ทางเลือกของความเปลี่ยนแปลง

ทางเลือกของความเปลี่ยนแปลง

คนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยกำลังกังวลกับความเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึง เพราะปรากฏการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเริ่มส่อถึงเค้ารางของความยุ่งยาก

ที่อาจจะจัดการไม่ได้ชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเมือง เศรษฐกิจ และสังคม 

เค้าร่างความยุ่งยากทางการเมือง ปรากฏในลักษณะของการแบ่งสรรอำนาจที่ไม่ลงตัว ข่าวลือความขัดแย้งในกลุ่มผู้นำคณะรัฐประหาร ไม่ใช่เพียงแต่ความขัดแย้งส่วนตัว หากแต่มีรากฐานมาจากกลุ่มชนชั้นนำที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายชัดเจนขึ้น การเลือกไปขึ้นตรงต่อเจ้านายคนและถอยห่างจากเจ้านายคนใด 

ที่สำคัญ เมื่อเลือกแล้ว ก็มักจะสร้างปฏิบัติการณ์ให้เด่นชัดเพื่อให้เข้าตาเจ้านายคนใหม่ ซึ่งก็ยิ่งทำให้ทุกส่วนของการเมืองชนชั้นนำเขม็งเกลียวกันมากขึ้น 

ค้าร่างความยุ่งยากทางเศรษฐกิจ ปรากฏในลักษณะของความไม่สามารถในการกระจายรายได้ไปสู่สังคมวงกว้างมากขึ้น เพราะการกระจุกตัวของทุนที่ผ่านมา ได้ทำงานตามระบบ ซึ่งทำให้การสะสมทุนกลับเข้าสู่กลุ่มนายทุนใหญ่ โดยที่ไม่มีแนวทางในการใช้อำนาจรัฐบังคับให้เกิดการแบ่งสรรผลประโยชน์ให้เป็นธรรมมากขึ้น 

ขนาดที่โตขึ้นของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ ไม่ได้ทำให้เกิดความสบายใจขึ้นแม้แต่น้อย เพราะประชาชนทั่วไปยังคงตกอยู่ในความยากจน แม้ว่าบางส่วนจะหลุดพ้นจากเส้นระดับความยากจน (ที่ต่ำเตี้ยติดดินเกินไป ) แล้วก็ตาม 

เค้าร่างความยุ่งยากทางสังคม ปรากฏในลักษณะของความสัมพันธ์ทางสังคมที่ยังคงแตกแยกเป็นกลุ่มก้อนอยู่อย่างเดิม ความพยายามจะโหมสร้างมาตรการ "ปรองดองล้มเหลว เพราะด้วยข้อจำกัดทางการเมืองทำให้ไม่สามารถ “ ปรองดองสองฝ่าย” ได้ มิหนำซ้ำสภาวะทางเศรษฐกิจยิ่งซ้ำเติมให้การจัดตั้งทางสังคมแตกแยกมากขึ้นและปะทุขึ้นในพื้นที่ของชีวิตประจำวันด้วย 

กล่าวได่ว่า สภาวะในวันนี้กำลังกำหนดอนาคตของสังคมไทย หากเราไม่สามารถมองเห็นอะไรที่ดีกว่า และปล่อยให้สภาวะเช่นนี้ดำเนินต่อไป เราจะเผชิญวิกฤติที่ใหญ่หลวงกว่าที่เคยพบในช่วงสิบปีที่แล้วมา 

เราจะมองหาและมองเห็น “ ทางเลือกของความเปลี่ยนแปลง” ในวันนี้ได้อย่างไร

"ทางเลือกของความเปลี่ยนแปลง" ที่จะเป็นทางเลือกให้แก่สังคมหรือเป็นทางเลือกที่คนในสังคมส่วนใหญ่รู้สึกว่า นี่แหละคือทางเลือกที่พวกเราต้องการ จะต้องถูกขบคิดและร่วมกันสร้างสรรค์อย่างกว้างขวาง ทางเลือกของความเปลี่ยนแปลงที่ถูกเน้นย้ำว่าให้เดินไปในเส้นทาง

" ประเทศไทย 4.0 " ไม่ใช่ทางเลือกของสังคม เพราะถูกคิดขึ้นมาโดยชนชั้นนำบางเสี้ยว ที่เผอิญได้รับอำนาจมาจากการรัฐประหาร และคิดอย่างไม่มีฐานของความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย 

“ทางเลือกความเปลี่ยนแปลงของสังคม” จะเกิดขึ้นได้ในเงื่อนไขที่สำคัญสองด้านด้วยกัน

ด้านแรก จะต้องมีความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างแท้จริง จำเป็นที่ต้องมีการศึกษาความเปลี่ยนแปลงทุกมิติของสังคมไทย เพื่อทำให้เห็น และเข้าใจปฏิสัมพันธ์ของทุกส่วนในสังคมอย่างเป็นประวัติศาสตร์ที่พลวัตร 

ด้านที่สอง จะต้องมีภาพ/จินตนาการของความฝัน/ความหวัง/ความปรารถนาของสังคมไทยที่งดงามในอนาคตว่า เราควรจะร่วมกันสร้างสรรค์สังคมให้มีรูปลักษณะที่ทำให้ประชาชนทุกคนมีความเสรีภาพ เสมอภาคและมีความสุขในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรม 

ความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างแท้จริงที่กล่าวเน้นว่า เป็นความเข้าใจด้านแรกนั้น จะช่วยทำให้การสร้างภาพสังคมแห่งความคาดหวังนั้นเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น เพราะจะทำให้มองเห็นว่าพลังของความเปลี่ยนแปลงชุดใดส่งเสริมให้ก้าวไปสู่สังคมแห่งความหวัง และพลังชุดใดเป็นตัวขัดขวางเส้นทางที่เหมาะสม ขณะเดียวกันก็จะทำให้ภาพอุดมคตินั้นมีรากฐานความเป็นจริงของสังคมไม่ใช่คิดขึ้นจากตรรกของระบบธุรกิจอย่างเช่นที่ทำอยู่ในวันนี้ 

ขณะเดียวกันการทำความเข้าใจพลังสนับสนุน และพลังขัดขวางอย่างเป็นประวัติศาสตร์เช่นนี้ ก็จะทำให้เข้าใจได้ถึงระบบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดร่วมกันของพลังบางกลุ่ม อันจะทำให้มองเห็นแนวทางในการต่อรองกลุ่มพลังต่างๆ ให้มองเห็นอนาคตของกลุ่มตนที่สัมพันธ์กับอนาคตของสังคม อันจะทำให้เกิดความตระหนักว่า หากกลุ่มตนยังดื้อดึงเอาผลประโยชน์ฝ่ายเดียวอย่างที่เป็นมา ก็จะทำให้ทุกอย่างพังลงได้ และกลุ่มตนเองก็จะไม่ได้อะไรเลย

ความเข้าใจเช่นที่ว่านี้ ยังเป็นแนวทางการจัดการ ในกรณีที่ไม่สามารถผลักดันให้พลังกีดขวางบางส่วนออกไปจากการกำหนดอนาคตสังคมได้อย่างง่ายๆ ก็มีทางจะใช้วิธีการต่อรองให้ออกจากอำนาจด้วยผลประโยชน์ที่กลุ่มนั้นพึงพอใจ เป็นต้น 

การนำเสนอให้สังคมร่วมกันคิดในเรื่อง “ ทางเลือกของความเปลี่ยนแปลง “ จะเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กค้ำยันความเปลี่ยนแปลงที่ไม่พึงปรารถนาไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคต

การสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อทำใปสู่ความสำนึกต่ออนาคตร่วมกันนี้ ไม่สามารถทำได้ด้วยกลไกอำนาจรัฐเพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องการการทำงานร่วมกันของคนทำงานสื่อทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นสื่อกระแสหลักหรือสื่อใหม่ โดยที่จะต้องเน้นให้เกิดการเชื่อมโยงกันของการรับรู้ และกิจกรรมแสวงหาความรู้เพื่ออนาคตนี้ในระดับสังคม เชื่อว่าหากสังคมเริ่มร่วมกันสร้างความรู้ชุดนี้ขึ้น รัฐก็ย่อมที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วยอย่างแน่นอน

วันนี้ แม้ว่าสังคมไทยยังก้าวไม่พ้นเส้นแบ่งกีฬาสี ( ซึ่งคงอยู่ทุกวงการ ) หากแต่ลองร่วมกันเสนอความคิดเห็นและสร้างการรับรู้ทั้งสองด้านก็น่าจะทำให้เราทั้งหมดมองเห็นซึ่งกันและกันชัดเจนขึ้น อันน่าจะทำให้ประสานความแตกต่างทางความคิดได้เพราะกระบวนการเช่นนี้เป็นการสร้างอนาคตร่วมกันอย่างแท้จริงของทุกคนในสังคม