การใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ

การใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ

ข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์ในช่วงที่ผ่านมาด้านเศรษฐกิจนั้น นอกจากเรื่องของการคาดหวังการลงทุนใน อีอีซี เพื่อขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

และการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต 2-3 ปีข้างหน้าแล้ว ก็ยังมีเรื่องของช้อปช่วยชาติ 

การที่กระทรวงการคลังเร่งหามาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติม และการขยับตัวสูงขึ้นของ เอ็นพีแอล หรือ หนี้เสียในระบบ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าจะถึงจุดสูงสุดภายในปลายปีนี้ และบอกว่าไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วงในอนาคต เพราะหนี้เสียเป็นเรื่องของอดีต(lagging indicator) 

แต่ผมขอมองต่างมุมว่าเมื่อหนี้เสียเพิ่มขึ้น ธนาคารพาณิชย์ก็ระมัดระวังเพิ่มขึ้น และหากหนี้เก่าที่เป็นปัญหายังแก้ไม่ตก การปล่อยสินเชื่อใหม่ก็จะต้องทำอย่างจำกัด และระมัดระวัง ที่สำคัญคือมีข้อมูลบ่งชี้ว่า หนี้ที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (special mention loan หรือ เอส เอ็ม แอล) กล่าวคือลูกหนี้ที่เริ่มไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยได้ 1 เดือน มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และหนี้เสียที่ปรับโครงสร้างไปแล้วกลับมาเป็นเอ็นพีแอล อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งตอกย้ำว่าสภาวการณ์ทั่วไปของธุรกิจ (โดยเฉพาะเอสเอ็มอี) ภายในประเทศยังไม่ได้อยู่ในภาวะที่สดใสมากนัก และน่าจะยิ่งทำให้ธนาคารมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น 

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ปีนี้สินเชื่อขยายตัวได้เพียง 1% เท่านั้น 

เอ็นพีแอล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2015 เป็นต้นมา จาก 2.2% จนกระทั่งไตรมาส 3 ของปีนี้ เอ็นพีแอล ขยับขึ้นมาเป็น 2.9% ของสินเชื่อทั้งระบบ ซึ่งเป็นเรื่องแปลกที่ เอ็นพีแอล เพิ่มขึ้นในขณะที่กล่าวกันว่า เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

ทำให้เข้าใจได้ว่า รัฐบาลจึงยังต้องพยายามออกมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง

นโยบายการคลังนั้น มีจุดแข็งตรงที่สามารถช่วยกลุ่มใดของภาคเศรษฐกิจได้อย่างเฉพาะเจาะจง เช่น ช่วยคนจน หรือ ช่วยกระตุ้นยอดขายของร้านค้าขนาดใหญ่ที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม แตกต่างจากนโยบายการเงิน ซึ่งหากลดดอกเบี้ยก็จะส่งผลไปทั่วเศรษฐกิจ และประเมินได้ยากกว่าว่า กลุ่มใดจะได้รับผลประโยชน์ 

นอกจากนั้น นโยบายการคลังก็ยังสามารถนำมาใช้ให้ได้ผลอย่างทันท่วงที เช่นมาตรการที่ให้แรงจูงใจชาวนาไม่นำข้าวที่เพิ่งเก็บเกี่ยวรีบขายออกสู่ท้องตลาด เพื่อพยุงให้ราคาข้าวไม่ลดลงตอนปลายปี 

อย่างไรก็ดี นโยบายการคลังดังที่กล่าวมานั้น เป็นนโยบายที่หวังผลในระยะสั้น และไม่มีผลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน จึงเรียกกันว่าเป็นนโยบายประชานิยม (โดยเน้นว่าเป็นการสร้างความนิยมในระยะสั้น) และควรจะมีกรอบ 3 ประการคือ targeted, timely และ temporary แต่ปัญหาที่มักจะมีตามมาคือ แทนที่จะเป็นนโยบาย temporary ก็จะกลายเป็นนโยบายที่ยกเลิกได้ยาก

เมื่อกระตุ้นด้วยนโยบายการคลังไปแล้ว ก็จะกังวลว่าจะทำให้รัฐบาลขาดดุลงบประมาณมากขึ้น และทำให้วินัยทางการคลังเสื่อมถอยลงไป

รัฐบาลปัจจุบันเข้ามาบริหารงบประมาณตั้งแต่ปี 2015 โดยกำหนดให้งบประมาณขาดดุลเท่ากับ 1.9% ของ จีดีพีในปี 2015 เพิ่มขึ้นเป็นขาดดุล 2.8% ในปี 2016 และขาดดุล 3.6% ในปี 2017 แต่สำหรับปีงบประมาณปัจจุบันคือ 2018 นั้น ตั้งงบประมาณเอาไว้ว่าจะขาดดุลลดลงเหลือ 2.8% ของ จีดีพี โดยกำหนดรายจ่ายเอาไว้ที่ 2.90 ล้านล้านบาท ต่ำกว่า งบประมาณปี 2017 ที่กำหนดเอาไว้ที่ 2.923 ล้านล้านบาท เพราะเมื่อต้นปี 2017 รัฐบาลเพิ่มงบประมาณใช้จ่ายพิเศษอีกกว่า 1 แสนล้านบาท 

ประเด็นสำคัญคือ หากมีการเพิ่มรายจ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ยอดเงินใช้จ่ายของงบประมาณไม่เพิ่มขึ้นและการขาดดุลงบประมาณลดลง ก็แปลว่าในภาพรวมนั้น ภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจลดลง เพราะจะต้องลดรายจ่ายในส่วนอื่นๆ ลง เพื่อให้ยอดรายจ่ายโดยรวมไม่เพิ่มขึ้น แต่ยอดรวมของการจัดเก็บรายได้ (ส่วนใหญ่คือการเก็บภาษีและกำไรของรัฐวิสาหกิจ) เพิ่มขึ้นจาก 2.37 ล้านล้านบาทในปี 2017 มาเป็น 2.45 ล้านล้านบาทในปี 2018 

อย่างไรก็ดี หากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอ่อนตัว รัฐบาลก็คงจะออกงบประมาณเพิ่มเติมตอนกลางปีงบประมาณเช่นที่ได้เคยทำมาแล้วในปี 2017

แต่ตัวเลขที่น่าจะสำคัญมากกว่าในการขับเคลื่อนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ และทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างยั่งยืน น่าจะเป็นการลงทุนของทั้งภาครัฐ และภาครัฐวิสาหกิจ 

ในปี 2018 นั้น ได้ตั้งงบประมาณลงทุนเอาไว้สูงถึง 660,000 ล้านบาท และ 820,000 ล้านบาท ตามลำดับ แต่ปัญหาคือ ยอดเบิกจ่ายนั้น จะค่อนข้างต่ำเช่นเบิกจ่ายจริงเพียง 60% ขอบยอดงบประมาณลงทุน ทั้งการลงทุนของภาครัฐและการลงทุนของภาครัฐวิสาหกิจในปี 2016 และ 2017 เม็ดเงินที่ส่งเข้าไปในระบบจริง จึงประมาน 600,000-700,000 ล้านบาท และน่าจะมีของการนำเข้าสินค้าค่อนข้างสูงอีกด้วย 

ดังนั้นผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น จึงน่าจะมีขอบเขตจำกัดครับ