Weibo ผงาดได้ในแบบจีน

Weibo ผงาดได้ในแบบจีน

แม้ผู้นำเทคโนโลยีกับธุรกิจบนโลกออนไลน์จำนวนมากจะมาจากโลกตะวันตก แต่ต้องยอมรับว่าขณะนี้เราไม่ควรมองข้ามธุรกิจจากประเทศในฝั่งตะวันออก

เช่น จีน ที่ในหลายหมวดผงาดขึ้นจนแทบจะแซงเจ้าเก่าต้นตำรับไปแล้ว อย่างที่จะชวนกันดูวันนี้ เช่น Sina Weibo ที่เป็น Microblogging Platform เทียบเคียงได้กับ Twitter ซึ่งมีผู้ใช้งานมากกว่า 222 ล้าน Subscribers กับราว 100 ล้านคนที่ใช้งานบ่อยทุกวัน (ตัวเลขตามรายงานในปี 2015 โดย Business of Apps) พร้อมราว 100 ล้านข้อความโพสต์ในแต่ละวัน

​“Weibo” เป็นคำเรียก Microblogging ในภาษาจีน โดยมีบริษัทที่เข้ามาทำตลาดหลายเจ้า รายที่เข้ามาตั้งแต่ปี 2009 และโด่งดังที่สุดคือ Sina Weibo กระทั่งเมื่อเรียก Weibo คนจะนึกไปถึงของ Sina Weibo ก่อน รายอื่นๆก็มาจากองค์กรไม่ด้อยไปกว่ากัน เช่น Tencent Weibo ผู้โด่งดังจาก WeChat วันนี้จะขอพาเจาะไปดูที่ Sina Weibo ว่ามีจุดแตกต่างที่โดดเด่นอะไรบ้าง เผื่อเป็นข้อคิดสำหรับ Startup ที่สนใจพัฒนา Platform เพื่อใช้ในการสื่อสารของผู้คน

​อันดับแรกที่พูดถึงกันเยอะคือWeibo เปิดพื้นที่ให้คนโพสต์ข้อความได้มากถึง 2,000 ตัวอักษรเทียบกับ Twitter ที่ให้แค่ 140 ตัว เป็นการเปลี่ยนจากความคิดว่าคนต้องการสื่อสารสั้นๆ เน้นใจความเป็นการสร้างพื้นที่ให้คนได้บอกเล่า บรรยายความคิดความรู้สึก และที่สำคัญปัจจุบัน Weibo เป็นช่องทางสื่อสารของหลายธุรกิจ จึงต้องการพื้นที่แจกแจงคุณสมบัติสินค้าบริการหรือแคมเปญที่ออกไป อีกกลุ่มที่ใช้งาน Weibo เยอะคือ สื่อที่ใช้รายงานข่าวสาร แนวคิดใหม่ของ Weibo นี้กลายเป็นตัวผลักดันให้ Twitter ต้องกลับมาพิจารณาขยายพื้นที่จำนวนตัวอักษรที่ให้โพสต์ข้อความได้

ถัดมาที่น่าสนใจ คือ การระบุตัวตนใน Weibo ที่นอกจากมีชื่อผู้ใช้แล้ว ข้างๆ ชื่อ Username ยังมีอีกหลาย icons เช่น Verification Badge ใช้ระบุว่าคนนั้นได้รับการตรวจสอบรับรองแล้วว่ามีตัวตนเป็นผู้ใช้แยกตามหมวดต่างๆ Function นี้ใน Twitter ก็มีเช่นกัน นอกจากนี้ที่แตกต่างคือ Weibo มีการระบุความเป็น VIP ได้โดยผู้ใช้สามารถจ่ายเงินเป็นรายเดือนซื้อบริการเพิ่ม อาทิ การมี Exclusive care service การได้สิทธิ์เข้าถึงบริการต่างๆที่มากกว่าปกติ อย่างเช่นจำนวนคนที่เข้าไปติดตามแบบไม่เปิดเผยตัว ซึ่งก็เป็นอีก Function ที่แตกต่างของ Weibo อย่างกรณีการตามดูแฟนเก่าแต่ไม่อยากให้เขารู้ตัว เป็นต้น VIP users นี้จะได้ icon รูปมงกุฎระบุความพิเศษข้างชื่อด้วย ซึ่งมีการวิเคราะห์กันว่าสอดรับกับวัฒนธรรมการให้ความสำคัญกับหน้าตาสถานะของคนเอเชีย เมื่อพิเศษแล้วก็ย่อมมีสุดพิเศษต่อไปอีก เช่น ที่มีคนเข้าเป็นสมาชิก Sport Car Club ในเมืองจีน เรียกย่อๆว่าเป็นกลุ่ม SCC โดยข้อมูลพบว่าเป็นคนจีนรุ่นใหม่ที่ร่ำรวย โดยมักเป็น generation ที่ 2 หลังรุ่นพ่อแม่ที่ประสบความสำเร็จสะสมทรัพย์ไว้มากแล้ว เงื่อนไขการเข้ากลุ่ม SCC นอกจากจ่ายค่าสมาชิกสูงๆ แล้วยังต้องมีรถสปอร์ตรุ่นหรูไว้ครอบครองด้วย ชาว SCC นี้ยังมีสถานะพิเศษสามารถเติมชื่อพ่วงท้าย Username ใน Weibo ระบุว่าเป็น _SCC ได้ด้วย

​อีก Function แตกต่างคือ ตัวแสดง Level ของผู้ใช้งาน พูดง่ายๆ คือ ยิ่งใช้มาก Level ก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นไป เอามาโม้ได้และยังเอามาท้าทาย (Challenge) คนอื่นเพื่อแข่งขันกันได้ด้วย รายงานการศึกษาพบว่าคนธรรมดาที่ไม่ได้เป็นดารา Celeb สามารถสร้างชื่อเสียงโด่งดังให้มีคนตามมากๆได้ใน Weibo และอีกอันที่ดูต่างจากวัฒนธรรมปรกติบนโลกกายภาพ คือ พบว่าคนต่างกลุ่มสังคมต่างสถานะชนชั้นก็มาปฏิสัมพันธ์กัน ซึ่งพบว่าเมื่อคนธรรมดาที่มีเรื่องราวน่าสนใจมาเชื่อมต่อกับ Celeb ก็มีโอกาสที่จะดันกันจนกลายเป็นดังได้ในเวลาไม่นาน

มาดูที่การใช้งาน Weibo บ้าง พบว่าคนใช้ Weibo ค่อนข้างเปิดกว้างและมีอิสระในการแสดงความเห็นกับเหตุการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อสื่อกระแสหลักอย่างหนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ และออฟไลน์มีข้อจำกัดสูง การบริโภคข้อมูลบางอย่างจึงมาปรากฏที่ช่องทางเลือก เช่น Weibo แทน ถัดมายังมี Functions อื่นๆ เช่นการ Retweets, Comments

สุดท้ายด้วยการที่มีองค์กรต่างๆทั้งภาครัฐ และธุรกิจเข้ามาใช้ Weibo เป็นช่องทางสื่อสารเป็นจำนวนมาก จึงเกิดเป็นการสร้าง Club ของผู้ใช้ขึ้น เป็น Online Community ตัวอย่างการสร้าง Club ของร้าน Hypermart ที่แจกส่วนลดให้กับ Users โดยอาศัยการนำข้อมูลไปทำ Data Analytic ก่อนเพื่อออกแบบโปรโมชั่นได้ตรงจุดความต้องการ พร้อมกันนั้นยังสามารถ Engage ให้คนมีส่วนร่วมกับกิจกรรม

​ต้องบอกว่าการเติบโตของ Weibo เป็นตัวอย่างให้ Startup ได้พิจารณาว่า หากอยากทำธุรกิจบางอย่างที่มีรายใหญ่ทำจนประสบความสำเร็จมาแล้วจะสามารถหาทางสร้างความต่างแล้วตอบโจทย์ฐานลูกค้าเฉพาะที่ มุ่งหมายไว้ได้อย่างไร เช่นที่ Weibo นำพฤติกรรมเฉพาะของคนจีนมาช่วยออกแบบการให้บริการ เป็นต้น