หุ้นท่าอากาศยานฯ เพิ่มสนามบินบวกระยะยาว

หุ้นท่าอากาศยานฯ เพิ่มสนามบินบวกระยะยาว

พิธีกร Stock Gossip by Money Wise ติดตาม live จ-ศ 13.30-14.00 น.

การท่องเที่ยวไทยยังรักษาการเติบโตได้ดีจากตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวในรอบ 10 เดือนที่ 28.8 ล้านราย และรัฐบาลยังตั้งเป้าหมายให้ปี 2561 เป็นวาระท่องเที่ยวแห่งชาติด้วยการทำรายได้ให้กับประเทศที่ 1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6 % จากปี 2560

ธุรกิจท่องเที่ยวจึงได้รับผลดีจากภาพดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นบริษัททัวร์ ร้านอาหาร โรงแรม ที่พัก สายการบินต่างๆ และที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดคือสนามบิน ซึ่งมีบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เป็นผู้ได้รับสัปทานบริหารสนามบินมากที่สุดเพียงรายเดียวของไทย

รอบ 9 เดือนที่ผ่านมาจาก6 สนามบินภายใต้การบริหาร คือ สุวรรณภูมิ ,ดอนเมือง ,ภูเก็ต ,เชียงใหม่, แม่ฟ้าหลวง เชียงราย และ หาดใหญ่ สงขลา มีจำนวนเที่ยวบินรวม 616,708 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 6.13 % จากปีก่อน และมีจำนวนผู้โดยสาร 96.77 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7.52 % จากปีก่อน 

โดยมีจำนวนผู้โดยสารปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกสนามบิน ซึ่งสนามบินที่ปรับตัวเพิ่มมากที่สุด คือสนามบินแม่ฟ้าหลวง เชียงราย จาก 1.4 ล้านคนเป็น 1.8 ล้านคนที่ 21.24 %

ท่ามกลางการเติบโตของรายได้ที่ 42,113 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.69 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน และมีกำไรที่ 16,894.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.13 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการเติบโตของทั้งธุรกิจการบิน เช่น ค่าบริการสนามบิน ค่าบริการผู้โดยสารขาออก และธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับการบิน เช่น ค่าเช่าสำนักงานและอสังหาริมทรัพย์ ค่าบริการ 

หากแต่ในอนาคต ท่าอากาศยานฯ จะเข้าไปบริหารสนามบินในประเทศเพิ่มอีก 2 แห่ง คือ จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดตาก หลังจากที่บริษัทเสนอเข้าไปบริหารสนามบินทั้งหมด 15 แห่งให้กับกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ซึ่งปัจุบันให้สิทธิเพียงแค่สองแห่งข้างต้น

การมีเพิ่มสองสนามบินเทียบกับจำนวนการใช้สนามบินอีก 6 แห่งต้องยอมรับว่ามีอัตราที่ห่างกันค่อนข้างมาก เพราะจากข้อมูลของ ทย. มีจำนวนสนามบินในประเทศ 38 แห่ง ซึ่ง 6 แห่งอยู่ในมือของ ท่าอากาศยาน ฯ อีก 4 แห่ง ภายใต้ดูแลของกองทัพเรือและ บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA

ดังนั้นจึงเหลืออีก 28 สนามบิน ซึ่งมีอัตราการใช้ประโยชน์อยู่ที่ 32 % มีรายได้ที่ 56.3 ล้านบาท ซึ่งบางสนามบินประสบปัญหาขาดทุนด้วยซ้ำ เมื่อลองมาเปรียบเทียบอัตราการใช้บริการตามส่วนแบ่งการตลาด สนามบิน 28 แห่ง อยู่ที่ 10 % สนามบินที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด คือ 6 สนามบินภายใต้บริหารของ ท่าอากาศยาน ฯ

ทางบริษัทมีแนวคิดในการดำเนินงานเป็นผู้บริหารเดียวทั้งหมด เพื่อใช้ในการพัฒนาเชื่อมโยงโครงข่ายทางท่าอากาศยาน และยังเป็นการเชื่อมการขนส่งทางอากาศโดยรวมของประเทศอีกด้วย กรณีการได้สนามบินอุดรธานี และตาก สามารถเชื่อมโยงเส้นทางไปยังภูมิภาคเพื่อรองรับผู้ใช้บริการได้เพิ่มขึ้น

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)เมย์ แบงก์ อิมเอ็ง (ประเทศไทย) คาดว่าการได้สนามบินมาบริหารเพิ่มจะเสริมการดำเนินงานของบริษัทให้ธุรกิจสนามบินแข็งแกร่งยิ่งขึ้น แม้ว่าระยะสั้นจะมีผลต่อรายได้ไม่มาก แต่มองว่าในระยะยาวจะเป็นการเพิ่มศักยภาพการเติบโตในภูมิภาค

โดยได้ประโยชน์จากการมีอัตราการเติบโตของเที่ยวบินผ่านการเชื่อมโยง และภาษีสนามบินใหม่ที่จะเข้ามาสามารถปรับเพิ่มขึ้นได้ จากปัจจุบันที่ระดับ 400 บาทสำหรับเที่ยวกับระหว่างประเทศ และ 50 บาทสำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ ซึ่งถือว่าต่ำกว่าสนามบินที่บริหารอยู่ 6 แห่งประมาณ 40-50 %

อย่างไรก็ตามจากการประเมินรายได้จากการบริหารจัดการสนามบินใหม่อาจจะน้อยกว่า 1% ของกำไรสุทธิ ส่วนมูลค่าสินทรัพย์ต่อหุ้น หลังรับโอนจาก ทย. แล้วตามที่คาดการณ์หากได้ทั้ง 28 แห่ง อยู่ที่ประมาณ 0.4 บาทต่อหุ้น ดังนั้นอาจจะมีการปรับประมาณการและราคาเป้าหมายอีกครั้งหลังรัฐบาลอนุมัติและมีรายละเอียดที่ชัดเจน คงแนะนำที่ราคาเป้าหมาย 60 บาท

บล.ธนชาต ให้มุมมองเป็นบวกต่อบริษัท เนื่องจากท่าอากาศยานทั้งหมดที่มีอยู่ใกล้เต็มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารแล้ว แต่ด้วยแผนการดังกล่าวอยู่ในช่วงเริ่มต้นน่าจะใช้เวลาเจรจาต่อรองกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

โดยเชื่อว่าทางบริษัทน่าจะให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวของผู้โดยสารคาดว่าจะเติบโตปีนี้ที่ 9.6 % และการประมูลสัมปทานร้านค้าปลอดภาษีรอบใหม่ ของสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งกำหนดประมูลช่วงเดือน ก.พ ปี 2561 และรู้ผลเดือนเม.ย ปีเดียวกัน รวมไปถึงความคืบหน้าโครงการแอร์พอร์ต ซิตี้