หนังสือพิมพ์วันพรุ่งนี้ (1)

หนังสือพิมพ์วันพรุ่งนี้ (1)

หนังสือพิมพ์ ถูกขึ้นบัญชีว่ามีความเสี่ยงถูกคลื่นเศรษฐกิจดิจิทัลกวาดลงจากสนามข่าวมาพักใหญ่แล้ว หลังสื่อใหม่อย่าง อินเตอร์เน็ต ปรากฎตัวในไทย

เมื่อปี 2535 พร้อมกับการเบ่งบานของเว็บข่าวในช่วงเวลาต่อมา แต่ 2 ทศวรรษเศษที่ผ่านมา เว็บข่าว หรือ ข่าวออนไลน์ ไม่สามารถเขย่าบัลลังก์หนังสือพิมพ์เสาหลักวงการสื่ออย่างที่คนในวงการกังวลกัน ข้อสรุปดังกล่าวยืนยันได้จากเม็ดเงินโฆษณา รายได้หลักของหนังสือพิมพ์ ที่ผ่านหนังสือพิมพ์ ระหว่างปี 2545 ถึง 2555 ตัวเลข ขยับขึ้นมาโดยตลอด ตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่ 14,505 ล้านบาทต่อปี โดยประมาณ (สถิติสูงสุดปี 2547 มูลค่า 17,739 ล้านบาท:นีลสัน มีเดีย) ที่สำคัญหนังสือพิมพ์ยังอยู่บนแผงกันครบ แต่สถานการณ์วันนี้เปลี่ยนไปแล้ว

ลางบอกเหตุ

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2556-2560) เม็ดเงินโฆษณาผ่านหนังสือพิมพ์ถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง จาก 15,256 ล้านบาทในปี 2556 เหลือ 13,182 ล้านบาทในปี 2557 พอเข้าสู่ปี 2558 เม็ดเงินโฆษณาไหลลงมาอยู่ที่ 12,332 ล้านบาท ก่อนหล่นฮวบลงมาเหลือเพียง 9,843 ล้านบาท ในปี 2559 ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2544 หรือถอยหลังไปกว่า 15 ปี หากเปรียบเทียบตัวเลขระหว่างปี 2556 กับ 2559 ซึ่งเป็นช่วงโซเชียลมีเดียบูม จะพบว่าในช่วงเวลา 4 ปีดังกล่าวนั้น เม็ดเงินโฆษณาผ่านหนังสือพิมพ์ ลดลงถึง 5,412 ล้านบาท หรือลดลงมากกว่า 35 % รายได้หายไปขนาดนี้มีหรือวงการหนังสือพิมพ์จะไม่เสทือน

นอกจากรายได้โฆษณาที่หายไปแล้ว หนังสือพิมพ์ยังเผชิญกับยอดขายหนังสือพิมพ์(ราว 20 %ของรายได้รวม) ตกต่ำลงต่อเนื่อง “เอเย่นต์ปิดไปเยอะ แผงหายไปราว 30 % “ผู้จัดการฝ่ายจัดจำหน่ายหนังสือใหญ่ฉบับหนึ่งประมาณการให้ฟัง

ชุดข้อมูลข้างต้น เป็นฐานให้คาดการณ์คำตอบๆถึงสาเหตุที่ หนังสือพิมพ์เก่าแก่อย่าง บ้านเมือง ที่ยืนหยัดในวงการมากว่า 45 ปี จึงประกาศอำลาวงการ และหนังสือพิมพ์ที่เหลือในตลาด 13 ฉบับไม่ว่า ฉบับ เล็ก หรือ ยักษ์ใหญ่ รายวัน หรือ รายสามวัน ล้วนดำเนินมาตรการ รีดไขมัน ลดหน้า-ลดคน-ลดค่าใช้จ่าย กันถ้วนหน้า

ผลประกอบการติดลบ

รายได้ระดับอุตสาหกรรมที่หดตัว ผูกโยงกับผลประกอบการของ บริษัทดำเนินธุรกิจหนังสือพิมพ์โดยตรง หากเข้าไปส่องผลประกอบการของสื่อ 3 ค่ายใหญ่ในตลาดหุ้น (บางกอกโพสต์ เนชั่น มัลติมีเดีย และมติชน) ระหว่างปี 2556-2559 พบว่า ทั้ง 3 ค่าย มีผลประกอบการขาดทุนมากกว่ากำไร อาทิ บมจ.โพสต์ พับลิชชิง ขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 ถึงไตรมาสสองปีนี้ ส่วน บมจ.มติชน ผลประกอบการระหว่างปี 2557-2559 ขาดทุน ก่อนพลิกกลับมาทำกำไรเล็กน้อยในไตรมาสสอง และ บมจ.เอ็นเอ็มจี เริ่มขาดทุนตั้งแต่ปี 2559 ถึงไตรมาสสองปี2560 เป็นต้น

แม้การหดตัวของตัวเลขโฆษณาซึ่งเป็นรายได้หลักของหนังสือพิมพ์ (ราว 80 % ของรายได้รวม) ส่วนหนึ่งเป็นไปตาม สภาวะอุตสาหกรรมที่เม็ดเงินโฆษณาภาพรวมทั้งระบบหดตัวตามเศรษฐกิจ (ปี 2559 เม็ดเงินโฆษณาทั้งอุตสาหกรรมอยู่ 107,896 ล้านบาทลดลงจากปี 2556 จำนวน 15,201 ล้านบาท :นีลสัน มีเดีย) แต่ถ้าพิจารณาองค์ประกอบข้างเคียงประกอบด้วยแล้ว จะพบว่าสภาวะรายได้ถดถอยของธุรกิจหนังสือพิมพ์นอกจากปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นเหตุแล้ว ยังมาจากผลการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอุตสาหกรรมอีกด้วย

ดังที่ได้เกริ่นไว้ข้างต้นบ้างแล้วว่า อนาคตหนังสือพิมพ์ ถูกจับตามานานแล้วนับแต่ข่าวออนไลน์ที่เสนอข่าวผ่านเว็บไซต์เข้ามามีบทบาทในวงการสื่อเมืองไทยเมื่อกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ตลอดช่วงเวลานั้น หนังสือพิมพ์ทุกค่าย ไหวตัว เปิดเว็บไซต์ นำเสนอข่าวคู่ กับ หนังสือพิมพ์ เพราะอย่างน้อยก็เป็นการขยับตัวต้อนรับ สื่อใหม่ แต่โมเดลปรับตัวด้วยการเสนอข่าวผ่านหน้าหนังสือพิมพ์คู่กับเว็บไซต์ แค่ทำให้คนทำหนังสือพิมพ์สบายใจเท่านั้น ไม่ได้มีผลต่อรายได้

เมื่ออินเตอร์เน็ตมาถึงเมืองไทยใหม่ๆ นักวิชาการด้านคอมพิวเตอร์กับคนทำสื่อขึ้นเวทีสัมมนา ถกกันเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศจะมีผลอย่างไรกับสื่อและได้ข้อสรุปว่า วันนี้ (หมายถึงปี 2539) หนังสือพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ (ชื่อเรียกตอนนั้นหรือเว็บข่าวในยุคนี้) ยังไม่สามารถเข้ามาแทนที่หนังสือพิมพ์ได้จากข้อจำกัดหลักอาทิ ต้องมีคอมพิวเตอร์จะเข้าถึงบริการได้ ไม่สามารถพกได้ (เมื่อเทียบกับหนังสือพิมพ์)

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนเคยสนทนากับนักหนังสือพิมพ์อาวุโสหลายคนถึงประเด็นดังกล่าว มุมมองคนข่าวรุ่นนั้น(พิมพ์ข่าวด้วยพิมพ์ดีดเสียงดังรัวๆเหมือนข้าวตอกแตก) มองว่า อินเตอร์เน็ตเป็นการเสริมหนังสือพิมพ์ และ เป็นเครื่องมือช่วยให้นักข่าวทำงานง่ายขึ้น ไม่ใช่คู่แข่ง ความเชื่อดังกล่าวถูก ... แต่ยังไม่ทั้งหมด

ห้าเหตุการณ์สำคัญ

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นว่าเกิดอะไรขึ้นกับวงการหนังสือพิมพ์ เราต้องถอยหลังออกมายืนนอกวงการสื่อ พร้อมกับกวาดสายตามองการเปลี่ยนแปลง ในแวดวงข้างเคียงไปพร้อมๆกัน ในปี 2555 หนึ่งปีหลังน้ำท่วมใหญ่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เปิดประมูลคลื่นความถี่ 3G คลื่นซึ่งมีคุณสมบัติโดดเด่น สามารถส่งได้ทั้ง ข้อความ ภาพ เสียง ฯลฯ ได้เร็วขึ้น ผลที่ตามมาคือยอดขายสมาร์ทโฟน พุ่งพรวด (ดูตารางประกอบ)

ปัจจัยคุกคามหนังสือพิมพ์

หนังสือพิมพ์วันพรุ่งนี้ (1)

ศัตรูหรือมิตร

การมาของ 3 จี และ ตลาดสมาร์ทโฟนที่เฟื่องฟูอย่างถึงที่สุด ทำให้การสื่อสารในสื่อสังคม หรือโซเชียงมีเดีย บูมสนั่นและ ทะลุถึงขั้นบ้าคลั่ง เมื่อยุค 4 จี มาถึงในปี 2559 คลื่นข้อมูลข่าวสารถูกส่งวนไปในสื่อสังคม ดึงดูดให้บริษัทให้บริการเครือข่ายสังคมยักษ์ใหญ่ของโลก กระโจนลงมาเล่นในสนามข่าวไทย อย่างเช่น เฟซบุ๊ค เปิด Instant Articlesอย่างเป็นทางการ ตามด้วย กูเกิลนำเสนอ Google play Newsst และปี 2559 ไลน์เปิดบริการ Line Today ป็นต้น

โมเดลความร่วมมือ ระหว่างบริษัทบริการเครือข่ายสังคมใกล้เคียงกัน คือบริษัทบริการโซเชียลมีเดีย ให้พื้นที่ (เครือข่าย) ด้วยการจูงใจสื่อที่จะเข้าร่วมว่าเป็นการสร้างประสบการณ์ให้แบรนด์ (หัวหนังสือ) และแบ่งผลประโยชน์จากโฆษณาที่เข้ามา ข้อเสนอดังกล่าวประสบความสำเร็จมาก หนังสือพิมพ์ ทีวี เว็บข่าว ฯลฯ เข้าร่วมอย่างคับคั่ง เฉพาะ เฟซบุ๊ค หนังสือพิมพ์หัวหลักๆ ของเมืองไทยเข้าร่วมเป็นพันธมิตรโดยพร้อมหน้า เป็นโอกาสที่จะให้ข่าวสารวนอยู่ในโลกออนไลน์โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม เพราะข่าวต้องผลิตอยู่แล้ว เปรียบเหมือน ผลพลอยได้ ที่สามารถเพิ่มรายได้โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม

ว่าไปแล้ว ทิศทางข้างต้นดูขัดกันกับสิ่งที่หนังสือพิมพ์กังวล ที่ระบุเช่นนั้น เพราะขณะที่หนังสือพิมพ์โอดครวญถึงภาวะยอดขายหนังสือพิมพ์ตกต่ำ บางรายถึงขั้นต้องปิดกิจการ เช่นกรณีหนังสือพิมพ์บ้านเมืองที่ฝ่ายบริหารแจ้งพนักงานถึงเหตุผลที่ต้องปิดกิจการว่า “ เนื่องจากรูปแบบในการดำเนินธุรกิจได้เปลี่ยนไปอย่างมาก” เมื่อสื่อใหม่คือสาเหตุให้สื่อสิ่งพิมพ์อยู่ยาก แล้วเหตุใดผู้ประกอบการกลับ พาเหรดเข้าร่วมเป็นพันธมิตรป้อนข่าวให้บริษัทผู้ให้บริการโซเชียล ซึ่งชิงผู้อ่านจากหนังสือพิมพ์โดยตรง เหมือนยังสับสนว่า โซเชียลมีเดีย เป็นศัตรู หรือ มิตร กันแน่ !!!

โดย... ชญานิน ศาลายา