‘พลังงานหมุนเวียน’ที่มั่นคง ปัจจัยสำคัญสู่‘ประเทศไทย4.0’

‘พลังงานหมุนเวียน’ที่มั่นคง ปัจจัยสำคัญสู่‘ประเทศไทย4.0’

การประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีพลังงานเอเชีย ครั้งที่ 7 หรือ AMER7 ว่าด้วยเรื่องความสำคัญของการพัฒนาด้านการตลาดน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ

พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมพลังงาน ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และมี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นั่งเป็นประธานการประชุม เมื่อเร็วๆ นี้ มีข้อสรุปที่น่าสนใจหลายประการ

ที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่าในอนาคตเอเซียจะเป็นจุดสำคัญของทั้งโลก ในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่มั่นคง ทั้งเรื่องของ ราคาที่เหมาะสมและความเท่าเทียมกันตลอดจนการเจริญเติบโตของความต้องการและน้ำหนักทางด้านภูมิศาสตร์ของเอเชีย จะช่วยลดความผันผวนในตลาดโลก และการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของโลกด้วย

ขณะที่การสร้างความแข็งแรงด้านการลงทุนร่วมกันทั้งในเทคโนโลยีใหม่และเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมในทวีปเอเชียจะเป็นตัวอย่างให้แก่ภูมิภาคอื่นในการดำเนินรอยตาม ในการสร้างความมั่นคงและการเข้าถึงพลังงาน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ตลาดพลังงานที่สุขภาพดีและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

นอกจากนี้บรรดารัฐมนตรีพลีังงานยังมีความยินดีต่อการประชุมหารือที่ได้รับการสนับสนุนโดย IEF เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานตามแต่ละเส้นทางการเปลี่ยนผ่านต่างๆ ผ่านตลาดพลังงานที่ดำเนินการได้เป็นอย่างดี เปิดเผย มีการแข่งขัน มีประสิทธิภาพ และโปร่งใส พร้อมทั้งส่งเสริมความร่วมมือ การค้า และการลงทุนทั่วภูมิภาคเพื่อ การสร้างการเข้าถึงพลังงานให้กับผู้คนเพื่อให้มีมาตรฐานชีวิตที่สูงขึ้นและดีขึ้น

รวมไปถึงการสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการลดของเสียเกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทานด้านพลังงาน  การเพิ่มการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) และการดำเนินการในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามข้อตกลงปารีส

ที่ประชุมยังตระหนักว่าการลงทุนในภาคพลังงานในด้านพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีก้าวกระโดดจะยังคงดำเนินต่อไป ในขณะที่การลงทุนในแหล่งพลังงานที่มีอยู่แล้วและในการบูรณาการด้านโครงข่ายด้านพลังงาน ซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ของการเติบโตของความต้องการและความสมดุลทางตลาดนั้น อยู่ในช่วงถดถอยลง

รวมทั้งบรรดารัฐมนตรียังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างการเจรจาหารือในเวทีด้านพลังงาน ระดับสากลที่เปิดกว้างและเป็นกลาง โดยมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับองค์การระหว่างประเทศ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับประกันการลงทุนในพลังงานฟอสซิล พลังงานหมุนเวียน และพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อให้เกิดการส่งเสริมกันในตลาดพลังงานที่บูรณาการและมีความยืดหยุ่น

เพื่อก่อให้เกิดการลงทุนในระยะยาวที่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนผันของรูปแบบความต้องการใช้และการจัดหา  บรรดารัฐมนตรีเห็นควรให้มีการเปิดตลาดเพื่อรองรับเทคโนโลยีและแนวนโยบายการเปลี่ยนผ่านใหม่ๆ ควบคู่ไปกับการหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในตลาด นักลงทุนอุตสาหกรรม และสถาบันทางการเงิน เพื่อใช้โอกาสใหม่ๆได้อย่างเต็มที่ และลดความเสี่ยงจากการลงทุนที่มีอยู่เดิม

ที่สำคัญบรรดารัฐมนตรียังมีความเห็นส่งเสริมให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกันพัฒนากรอบความร่วมมือที่บูรณาการในระดับสากลเพื่อเร่งให้เกิดผลจากการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพให้เกิดทั่วทุกภาคส่วนของภาคพลังงาน และใช้กรอบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของ IEF พร้อมกับความร่วมมืออย่างใกล้ชิดขององค์การต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และเวทีด้านธรรมาภิบาลในเอเชีย 

รวมถึงองค์การระหว่างประเทศ ในโครงกาG20 Energy Efficiency Leading Programme ภายใต้การรับรองจากการประชุม G20 ที่ประเทศจีนเป็นประธาน ในปี พ.ศ.2559 และข้อตกลงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มการผลิตประสิทธิภาพการพลังงานในเอเชีย รวมทั้งระดับโลก

ผลจากการประชุม AMER 7 ได้ย้ำถึง​เทรนด์พลังงานโลก ที่เป็นยุคเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียน ซึ่งในหลายประเทศตื่นตัว ซึ่งก็มีหลากหลายแนว แต่สิ่งที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์สูงสุดก็คือ พลังงานหมุนเวียนที่มั่นคงอันหมายถึงพลังงานที่ผลิตได้ 24 ชั่วโมง ไม่ใช่วูบวาบตามธรรมชาติ ซึ่งตอนนี้ที่มีให้เห็น เช่นโครงการ CSP ที่ดูไบ มีระบบกักเก็บพลังงานมาช่วย เป็นโครงการที่ใช้แสงอาทิตย์ร่วมกับระบบ energy storage บนพื้นที่กว่า 2 หมื่นไร่ ลงทุนเกือบสี่พันล้านเหรียญ  

หรือโรงไฟฟ้าแบบชีวมวล ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ สำหรับเมืองไทยเมื่อคราวเปิดให้มีการผลิตไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็กแบบ firm 300 เมกะวัตต์ มีผู้มายื่นถึง 1,000​กว่าเมกะวัตต์ แต่ทั้งนี้การจะทำได้มีประสิทธิภาพจริงเท่าใด คงจะต้องมีการพิจารณาให้รอบคอบ

จริงอยู่ว่าแนวโน้มพลังงานหมุนเวียน เป็นเรื่องที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้... ประเทศไทยเมื่อดูบริบทของประเทศ และความมั่นคงทางพลังงานเป็นหลัก ถ้ามีพลังงานหมุนเวียนแบบ firm ได้จริงก็ถือว่าเป็นเรื่องดี ซึ่งคงจะต้อมีการปรับแผนพีดีพีกันใหม่ แต่ขณะนี้ในช่วงที่ยังคงเป็นการศึกษาทดลอง พลังงานหลักที่แบคอัพอยู่ก็ยังเป็นเรื่องจำเป็น

เพราะฉะนั้นอย่าผลีผลามหรือเร่งรีบจนเกินไป...พลังงานที่มั่นคง จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ 4.0 ได้อย่างสวยงาม

 โดย...   อมตวรรธ อัจจิมา / [email protected]