ระดมจุดสว่างเพื่อแก้คอร์รัปชันประเทศ”

ระดมจุดสว่างเพื่อแก้คอร์รัปชันประเทศ”

งานสัมมนาประจำปีของโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต หรือ CAC ในหัวข้อ Bright Spot หรือ“จุดสว่าง”เมื่ออังคารที่ผ่านมา

ในการผนึกกำลังภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ระดมความเห็นแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของประเทศ เป็นปรากฏการณ์ที่น่าชื่นชม โดยเฉพาะในภาวะที่ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศยังไม่ดีขึ้น และความพยายามของภาครัฐในการแก้ปัญหาก็ดูอ่อนแรงลง และในบางเรื่องดูเหมือนจะถอยหลังเข้าคลอง ตัวอย่างเช่น การแก้ไข พ.ร.บ. ป.ป.ช. ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ขณะนี้ 

ปีนี้มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 300 คน มากันตั้งแต่เช้า และอยู่กันตลอดทั้งงาน ถือเป็นการรวมพล และการให้กำลังใจที่สำคัญ  

เราเห็น Bright Spot จากทุกแวดวงตั้งแต่เช้าจรดเย็น ในภาคเช้า เราเห็นนักวิชาการต่างประเทศ ศาสตราจารย์ Nikos Passas จากสหรัฐ พูดถึงความยากของการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ที่ต้องขับเคลื่อนสังคมออกจากวัฒนธรรมของการทุจริต (Culture of Corruption) ไปสู่วัฒนธรรมของความถูกต้องโปร่งใส (Culture of Integrity) 

เราได้ฟัง Dr. Frank Brown พูดถึงความประทับใจในพลังและศักยภาพของ CAC ว่าเป็นตัวอย่างสำคัญของบทบาทภาคเอกชนในการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชัน ที่สามารถเป็นตัวอย่างให้กับอีกหลายประเทศ เราเห็นนักธุรกิจชั้นนำของประเทศ จากหลายสาขาธุรกิจ เช่น คุณปลิว มังกรกนก จากธนาคารทิสโก้ คุณวิริยะ จงไพศาล จากบริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด คุณ Rajiv Bawa จาก บมจ.โทเทิล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น และคุณวิเชียร พงศธร จากกลุ่มบริษัทพรีเมียร์ ที่ทั้งหมดเป็นบริษัทที่ผ่านการรับรองจากโครงการ CAC มาพูดเปิดอกถึงความสำคัญของภาคธุรกิจในการแก้คอร์รัปชัน และประโยชน์ที่ธุรกิจจะได้จากบทบาทและความร่วมมือดังกล่าว 

ในภาคบ่าย เราเห็นจุดสว่างจากโครงการต่างๆที่กำลังถูกขับเคลื่อนเพื่อสร้างความโปร่งใส สร้างธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชันของประเทศ มีคุณวรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน พูดถึงความร่วมมือของบริษัทจัดการลงทุน 11 บริษัท ร่วมกันออกกองทุน ที่ประชาชนสามารถเลือกลงทุน ที่เน้นเฉพาะหุ้นบริษัทจดทะเบียนที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี และมีการต่อต้านการทุจริตตามเกณฑ์ของสถาบันไอโอดี และโครงการ CAC 

เราได้ฟังคุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ กรรมการสถาบันอิศรา พูดถึงบทบาทสืบสวนสอบสวนเชิงลึกของสื่อมวลชนในการขุดคุ้ยกรณีคอร์รัปชันที่นำไปสู่การดำเนินคดีของภาครัฐ เราได้ฟังคุณสุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ บริษัท Toolmorrow พูดถึงการทำคลิปวีดิโอเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับสังคมจากตัวอย่างพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของสังคมไทย 

เราได้ยินคุณพนา รัตนบรรณางกูร พูดถึงโครงการ Citizen feedback ของ CAC ที่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับความพึงพอใจในการรับบริการภาครัฐและการจ่ายสินบนในการติดต่อราชการ เราได้ฟังนักวิชาการ คุณธานี ชัยวัฒน์ ที่ให้ข้อคิดว่าคนไทยมีพฤติกรรมที่มองประโยชน์ของตัวเองเป็นใหญ่ ไม่ชอบยุ่งกับเรื่องของคนอื่นและชอบมีสิทธิพิเศษ (Privilege) และได้รางวัลมากกว่าการลงโทษ สร้างบริบทความเข้าใจสังคมไทยที่สำคัญต่อการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน 

บุคคลทั้งหมดนี้ จริงๆ แล้วไม่ควรต้องสนใจเรื่องคอร์รัปชัน และไม่จำเป็นต้องมาร่วมงาน CAC เพราะภารกิจของแต่ละคนก็มากอยู่แล้ว แต่ที่ทุกคนทำเรื่องเหล่านี้และมาร่วมงานก็เพราะตระหนักว่าปัญหาคอร์รัปชันของประเทศนั้นรุนแรงและจำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน และมองว่าโครงการ CAC สามารถเป็นแพลตฟอร์มที่สร้างพื้นที่ความร่วมมือของกลุ่มคนต่างๆได้เพื่อแก้ไขปัญหา จึงพร้อมสนับสนุน เราจึงเห็นโครงการ CAC เติบโตต่อเนื่อง มีบริษัทถึง 860 บริษัทเข้าร่วมทำธุรกิจสะอาดโดยสมัครใจ ไม่รับ ไม่จ่ายสินบน ต่อต้านการทุจริต 

เราเห็นบริษัทกว่า 280 บริษัทได้ร่วมวางนโยบายและระบบภายในบริษัทของตน เพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันตามมาตรฐานของ CAC ที่มีบริษัทมายื่นขอรับรองกับ CAC 30-50 บริษัทต่อไตรมาส เราเห็นบริษัทขยายธุรกิจสะอาดไปสู่บริษัทในห่วงโซ่ธุรกิจของตน เพื่อขยายวงจรธุรกิจสะอาด เราเห็นบริษัทส่งบุคลากร มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ในหลักสูตรต่อต้านการทุจริต ที่มีผู้เข้าอบรมรวมแล้วเป็นพันๆ คน เราเห็นพลังของบริษัท CAC ที่มีมูลค่าตลาดรวมกันมากกว่า 80% ของมูลค่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีการจ้างงานกว่า 2 ล้านคน และเป็นตัวขับเคลื่อน GDP ที่สำคัญของประเทศ 

พูดได้ว่า ขณะนี้พลังของบริษัทที่เข้าร่วมกับโครงการ CAC มีโมเมนตัมเติบโต จนได้ผ่านจุด tipping point ไปแล้ว คือ จะไม่มีวันย้อนกลับเพราะมีบริษัทจำนวนมากที่เป็น Key Leadersในภาคธุรกิจของตนเข้าร่วม บริษัทที่เข้าร่วมเห็นประโยชน์ที่ได้จากโครงการ CAC ทั้งการลดความเสี่ยงด้าน Fraud และสินบนทุจริต รวมถึงในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทำให้บริษัทอื่นๆ อยากเข้าร่วม 

ขณะที่ความต้องการของสังคมก็ต้องการให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง สิ่งเหล่านี้ทำให้โครงการ CAC ได้กลายเป็นพลังขับเคลื่อนระดับประเทศหรือ national movement ไปแล้วที่จะไม่หยุดนิ่งหรือหวนกลับ 

คำถามต่อมาคือ เราจะต่อยอดพลัง CAC ต่อไปอย่างไรให้เกิดผลหรือ impact ต่อปัญหาคอร์รัปชัน ให้พฤติกรรมคอร์รัปชันในประเทศลดลง

ที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่มักส่ายหน้าไม่เชื่อว่าปัญหาคอร์รัปชันของประเทศจะแก้ได้ แต่ปัจจุบัน ความเห็นเปลี่ยนไป ความหวังมีมากขึ้น และความต้องการของประชาชนในประเทศก็ชัดเจนว่า อยากเห็นประเทศมีการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันอย่างจริงจัง 

ถ้าเราดูตัวอย่างความสำเร็จของประเทศอื่นๆที่แก้ไขปัญหาได้ และดูจากโครงการที่หลายคนในประเทศกำลังทำขณะนี้ เราได้เริ่มเห็นแสงสว่าง หรือ Bright spot ที่เป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ของการแก้ปัญหาแล้ว ชี้ว่าการแก้ไขจะสามารถทำได้ และที่เราต้องทำต่อไปก็คือ ต้องต่อยอดให้จุดสว่างที่มีอยู่ให้เติบโตมากขึ้นๆจนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ประสบความสำเร็จ

จำได้ไหม ทฤษฎีคานงัดโลกของ อาร์คิมิดิส (Archimedes) นักวิทยาศาสตร์ชาวกรีก สมัยก่อนคริสตศักราช ประมาณ 248 ปี ที่พูดว่า “ถ้าให้คานที่ยาวพอและมีจุดศูนย์กลางที่วางคานลงได้ จะสามารถงัดโลกให้เคลื่อนได้”

แต่ก่อนเราอาจไม่เข้าใจว่าคำพูดดังกล่าวนี้ว่าหมายถึงอะไร แต่ตอนนี้ชัดเจนว่าสิ่งที่อาร์คิมิดิสพูด ก็คือ ปัญหาทุกปัญหาสามารถแก้ไขได้ ถ้าเรามีเครื่องมือ และพลังหรือ effort ที่ถูกต้องในการแก้ปัญหา ถ้ามี ทุกปัญหาจะแก้ได้

จากแนวคิดนี้ ในการแก้คอร์รัปชัน สิ่งที่เราต้องทำต่อจึงมี 3 เรื่อง

  1. ต้องสร้างเครื่องมือให้ประชาชน ภาคธุรกิจ และคนในสังคมสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหามากขึ้นๆ ผ่านโครงการต่างๆที่จะเป็นจุดสว่างให้คนทั่วประเทศสามารถร่วมแก้ไขปัญหา เช่น โครงการ CAC โครงการ Citizen Feedback โครงการหมาเฝ้าบ้าน โครงการโตไปไม่โกง และโครงการอื่นๆ ที่ทำกันและจะมีมากขึ้น ต่อยอดให้เป็น “คานที่ยาวมากๆ” ที่จะงัดสู้กับปัญหาคอร์รัปชัน 
  2. ต้องขยายจำนวนบริษัทและภาคประชาสังคมให้เป็นพลังที่ใหญ่ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมในสังคม ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจทั้งบริษัทขนาดใหญ่และ SMEs หรือเป็นประชาชนคนธรรมดาอย่างที่ ตูน บอดี้แสลม กำลังทำอยู่หรือข้าราชการประจำ ที่จะรวมเป็นพลังให้ประเทศงัดสู้กับปัญหาคอร์รัปชันเพื่อให้สังคมดีขึ้น 
  3. ใช้พลังดังกล่าวผลักดันการเปลี่ยนแปลงในตัวกฎหมาย กฎระเบียบของทางการ และวิธีการทำงานของภาครัฐให้โปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ และมีความรับผิดรับชอบ เพื่อทำลายความเป็นสถาบันของการทุจริตคอร์รัปชันที่มีอยู่ในประเทศขณะนี้ เปรียบเหมือนการเลื่อนจุดศูนย์กลางของตำแหน่งที่วางคานให้เอื้อต่อการแก้ไขปัญหา

ภาคเอกชน และประชาสังคม ยังต้องร่วมกันสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ว่าจะเป็น ปปช. ปปท. สตง. ฯลฯ เพื่อให้มีการนำตัวผู้กระทำผิดในคดีทุจริตคอร์รัปชันมารับโทษตามกฎหมายบ้านเมือง 

ถ้าเราทำได้ทั้ง 3 เรื่อง โอกาสที่จะแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างสำเร็จก็จะมีมากขึ้น

นี่คือ ข้อสรุปที่ได้จากการสัมมนาของโครงการ CAC เมื่ออาทิตย์ที่แล้วว่า ปัญหาคอร์รัปชันสามารถแก้ไขได้ แต่ทุกภาคส่วนต้องมาร่วมกัน เป็นไม้ซีกที่จะงัดไม้ซุง คือ ลดปัญหาคอร์รัปชัน 

มาร่วมเป็นตัวเปลี่ยนแปลงหรือ change agent ไม่ว่าจะเป็นบริษัทธุรกิจ ประชาชน ข้าราชการ หรือนักการเมือง เพื่อให้สังคมไทยดีขึ้นโดยช่วยกันสร้าง และสนับสนุนแสงสว่างเล็กๆ ที่กำลังมีอยู่ให้สว่างและกระจายไปทั่ว เหมือนเปิดไฟให้สว่างทั่วประเทศเพราะ คอร์รัปชันเกิดในที่มืด ไม่อยากให้ใครมองเห็น แต่ถ้าเราช่วยกันเปิดไฟให้สว่างทั่วประเทศ คอร์รัปชันก็จะลดลง ซึ่งอยู่ในวิสัยที่เราทำได้ และเป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องการ