จะเกิดอะไรกับตลาดแรงงานยุคใหม่

จะเกิดอะไรกับตลาดแรงงานยุคใหม่

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเริ่มได้ยินข่าวจากหลายประเทศเกี่ยวกับการปลดคนงานมากขึ้นเรื่อยๆ

เพราะแรงงานคนสามารถทดแทนด้วยเครื่องจักร หรือ ระบบคอมพิวเตอร์ต่างๆ คำถามที่ตามมาก็คือ เทคโนโลยีจะมาแย่งงานและทำให้คนจำนวนมหาศาลทั่วโลกตกงาน เรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่ากังวลขนาดไหนและเราควรรับมืออย่างไร

ในรายงานของพีดับบลิวซีระบุว่า ราวๆ ปี 2573 (2030) อัตราการว่างงานจะพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก โดยในอเมริกาสูงเกือบ 40% ตามมาด้วยเยอรมนี 35% อังกฤษ 30% และในญี่ปุ่น 21% ส่วนใหญ่จะเป็นตำแหน่งงานที่ไม่ได้ใช้ทักษะขั้นสูง หรือประเภทงานที่เป็นกิจวัตร เช่น สายการผลิต งานจัดเรียงข้อมูล หรือกรอกเอกสาร แต่ประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่และซับซ้อนจะมีเปอร์เซ็นต์ในการตกงานที่น้อยกว่ากลุ่มประเทศอื่นๆ

หากมองประเทศใกล้กับเรา สิงคโปร์มีแผนทำระบบรถยนต์ที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติ หากโครงการดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์ คนขับรถกว่า 27,000 คน อาจจะต้องตกงาน ภาคธุรกิจอย่างประกันภัยยานยนต์ก็ไม่แน่ว่าอาจมีความจำเป็นต้องลดขนาดการให้บริการหรือปิดตัวลง เพราะอัตราการเกิดอุบัติเหตุที่ต่ำลง หลายอาชีพ หลายธุรกิจอาจต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้านแรงงาน 

อย่างไรก็ตาม การวิจัยของ Pearson ที่ทำร่วมกับ Nesta และ Oxford Martin กลับมองว่าอัตราการว่างงานอาจไม่ได้สูงอย่างที่คิด เพราะเทคโนโลยีย่อมก่อให้เกิดงานใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน ดังนั้นตัวเลขของจำนวนคนที่จะตกงานในอีก 10-15 ปีข้างหน้าอาจจะอยู่ระหว่าง 9-40% ของประชากรในตลาดแรงงานโลกก็เป็นได้

ด้านแนวทางความอยู่รอด ทักษะที่ควรหมั่นฝึกฝนและเพิ่มพูน ได้แก่ ความคิดสร้างสรรค์ การทำงานร่วมกับคนอื่นและบริหารคน การใช้หลักจิตวิทยา การสอนและถ่ายทอดความรู้ การประสานงาน การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้เร็ว ความยืดหยุ่นและปรับตัวได้ง่าย การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน การวิเคราะห์และประเมินระบบ การวางกลยุทธ์ต่างๆ การประเมินและตัดสินใจ ความเข้าใจสังคมและความเป็นไปของโลก ความรอบรู้โดยเฉพาะในเรื่องวิทยาการและเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งไม่สามารถถูกทดแทนได้ง่ายด้วยเทคโนโลยี และเป็นเครื่องการันตีความมั่นคงของชีวิตการทำงานในโลกอนาคต

อนาคตอาจจะมีความน่ากังวล แต่ทั้งหมดอยู่ที่การเตรียมพร้อมในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ตัวบุคคลเองต้องคอยพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถปรับตัวเข้ากับการทำงานแบบใหม่ หรือแม้กระทั่งงานในสายอาชีพใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะหลายๆ อุตสาหกรรมก็อาจก่อให้เกิดอาชีพใหม่ๆ ที่มาจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้เช่นกัน 

โลกอนาคตเมื่อแรงงานหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติสามารถเข้ามาทดแทนแรงงานคนในหลายๆ ด้านได้แล้ว โจทย์ที่บุคคลวัยทำงานควรขบคิด คือ จะเตรียมตัวอย่างไรเพื่อให้อนาคตด้านการงานของเรายังคงก้าวหน้าและมั่นคงอยู่ได้ 

รวมถึงการแสวงหาโอกาสจากเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นนี้อย่างไร นับเป็นอีกหนึ่งภารกิจหลักที่ภาครัฐและบุคคลที่มีอิทธิพลต่อระบบการศึกษาและพัฒนาคุณภาพของพลเมืองไทยต้องทำให้สำเร็จ ในการที่จะเตรียมความพร้อมเยาวชนและคนรุ่นใหม่ทั้งหลายให้มีศักยภาพเพียงพอ และเท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตที่จะหมุนเร็วยิ่งกว่าเดิม สามารถแข่งขันกับตลาดแรงงานทั้งที่มาจากประเทศอื่นๆ หรือไม่ว่าจะมาจากโลกของหุ่นยนต์ก็ตาม