เฟ้นลงทุนหุ้นโรงแรม รับมาตรการเที่ยวช่วยชาติ

 เฟ้นลงทุนหุ้นโรงแรม รับมาตรการเที่ยวช่วยชาติ

พิธีกร Stock Gossip by Money Wise ติดตาม live จ-ศ 13.30-14.00 น.

นอกจากมาตรการช้อปช่วยชาติที่ดึงให้ประชาชนอยากใช้จ่ายเงินซื้อสินค้าปีนี้แล้ว ทางกระทรวงการคลังเตรียมออกมาตรการเที่ยวช่วยชาติเฉพาะท้องถิ่นเพิ่มเติมอีก15,000 บาทต่อราย ด้วยการนำค่าห้องพักและค่าอาหารมาใช้ลดหย่อนฐานภาษีของปี 2561

มาตรการดังกล่าวส่งผลดีต่อกลุ่มหุ้นโรงแรมทันที หุ้นโรงแรมที่ได้รับผลดีคือ บริษัท ดิเอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW ,บริษัทโรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL และ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT

หากแยกตามโครงสร้างรายได้พบว่าโรงแรมที่มีรายได้จากโรงแรมภายในประเทศเป็นหลัก คือ ดิเอราวัณฯ และ โรงแรมเซ็นทรัลฯ ทั้งสองบริษัทมีสัดส่วนอยู่ที่ 90 % ส่วน ไมเนอร์ ฯ มีสัดส่วนอยู่ที่ 50 %

ดิเอราวัณฯ ตั้งเป้าหมายปีนี้ มีโรงแรม 52 แห่ง จำนวน 7,315 ห้อง จากปัจจุบันมีโรงแรมที่เปิดให้บริการ 48 แห่ง จำนวน 6,999 ห้อง เป็นการเพิ่มขึ้นของ แบนด์โรงแรมฮ็อป อินน์ ซึ่งเป็นกลุ่มบัดเจ๊ท โฮเทล ถือว่าเป็นการจับกลุ่มตลาดใหม่ของบริษัท นอกเหนือจากกลุ่มลูกค้าระดับบน กลางและชั้นประหยัด

รอบ 9 เดือนที่ผ่านมา รายงานกำไรอยู่ที่ 344 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30 % ธุรกิจโรงแรมมีอัตราค่าเช่าเฉลี่ย 2,569 บาท รายได้ต่อห้องพัก (Revpar) ที่ 2,194 บาทต่อห้อง เพิ่มขึ้น 10 %(ยังไม่รวม Hop In)มีอัตราการเข้าพักอยู่ทิ่ 85 % ทรงตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน

โรงแรมเซ็นทรัล ฯ เป็นทั้งเจ้าของและโรงแรมภายใต้บริหาร ตั้งเป้าหมายปีนี้มี จำนวน 7,231 ห้อง จากปัจจุบันทั้งหมด 37 แห่ง จำนวน 7,080 ห้อง ซึ่งในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมารายงานกำไร 1,549 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.09 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน

โดยมีอัตราค่าเช่าเฉลี่ย 4,880 บาท ต่อห้อง เพิ่มขึ้น 1.8 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน มีอัตราการเข้าพัก อยู่ที่ 82.3 % ลดลง 0.6 %จากปีก่อน และมี Revpar อยู่ที่ 4,017 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.1 % จากปีก่อน

ธุรกิจอาหาร มีทั้งหมด 11 แบรนด์ มีอัตราการเติบโตจากสาขาเดิม (SSSG) เฉลี่ย ลดลง 2.0 % จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 1.4 % ซึ่งเป็นการลดลงของแบรนด์หลัก เช่น เคเอฟซี , มิสเตอร์ โดนัท , อานตี้ แอนส์ และ โอโตยะ

ไมเนอร์ ฯ เป็นทั้งเจ้าของและโรงแรมภายใต้บริหารมีจำนวนห้องพักทั้งหมด 19,860 ห้อง มีอัตราค่าห้องพักเฉลี่ย 5,444 บาทต่อห้อง มีอัตราการเข้าพัก 71 % และมี Revpar อยู่ที่ 3,872 บาท รายงานกำไรรอบ 9 เดือน ที่ 3,804 ล้านบาท ลดลง 28 % จากปีก่อน

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคจีไอ (ประเทศไทย) ประเมิน การเติบโตของ ดิเอราวัณฯ ปีนี้เพิ่มขึ้นจากกลุ่มโรงแรมไม่ใช่ 5 ดาว ที่สร้างรายได้ให้กับบริษัทได้มากกว่า ทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาดในการบริหารต้นทุน และยังช่วยหนุนอัตราการทำกำไรและกำไรสุทธิโตได้แรงกว่ารายได้

จากกำไรรอบ 9 เดือนคิดเป็นประมาณการ 76 % ของปี 2560 จึงปรับเพิ่มกำไรสุทธิปีนี้ขึ้นอีก 6 % เป็น 485 ล้านบาท และเพิ่มกำไรปี 2561 อีก 10 % เป็น 590 ล้านบาท ซึ่งทำให้ราคาเป้าหมายใหม่เพิ่มขึ้นอีก 1.50 บาทเป็น 8.50 บาท

ส่วน โรงแรมเซ็นทรัลฯ ธุรกิจโรงแรมปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยแต่ยังได้รับผลกระทบจาก Revper และอัตราค่าห้องพัก ที่โรงแรมมัลดีฟส์ยังอ่อนแอ ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 20 % ของรายได้รวม ซึ่งอนาคตบริษัทยังไม่มีแผนขยายโรงแรมจนถึงปี 2562 ขณะที่ธุรกิจร้านอาหารเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น

ดังนั้นประมาณการณ์กำไรปีนี้ที่ 1,971 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.4% และปี 2561 ที่ 2,106 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.8 % ที่ราคาเป้าหมายเดิม 50.50 บาท

สุดท้ายไมเนอร์ ฯ มีการเติบโตของธุรกิจโรงแรมปานกลาง ได้ผลดีจากโรงแรมในไทยและเติบโตมากที่สุด และธุรกิจอาหารที่ยังอ่อนแอ โดยเฉพาะในสิงคโปร์ ตรงข้ามกับธุรกิจค้าปลีกเห็นการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ทำให้ยังหนุนถึงไตรมาส 4 ประเมินกำไรดำเนินงานเท่าเดิมที่ 5,507 ล้านบาท ราคาเหมาะสมที่ 47.50 บาท