่นที่แข่งขันกับโจทก์ 

สัญญาข้อตกลงเรื่องการขัดแย้งเกี่ยวกับผลประโยชน์ ข้อ 2 ที่กำหนดว่า ในขณะที่จำเลยเป็นพนักงานหรือพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของโจทก์ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ตามภายใน 1 ปี นับแต่วันพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของโจทก์ จำเลยไม่ปฏิบัติงานเป็นพนักงานของนิติบุคคลอื่น ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดก็ตาม ในลักษณะการค้าประเภทหรือชนิดเดียวกันหรือคล้ายกัน หรือเป็นคู่แข่งทางการค้าของโจทก์นั้น เมื่อข้อตกลงมีกำหนดเวลาห้ามจำเลยอยู่ 1 ปี ถือได้ว่าเป็นกำหนดเวลาพอสมควร ไม่ทำให้จำเลยต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ จึงเป็นข้อสัญญาที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี

  * จำนวนเงินที่ต้องจ่ายให้นายจ้างเมื่อผิดข้อห้ามทำงานให้คู่แข่ง ถือเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ศาลปรับลดได้ 

คำพิพากษาฎีกาที่7364/2558 ที่วินิจฉัยว่า หลังจากจำเลยพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์ภายใน 1 ปี แล้วไปทำงานกับบริษัทที่มีลักษณะทางการค้าคล้ายกัน เข้าเงื่อนไขตามสัญญาข้อ 2 ถือว่าจำเลยผิดสัญญาจ้าง 

แต่ข้อตกลงในสัญญาที่มีข้อความว่า หากฝ่าฝืนข้อตกลงจำเลยยืนยอมให้โจทก์ปรับเงินจำนวน 500,000 บาท เป็นการกำหนดค่าเสียหายจากการผิดสัญญาไว้ล่วงหน้า จึงเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ.มาตรา379 ซึ่งถ้าสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงได้ตามมาตรา 383