บริษัทจำกัดคนเดียวกับธุรกิจ SMEs

บริษัทจำกัดคนเดียวกับธุรกิจ SMEs

ปัจจุบันธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นและมีบทบาทเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

แต่อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาที่ผ่านมาหน่วยธุรกิจประเภทนี้ก็ประสบกับข้อจำกัดต่าง ๆ โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของกลุ่ม SMEs ที่ไม่ได้ดำเนินการในรูปแบบของนิติบุคคล อีกทั้งไม่ได้รับการสนับสนุนจากมาตรการทางกฎหมายจากภาครัฐ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขยายกิจการ และย่อมมีผลกระทบถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย

ธุรกิจ SMEs มีรูปแบบการดำเนินการที่หลากหลาย เช่น กิจการเจ้าของคนเดียว ห้างหุ้นส่วน และบริษัทจำกัด แต่ส่วนใหญ่ดำเนินการในรูปแบบกิจการเจ้าของคนเดียว ซึ่งมักประสบกับอุปสรรคต่าง ๆ ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เช่น ถูกปฏิเสธการให้สินเชื่อ หรือได้รับวงเงินน้อยกว่าที่ต้องการเนื่องจากธนาคารพาณิชย์กำหนดเงื่อนไขในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อจากปัจจัยเรื่องขนาดและความน่าเชื่อถือของกิจการ ซึ่งในความเป็นจริงธุรกิจ SMEs ส่วนมากไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล จึงไม่มีระบบบัญชีที่เหมาะสม ขาดการจัดทำงบการเงิน ไม่มีข้อมูลทางทะเบียนนิติบุคคลเพื่อยืนยันตัวตน ปัญหาดังกล่าวเป็นผลให้ธุรกิจ SMEs ขาดเงินหมุนเวียนและเป็นอุปสรรคต่อการขยายกิจการในอนาคต

เมื่อพิจารณาในแง่ของกฎหมาย กิจการเจ้าของคนเดียวไม่ถือเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น ความรับผิดของเจ้าของกิจการจึงมีไม่จำกัด กล่าวคือหากธุรกิจประสบปัญหาทางการเงิน เจ้าของกิจการจะต้องรับภาระหนี้สินทั้งหมด อีกทั้งยังเสียสิทธิประโยชน์ด้านภาษี เนื่องจากกฎหมายให้สิทธิเฉพาะวิสาหกิจที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในการลดและยกเว้นอัตราภาษีเงินได้ ดังนี้ ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ที่ดำเนินการในรูปแบบกิจการเจ้าของคนเดียวต้องรับภาระและความเสี่ยงสูง

จากปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่กล่าวมา จึงทำให้มีความพยายามในการพัฒนากฎหมาย โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้เสนอ ร่างพระราชบัญญัติการจัดตั้งบริษัทจำกัดคนเดียว พ.ศ. ... โดยในเรื่องการจัดตั้งบริษัทจำกัดคนเดียว ร่าง พ.ร.บ.ฯ นี้บัญญัติว่า บุคคลคนหนึ่งอาจขอจัดตั้งบริษัทตามพระราชบัญญัตินี้ได้หนึ่งบริษัท เว้นแต่เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และเมื่อจดทะเบียนแล้วจะมีสภาพเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  จะเห็นได้ว่าการจดทะเบียนถือเป็นเงื่อนไขหลักของการจัดตั้งบริษัทจำกัดคนเดียว ซึ่งมีผลทำให้บริษัทมีสภาพเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากเจ้าของบริษัทหรือผู้ถือหุ้น บทบัญญัตินี้ทำให้การจัดตั้งบริษัททำได้ง่ายและสะดวกขึ้น ผู้ประกอบธุรกิจขนาดย่อมไม่จำเป็นต้องหาหุ้นส่วนมาร่วมก่อตั้งกิจการ ซึ่งสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่ธุรกิจ SMEs มักดำเนินกิจการโดยบุคคลเพียงคนเดียว

ร่าง พ.ร.บ.ฯ กำหนดคุณสมบัติของเจ้าของบริษัทไว้ว่าจะต้องเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้ว และมีสัญชาติไทยเท่านั้น เจ้าของบริษัทจะต้องไม่เคยต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอก หรือลงทุนแทนคนต่างด้าว ซึ่งจะเห็นได้ว่าคุณสมบัติของเจ้าของบริษัทจำกัดคนเดียวมีเงื่อนไขมากกว่าคุณสมบัติของผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งนี้ อาจด้วยเหตุที่ร่าง พ.ร.บ.ฯ ต้องการป้องกันไม่ให้บุคคลสัญชาติไทยทำการลงทุนแทนคนต่างด้าวในลักษณะของนอมินี

ในเรื่องความรับผิดของเจ้าของบริษัทจำกัดคนเดียว ร่าง พ.ร.บ.ฯ บัญญัติให้เจ้าของบริษัทรับผิดเท่าจำนวนทุนที่นำมาลงในบริษัท และมีหน้าที่ต้องชำระทุนจดทะเบียนเต็มจำนวน กล่าวคือมีการนำหลักการจำกัดความรับผิด (Doctrine of limited liability) มาใช้กับบริษัทจำกัดคนเดียว ซึ่งหลักการดังกล่าวช่วยส่งเสริมให้เกิดการลงทุนและลดความเสี่ยงทางธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ในอีกแง่หนึ่งก็อาจมีการนำหลักการดังกล่าวไปใช้ในทางฉ้อฉล เพื่อต้องการหลีกเลี่ยงความรับผิดต่อบุคคลภายนอกได้ เนื่องจากการจัดตั้งบริษัททำได้โดยง่ายและสะดวกกว่าการจัดตั้งบริษัทจำกัด ซึ่งอาจเป็นประเด็นหนึ่งที่จะต้องพิจารณาให้รอบคอบด้วยเช่นกัน

สำหรับผลดีที่ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs จะได้รับหากมีการประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าวมีดังนี้

  1. การจัดตั้งบริษัททำได้สะดวกมากขึ้น ผู้ประกอบธุรกิจไม่จำเป็นต้องหาผู้ร่วมลงทุนเพิ่ม เหมาะสำหรับเจ้าของธุรกิจ SMEs ที่ไม่ต้องการร่วมทุนกับบุคคลอื่นหรือหาผู้ร่วมลงทุนไม่ได้
  2. การนำหลักการจำกัดความรับผิดมาใช้กับความรับผิดของเจ้าของกิจการบริษัทจำกัดคนเดียว ซึ่งทำให้ความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจลดลงและสามารถคาดหมายได้ถึงความเสียหายที่จะได้รับหากบริษัทประสบกับปัญหาทางการเงิน อีกทั้งยังเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้ผู้ที่คิดเริ่มต้นทำธุรกิจ SMEs สามารถตัดสินใจลงทุนได้ง่ายขึ้น
  3. การจดทะเบียนธุรกิจ SMEs ในรูปแบบบริษัทจำกัดคนเดียวสร้างความน่าเชื่อถือมากกว่าการดำเนินธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา เนื่องจากบริษัทมีหน้าที่จัดทำบัญชีและงบการเงิน รวมถึงต้องจัดให้มีการตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบบัญชี ซึ่งการจัดทำบัญชีและงบการเงินที่เป็นมาตรฐานจะทำให้สถาบันการเงินให้ความเชื่อถือในข้อมูลของกิจการ ส่งผลให้ธุรกิจ SMEs มีโอกาสได้รับสินเชื่อสูงขึ้น
  4. ผู้ประกอบกิจการประเภทบริษัทจำกัดคนเดียวจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษี กล่าวคือหากธุรกิจ SMEs จดทะเบียนเป็นบริษัทตามร่าง พ.ร.บ.ฯ จะมีผลทำให้บริษัทมีสถานะเป็นนิติบุคคล มีหน้าที่ในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 20 นอกจากนั้นรัฐบาลยังอาจมีมาตรการทางภาษีต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจ SMEs ที่ดำเนินการในรูปแบบของนิติบุคคล เช่น มาตรการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าร่าง พ.ร.บ.ฯ จะมีส่วนช่วยทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs เข้าสู่ระบบมากขึ้น ถือเป็นการช่วยเพิ่มจำนวนผู้เข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ยังทำให้รัฐบาลมีฐานข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจ SMEs ซึ่งสามารถนำไปช่วยในการวางมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจได้อย่างเหมาะสมต่อไปอีกด้วย.

 โดย ชญานี ศรีกระจ่าง

     ทพ  ญ. บุหลัน ทองคำ