แรงงานต่างด้าวหายไป...ใครสะดุด?

แรงงานต่างด้าวหายไป...ใครสะดุด?

ภาพของเหล่าคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในบ้านเรากลายเป็นสิ่งคุ้นตา ทั้งในร้านอาหาร งานก่อสร้าง หรือโรงงานอาหารแปรรูป

หรือหากใครมีโอกาสได้ไปเยือนจังหวัดที่มีแรงงานชาวพม่าอาศัยอยู่หนาแน่นจะพบว่าชาวต่างด้าวไม่ได้เป็นเพียงกลุ่มผู้ขายแรงงานเท่านั้นแต่ยังเป็นกำลังสำคัญที่ขับเคลื่อนทั้งภาคธุรกิจและเศรษฐกิจในเมืองนั้นเลยทีเดียว ตัวเลขอย่างเป็นทางการของจำนวนแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยจากกระทรวงแรงงานอยู่ที่ 1.7 ล้านคนในปี 2560 แต่คาดว่าตัวเลขจริงน่าจะสูงกว่านั้นมากเพราะมีแรงงาน ต่างด้าวจำนวนมากที่เข้าประเทศมาโดยผิดกฎหมาย การเข้ามาโดยไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิจากรัฐนอกจากจะไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานแล้วยังอาจถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสิทธิมนุษยชนที่ทำให้ประเทศไทยถูกจัดอันดับ Tier 3 ในรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกาและถูก EU ให้ใบเหลืองจากการทำประมงที่ผิดกฎหมาย (IUU) จนส่งผลให้อุตสาหกรรมประมงของไทยซบเซาทั้งระบบจนถึงขณะนี้
การประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 แสดงถึง ความตั้งใจจริงของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาคนต่างด้าวที่ถูกปล่อยปละละเลยมาหลายสิบปี ซึ่งการจัดระเบียบจะช่วยให้คนกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงสวัสดิการด้านแรงงาน สาธารณสุขและการศึกษา ที่สำคัญจะสร้าง ความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยในระยะยาว แต่การออกบังคับใช้กฎหมายโดยไม่ได้ ส่งสัญญาณหรือให้เวลาผู้ประกอบการในการปรับตัวมากนัก ในระยะเริ่มต้นนั้นจึงหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดกับภาคธุรกิจและเศรษฐกิจโดยรวมไปไม่ได้
จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการในทุกขนาดและทุกอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น (Labor intensive) จำนวนกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ ภายใต้โครงการพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจกับภาคธุรกิจ (Business Liaison Programme: BLP) ของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า พ.ร.ก. แรงงานต่างด้าวฉบับใหม่นี้แม้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญ ธุรกิจขนาดใหญ่ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้อยู่เพราะส่วนมากจ้างแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมาย แต่ผลกระทบจะมาตกอยู่ที่ SMEs ที่ใช้แรงงานต่างด้าวเข้มข้น เพราะส่วนใหญ่จะอาศัยแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน โดยผลกระทบจะหนักในช่วงก่อนจะมีการประกาศระยะเวลาผ่อนผันให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสพาแรงงานต่างด้าวของตนไปขึ้นทะเบียนเพราะมีแรงงานไหลกลับประเทศทันทีในจำนวนมาก โดยผลกระทบมีความรุนแรงตั้งแต่การลดกำลังการผลิตจนถึงการปิดกิจการทั้งชั่วคราวและถาวรของบาง SMEs เช่น ภาคการค้าและบริการที่ขาดแรงงานหลังร้านจนธุรกิจต้องสะดุดลง ภาคก่อสร้างที่หากต้องเร่งส่งมอบงานตามกำหนดเวลาก็ต้องแข่งราคาแย่งตัวแรงงานกันจนค่าแรงสูงขึ้น หรือโดนค่าปรับที่ส่งมอบงานล่าช้า ภาคเกษตร ที่ขาดแรงงานเก็บเกี่ยวและคัดแยกจนต้องยอมขายผลผลิตในราคาเหมา ตลอดจนโรงงานแปรรูปเกษตรลด การรับซื้อผลผลิตเพราะมีกำลังการผลิตไม่พอจนสินค้าเน่าเสีย ด้านประมงชายฝั่งก็ต้องหยุดเดินเรือจนทำให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องหยุดชะงัก ด้านการลงทุนพบการชะลอโครงการเพราะหาผู้รับเหมายากและต้นทุนสูง นอกจากนี้ ยังพบว่ากลุ่มบริษัทเกษตรแปรรูป มีแผนย้ายฐานการผลิตไปในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อความมั่นคงด้านแรงงานและวัตถุดิบ
อย่างไรก็ดี หลังจากการประกาศผ่อนผันกฎหมายตามมาตรา 44 ผลกระทบดังกล่าวต่อการดำเนินธุรกิจเริ่มเบาบางลง แรงงานต่างด้าวทยอยกลับมาบ้างแม้จะยังไม่เท่าเดิม และผู้ประกอบการบางส่วนเริ่ม นำแรงงานต่างด้าวของตนไปขึ้นทะเบียน พร้อมกับปรับตัวด้วยการเพิ่มการทำงานล่วงเวลา การใช้แรงงาน part-time เพื่อชดเชยแรงงานที่หายไป และประสานกับกรมการจัดหางานเพื่อจ้างแรงงานต่างด้าวตาม MOU มากขึ้น ทั้งนี้ แม้ในระยะหลังสถานการณ์ดูจะเริ่มผ่อนคลายลงเป็นลำดับ แต่ก็มีเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ว่าพวกเขายังต้องเผชิญความท้าทายด้านต้นทุนค่าแรงในอนาคตที่จะสูงขึ้นทั้งจากการหาแรงงานที่ยากขึ้น ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการนำเข้าและขึ้นทะเบียนแรงงาน รวมถึงค่าแรงและสวัสดิการที่ปรับขึ้นมาเทียบเท่ากับแรงงานไทยตามเงื่อนไขของ พ.ร.บ. ประกันสังคม ทำให้ SMEs ต้องปรับตัวตามกลไกของตลาดแรงงานที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปจากการบังคับใช้กฎหมาย สร้างความกังวลถึงความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจในอนาคต
นอกจากนี้ พ.ร.ก. แรงงานต่างด้าวยังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังระบบเศรษฐกิจ ในแง่ของ การบริโภคและการจับจ่ายใช้สอยที่ลดลง โดยเฉพาะในแหล่งที่มีแรงงานต่างด้าวหนาแน่น จากการสำรวจพื้นที่ใน จ. สมุทรสาคร ที่หลายคนเรียกกันว่าเมียนมาทาวน์ พบว่าหลังจากการประกาศ พ.ร.ก. การจับจ่าย ใช้สอยในพื้นที่หดตัวและกระทบธุรกิจรายย่อยของคนไทยในท้องถิ่น ผู้ประกอบการกลุ่มสินค้าและบริการระดับฐานรากได้รับผลกระทบรุนแรงในช่วงแรก สะท้อนจากยอดขายสินค้าที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ร้านค้าเลื่อนเวลาปิดเร็วขึ้น และเห็นห้องเช่าที่เคยมีคนอยู่เต็มกลายเป็นห้องร้างเกินครึ่ง ทั้งนี้ แม้จะมีมาตรการ ผ่อนผันออกมา ผู้นำชุมชนและผู้ประกอบการต่างเห็นพ้องกันว่าแรงงานต่างด้าวคงจะไม่กลับเข้ามาเท่ากับในอดีต เพราะการจ้างงานในพื้นที่ยังซบเซาตามภาคประมงและธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่ยังไม่ฟื้นตัวมาตั้งแต่มาตรการ IUU ขณะเดียวกันคาดกันว่าในระยะต่อไปกลุ่มแรงงานต่างด้าวเหล่านี้จะระมัดระวังการใช้จ่ายยิ่งขึ้นไปอีกเพราะเงินเก็บลดลงในช่วงการเดินทางเข้าออกประเทศและยังมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าในพื้นที่จึงต้องพลิกโฉมครั้งใหญ่โดยปรับรูปแบบจากห้างที่เคยตกแต่งตามรสนิยมของชาวเมียนมาทั้ง 6 ชั้นปัจจุบันเหลือไว้เพียง 1 ชั้น และหันมาสร้างกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอื่นทดแทน ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับชุมชนถนนกีบหมู ย่านคลองสามวา แหล่งค้าแรงงานรายวันอิสระที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่มีแรงงานชาวเขมรอยู่หลายพันคน ซึ่งผู้ประกอบการในพื้นที่ต่างเห็นว่าระยะหลังยอดขายสินค้าลดลงและแรงงานใช้จ่ายอย่างประหยัดมากขึ้น ร้านโพยก๊วนก็ทยอยปิดตัวลง และยังมองว่าอีกไม่นานแรงงานต่างด้าวในพื้นที่นี้น่าจะหายไปจำนวนมากเพราะเป็นแรงงานผิดกฎหมาย และแน่นอนว่าแรงงานที่หายไปจะส่งผลกระทบต่อภาวะการจับจ่ายใช้สอยและยอดขายของธุรกิจในพื้นที่ต่อไป
คำถามคือเราจะประคับประคองกลุ่ม SMEs ที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ให้เดินต่อไปได้อย่างไรท่ามกลางสิ่งแวดล้อมและโครงสร้างเชิงระบบของการทำธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป สิ่งหนึ่งที่ภาครัฐสามารถช่วยได้ชัดเจนคือการเร่งกระบวนการพิสูจน์สัญชาติให้ทันกำหนดเพื่อลดผลกระทบจากการขาดแรงงานที่อาจจะขยายไปยังอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงรับฟังเสียงเรียกร้องจากภาคเอกชนในการทบทวนเรื่องค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียน อัตราโทษของกฎหมาย และความเหมาะสมในการใช้เพียงมาตรฐานเดียวกับบริษัททุกขนาดและทุกลักษณะกิจการ ส่วน SMEs เองก็ต้องเร่งปรับตัวภายใต้บริบทที่การใช้แรงงานต่างด้าวไม่ใช่ข้อได้เปรียบด้านต้นทุนอีกต่อไป จึงควรเน้นสร้างจุดแข็งอื่นเช่นการสร้างมูลค่าเพิ่มหรือความแตกต่างให้แก่สินค้าและบริการด้วย ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นการบ้านที่ทุกภาคส่วนต้องนำไปขบคิดเพื่อช่วยกันผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเดินต่อไปได้โดยไม่สะดุดและไม่มีใครถูกลืมไว้เบื้องหลัง