ปีหน้าเป็นปีมหามงคลเพราะคนจนหมดประเทศ?

ปีหน้าเป็นปีมหามงคลเพราะคนจนหมดประเทศ?

มื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อแห่งหนึ่งพาดหัวข่าวว่า ‘“สมคิด” ประกาศปีหน้าคนจนหมดประเทศไทย’ เนื่องจากพาดหัวนี้มีความกำกวม

สังคมออนไลน์จึงพากันตีความหมายในเชิงล้อเลียนอย่างสนุกสนานว่า ถูกต้องแล้วละ นโยบายของรัฐบาลจะทำให้คนไทยทั้งประเทศเป็นคนจน

แต่หากอ่านรายงานนั้นต่อไปจนจบ จะพบว่า ในการสัมมนาเรื่องไทยแลนด์ 2018 รองนายกรัฐมนตรีผู้มีหน้าที่ดูแลเศรษฐกิจประกาศว่า ปีหน้านโยบายอันหลากหลายของรัฐบาลจะบรรลุผล ทำให้เมืองไทยไม่มีคนจนเหลืออยู่ จึงเกิดคำถามว่า รองนายกฯ ผู้นั้นเสียสติไป หรือไม่รู้อะไรเกี่ยวกับสังคมมนุษย์แม้แต่น้อยใช่หรือไม่

ในเบื้องแรก ทุกประเทศในโลกมีคนจน ไม่ว่าจะเป็นประเทศก้าวหน้า หรือประเทศล้าหลังรวมทั้งประเทศไทย สภาพแบบนี้มีอยู่อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล และยังไม่มีนโยบายอะไรที่จะทำให้คนจนหมดไปจากโครงสร้างของสังคม ไม่ว่าสังคมจะเป็นแบบไหน ประเทศต่างๆ ยอมรับสภาพนี้ และมีมาตรการช่วยเหลือคนจนของตนตามความเหมาะสม 

หากรองนายกฯ หมายความว่า หลังรัฐบาลดำเนินมาตรการต่าง ๆ จนบรรลุเป้าหมาย ส่งผลให้คนจนทุกคนเข้าถึงปัจจัยเบื้องต้นสำหรับดำเนินชีวิตแบบครบถ้วนแล้วคนจนจะหมดไป เรื่องนี้มีความเป็นไปได้หากรัฐบาลมีทั้งมาตรการที่ดี มีประสิทธิภาพสูง มีทรัพยกรมหาศาล และปราศจากการฉ้อราษฎร์บังหลวง 

อย่างไรก็ดี ขอฟันธง ไว้ตรงนี้ว่า ทั้งรัฐบาลนี้ และรัฐบาลหน้าไม่ว่ารองนายกฯ คนดังกล่าว จะอยู่ต่อไปหรือไม่ จะไม่สามารถทำให้คนจนหมดไปจากประเทศไทยได้

ทางที่จะทำให้คนจนหมดไปจากประเทศไทย อาจทำได้โดยการประกาศว่าเมืองไทยไม่มีคนจน เช่นเดียวกับที่ประกาศว่าในรัฐบาลนี้ไม่มีคน หรือความฉ้อฉลปะปนอยู่ หรือไม่ก็ต้องใช้วิธีที่นางอีเมลดา มาร์กอสใช้ในสมัยที่นางเป็นนายกเทศมนตรีของนครมะนิลา เรื่องนี้มีรายละเอียดอยู่ในหนังสือชื่อ "จดหมายจากวอชิงตัน" ซึ่งอาจดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์วิทยาทานของมูลนิธินักอ่านบ้านนา (www.bannareader.com)

ในช่วงที่นางอีเมลดา มาร์กอสเป็นนายกเทศมนตรี ผมอาศัยอยู่ที่นครมะนิลา เฉกเช่นนครใหญ่ ๆ ในประเทศกำลังพัฒนา มะนิลามีแหล่งเสื่อมโทรม หรือสลัมจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีคนจนจำนวนมากอาศัยอยู่ 

เมื่อปี 2519 ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) จัดการประชุมประจำปีนอกกรุงวอชิงตัน โดยพากันมาประชุม ณ นครมะนิลา ไม่นานก่อนถึงกำหนดการประชุม นางอีเมลดา มาร์กอส ได้เริ่มดำเนินมาตรการที่จะทำให้นครมะนิลาไร้สลัม และสวยงามตามจินตนาการของนาง 

มาตรการหนึ่งได้แก่การสร้างกำแพงต่อด้วยไม้ระแนงให้สูงขึ้นไป แล้วทาสีขาวให้ดูสะอาดตา

เนื่องจากผมอาศัยอยู่ไม่ไกลจากสลัมขาดใหญ่แห่งหนึ่ง ผมจึงเห็นกระบวนการ 

สลัมนั้นอยู่ในตำบลบิคุตาน (Bicutan) เทศบาลของนครมะนิลาแก้ปัญหา หรือกำจัดสลัมนั้นด้วยการสร้างรั้วสังกะสีสูงราวสองเมตรครึ่งขึ้นรอบขอบนอกของสลัม เพื่อมิให้ผู้ผ่านไปผ่านมามองเห็นสภาพภายใน 

อย่างไรก็ดี รั้วนั้นมีประตูขนาดใหญ่พอสำหรับรถยนต์วิ่งเข้าออก ผู้ขับรถผ่านไปช้า ๆ และใส่ใจจะยังสามารถมองเห็นความแออัดภายในส่วนหนึ่งได้เป็นอย่างดี ส่วนผู้ไม่ค่อยใส่ใจ จะเห็นแต่ป้ายเหนือประตูที่มีข้อความว่า Bicutan Recreation Center หรือ “ศูนย์สันทนาการบิคุตาน”

ด้วยมาตรการมหัศจรรย์ของนายกเทศมนตรีอีเมลดา มาร์กอส ภายในพริบตา สลัมถูกกำจัดไปคงเหลือไว้เฉพาะศูนย์สันทนาการ รัฐบาลไทยจะใช้มาตรการแนวนี้หรือ นั่นคือ เปลี่ยนคำจำกัดความสำหรับคนจนว่าเป็นคนไม่มีปัจจัยสี่แม้แต่อย่างเดียว ส่วนใครที่มีอาหารรับประทานบ้างเป็นบางมื้อ หรือมีเสื้อผ้าพอสวมใส่โดยไม่ต้องเดินแก่ผ้าจะถือว่าไม่ยากจน 

การเสนอการตีความหมายของความยากจน หรือให้คำนิยามความยากจนเสียใหม่ในแนวนี้ย่อมมีผลทำให้คนจนหมดไปจากประเทศไทย แม้จะเป็นมาตรการศรีธนญชัยก็ตาม

เรื่องนี้มีความเป็นไปได้เพราะรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจเป็นผู้ช่างคิดมานาน คอลัมน์นี้ประจำวันที่ 26 พค. 2549 จึงเคยพิมพ์บทความที่สะท้อนความจริงข้อนั้นชื่อ “สมคิดคิดได้แต่ไม่สมควร