5 ธีมเศรษฐกิจโลกในปี 2018

5 ธีมเศรษฐกิจโลกในปี 2018

ในปี 2018 ที่กำลังจะมาถึงนี้ ผู้เขียนขอฉาย 5 ธีมใหญ่ของเศรษฐกิจโลก ดังนี้

ธีมที่หนึ่ง เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวอย่างทั่วถึง ?

ในปี 2017 ที่กำลังจะหมดลงนั้น ภาพของเศรษฐกิจโลกที่เห็นได้ชัดคือการขยายตัวอย่างพร้อมเพรียง (Synchronized Growth) ทั้งเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วและประเทศตลาดเกิดใหม่ แต่การเติบโตครั้งนี้ปราศจากเงินเฟ้อ ดังจะเห็นได้จากเงินเฟ้อของประเทศส่วนใหญ่ต่ำกว่าเป้าหมายทั้งสิ้น

ในปี 2018 เป็นไปได้สูงว่าเศรษฐกิจจะยังไปต่อ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (1) โมเมนตัมของภาคการผลิตที่ขยายตัวต่อเนื่อง (2) กระแสต่อต้านโลกาภิวัฒน์ที่บรรเทาลงในปัจจุบัน (สอดคล้องกับการค้าโลกที่ขยายตัวดีขึ้น) และ (3) ธนาคารกลางต่าง ๆ ขึ้นดอกเบี้ยและ/หรือลดทอนการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE) อย่างค่อยเป็นค่อยไป

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องจับตาคือ เงินเฟ้อจะมาได้หรือไม่ โดยมีตัวแปรทางเศรษฐกิจที่ต้องติดตามคือ ค่าจ้างในสหรัฐ การว่างงานในยุโรป และอัตราการใช้กำลังการผลิต รวมถึงการปล่อยสินเชื่อเพื่อการบริโภคและลงทุนในประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยหากตัวเลขเหล่านี้เริ่มกลับมา ก็จะบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานในสหรัฐและยุโรปร้อนแรง ส่งสัญญาณถึงกำลังซื้อและความต้องการลงทุนในประเทศตลาดเกิดใหม่ที่เริ่มกลับมา ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นและเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างทั่วถึง ทั้งภาคการผลิตและการใช้จ่าย (แต่ดอกเบี้ยก็อาจต้องปรับสูงขึ้นเช่นกัน)

ธีมที่สอง การลงทุนจะยังไปต่อได้ ?

อาจกล่าวได้ว่าปี 2017 เป็นปีที่ดีปีหนึ่งของการลงทุนในตลาดเงินตลาดทุนทีเดียว โดยนับจากต้นปี หุ้นทั่วโลกเติบโตถึงกว่า 17.5% ขณะที่ในปีหน้านั้น เป็นไปได้ที่การลงทุนในหุ้นของประเทศพัฒนาแล้วอย่างยุโรปและญี่ปุ่นอาจจะยังไปต่อได้ จากโมเมนตัมทางเศรษฐกิจที่ส่งให้ผลประกอบการเติบโตดีต่อเนื่อง ขณะที่ในสหรัฐนั้น มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างที่อาจปรับสูงขึ้น รวมถึงดอลลาร์ที่อาจแข็งค่าขึ้นหากธนาคารกลาง (Fed) ขึ้นดอกเบี้ยแรง ซึ่งอาจเพิ่มต้นทุนของบริษัทจดทะเบียนและลดทอนผลกำไรได้ ขณะที่หุ้นในประเทศตลาดเกิดใหม่ยังอาจจะไปต่อได้ ตามทิศทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่องเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องจับตาคือตลาดพันธบัตร โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นของสหรัฐปรับสูงขึ้นมาก ผลจากการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed แต่ผลตอบแทนระยะยาวกลับไม่ปรับขึ้นมากนัก (หลังจากนโยบายทรัมพ์ที่เคยหาเสียงไว้หลายประการ เช่น นโยบายปฏิรูปภาษี และนโยบายด้านสุขภาพ ไม่สามารถทำได้) ทำให้ความแตกต่างระหว่างผลตอบแทนระยะสั้นและยาวน้อยมาก

หากสถานการณ์เช่นนี้ดำรงอยู่ต่อเนื่อง ผู้เขียนกังวลว่าจะไม่เป็นผลดีกับสถาบันการเงิน (โดยเฉพาะในสหรัฐ) เนื่องจากต้นทุนการระดมเงินฝากสูงขึ้นแต่การปล่อยกู้ (ที่ความเสี่ยงต่ำ) กลับไม่ได้ผลตอบแทนที่ดีเท่าไร ซึ่งอาจผลักดันให้สถาบันการเงินต้องหันไปลงทุนในการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น และทำให้เสี่ยงต่อวิกฤตธนาคารได้ (เช่นเดียวกับที่เคยเกิดในยุโรป)

อีกตลาดที่อาจผันผวนในระยะต่อไป คือตลาดอัตราแลกเปลี่ยน โดยมีปัจจัยที่จะกระทบหลายปัจจัย เช่น นโยบายปฏิรูปภาษีของทรัมพ์ ว่าทำได้หรือไม่ การขึ้นดอกเบี้ยและลดทอนงบดุลของ Fed รวมถึงการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศตลาดเกิดใหม่ และแนวโน้มเงินเฟ้อทั่วโลก ปัจจัยเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงและอาจทำให้ค่าเงินทั่วโลกผันผวนได้มาก

ธีมที่สาม จีนจะรุ่งหรือจะฟุบ ?

ในปีที่ผ่านมา นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอลง แต่กลับขยายตัวดีผิดคาด จาก 2 ปัจจัย คือ (1) เศรษฐกิจโลกฟื้น ทำให้การส่งออกของจีนดีตาม และ (2) รัฐบาลใช้นโยบายประคับประคองเศรษฐกิจ เพื่อให้ผ่านพ้นการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา

โมเมนตัมเช่นนี้น่าจะยังไปต่อได้ แต่สิ่งที่น่ากังวลสำหรับจีนคือการตึงตัวของภาคการเงิน เนื่องจากภาครัฐหันกลับมาคุมเข้มภาคการเงินเพื่อชะลอหนี้ที่เติบโตขึ้นมาก ทำให้อัตราการขยายตัวของสินเชื่อลดลงต่อเนื่องเช่นเดียวกับปริมาณเงินในระบบ ทำให้ตลาดเงินในจีนตึงตัวขึ้นมากจนภาครัฐต้องหันกลับมาอัดฉีดอีกครั้ง

สิ่งที่ต้องจับตาคือ ในระยะต่อไป หาก Fed ขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องและทำให้หยวนกลับมาอ่อนค่า อาจทำให้สภาวะทางการเงินของจีนกลับมาตึงตัวขึ้นและกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินได้

ธีมที่สี่ โลกาภิวัฒน์โต้กลับ ?

ในปี 2017 นั้น ทั่วโลกกังวลความเสี่ยงจากกระแสต่อต้านโลกาภิวัฒน์ โดยเฉพาะหลังจากการเลือกตั้งสหรัฐและประชามติ Brexit ในอังกฤษ แต่ในปี 2018 นั้น ความเสี่ยงเหล่านี้จะลดลงมาก ทั้งจากทรัมพ์ที่ไม่ได้ใช้นโยบาย “อเมริกามาก่อน” (America First) อย่างเต็มสูบ ขณะที่ในยุโรป กระแสดังกล่าวก็ลดลงหลังจากนักการเมืองที่เน้นนโยบายขวาจัดพ่ายแพ้การเลือกตั้ง ส่วนการเจรจาการค้าแบบพหุภาคี แม้ว่าสหรัฐจะถอนตัวจากหลายเวที เช่น TPP แต่ประเทศอื่น ๆ ก็พร้อมจะเดินหน้าต่อ บ่งชี้ว่ากระแสโลกาภิวัฒน์ยังคงพร้อมที่จะไปต่อ

อย่างไรก็ตาม ยังคงวางใจไม่ได้ 100% ว่า สงครามการค้าจะไม่เกิดขึ้น เนื่องจากทรัมพ์ พร้อมใช้นโยบายการค้ามาต่อรองเพื่อให้ได้ประโยชน์ตามที่ต้องการ

ธีมที่ห้า ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์บรรเทาลง ?

ในปี 2017 โลกกังวลปัญหาคาบสมุทรเกาหลี และสถานการณ์ตะวันออกกลาง โดยในเกาหลีนั้น คิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือสั่งยิงขีปนาวุธและทดลองนิวเคลียร์เฉลี่ยเดือนละครั้งเป็นอย่างน้อย ขณะที่ทรัมพ์ก็ขู่จะตอบโต้ รวมถึงผลักดันให้สหประชาชาติคว่ำบาตรด้านเศรษฐกิจ แต่ในที่สุด สถานการณ์ยังเป็นการคุมเชิง (Stalemate) เพราะแต่ละฝ่ายรวมทั้งจีนที่เป็นคนกลางก็ไม่กล้าทำอะไรเกินเลย เพราะรู้ว่าถ้าทำ อาจนำไปสู่วิกฤตนิวเคลียร์ได้

ในฝั่งของตะวันออกกลาง การรวบอำนาจของมกุฎราชกุมารของซาอุดิอาราเบีย รวมถึงความเสี่ยงสงครามระหว่างซาอุดิอาราเบียกับอิหร่านที่มากขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นจากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น แต่ผู้เขียนมองว่า โอกาสเกิดสงครามจริงค่อนข้างต่ำ เพราะจะกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศตะวันออกกลางมากโดยเฉพาะซาอุดิอาราเบียเองที่กำลังจะนำบริษัทน้ำมันของรัฐเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้น ในปีหน้า ความเสี่ยงเหล่านี้จะยังคงมีอยู่แต่ไม่น่าจะรุนแรง หากผู้เล่นทุกฝ่ายดำเนินกลยุทธอย่างมีตรรกะ

ห้าธีมเหล่านี้คือสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นในปี 2018 แต่สิ่งที่ต้องย้ำเสมอคือ ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน อะไรก็เป็นไปได้ในโลกแห่งความผันผวนยุคปัจจุบัน

//

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่