นโยบายผิดเพราะไม่เข้าใจเศรษฐศาสตร์

นโยบายผิดเพราะไม่เข้าใจเศรษฐศาสตร์

นโยบายการค้าของประธานาธิบดี ทรัมพ์ นั้น สรุปได้ว่า มองการดุลการค้าเป็นเป้าหมายหลักและคิดแบบพ่อค้า(mercantilism)ว่าการเกินดุลการค้าเป็นสิ่งดี

และการขาดดุลการค้าเป็นสิ่งที่เลวร้าย และหากไม่ขาดดุลหรือเกินดุลก็คงจะมีความพอเหมาะพอควร เพราะไม่มีใครเสียเปรียบหรือได้เปรียบ 

จากการหาเสียงของประธานาธิบดีทรัมพ์ นั้น จะเห็นได้ว่าต้องการลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐเป็นนโยบายการค้าหลัก โดยกล่าวย้ำหลายครั้งว่าการขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่องของสหรัฐนั้นต้องมีสาเหตุมาจากการที่สหรัฐถูกเอาเปรียบเพียงเหตุผลเดียวเท่านั้น ส่วนสหรัฐจะถูกเอาเปรียบอย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่ต้องเจาะลึกลงในรายละเอียด โดยอาจมาจากการที่ประเทศคู่ค้าบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยน (จึงให้กระทรวงการคลังสหรัฐทำรายงานปีละ 2 ครั้ง เพื่อประเมินว่ามีประเทศคู่ค้าของสหรัฐประเทศใดบ้างที่แทรกแซงทำให้เงินของตัวเองอ่อนค่าเกินกว่ากลไกตลาด) หรือการดำเนินนโยบายการค้าที่กีดกันการนำเข้า เช่น การตั้งภาษีศุลกากรสูง หรือมาตรการกีดกันอื่นๆในเชิงปริมาณ รวมทั้งการไม่คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งก็มีการทำรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐเป็นประจำทุกปี

การด่วนสรุปว่า การขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่องของสหรัฐเป็นผลมาจากการที่สหรัฐถูกเอาเปรียบโดยประกาศคู่ค้าเป็นหลักนั้น เป็นข้อสรุปที่ผิดพลาดเพราะขาดความเข้าใจในเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน การขาดดุลการค้านั้น หากมองในระดับบุคคลก็จะเห็นว่าผมขาดดุลการค้ากับร้านขายข้าวแกงที่บริษัท ภัทร มานาน 20 กว่าปีแล้ว เพราะผมจ่ายเงินซื้อข้าวแกงจากร้านทุกจันทร์ ถึง ศุกร์ และไม่เคยขายอะไรให้กับร้านข้าวแกง เพื่อให้ดุลการค้าระหว่างผมกับร้านข้าวแกงดีขึ้นเลย กล่าวคือ การค้าเสรีนั้น ทำให้ทุกประเทศสามารถผลิตสินค้าและบริการเฉพาะอย่างที่ตนเองถนัดและนำเงินไปซื้อสินค้าและบริการอื่น ๆ จากประเทศอื่น ๆ ที่ผลิตสินค้าดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า

แต่ก็อาจตั้งประเด็นว่า เมื่อขาดดุลการค้าจะเป็นสิ่งที่ไม่ดีเพราะแปลว่า เป็นการใช้จ่ายเกินตัว แล้วจะหาเงิน(ตราต่างประเทศ) ที่ไหนมาใช้จ่ายเกินตัวอย่างต่อเนื่อง คำตอบคือ หากขาดดุลการค้ามากๆ ก็จะทำให้ประเทศ (เช่น)ไทยมีความต้องการขายเงินบาทแลกเป็นเงินตราต่างประเทศเพื่อไปนำเข้าสินค้ามากกว่ามีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศที่รับมาจากการส่งออก หากเป็นเช่นนั้น เงินบาทก็จะอ่อนค่า ทำให้สินค้านำเข้าราคาสูงขึ้น (เมื่อคิดเป็นเงินบาท) และจะเป็นแรงจูงใจให้มีการผลิตเพื่อการส่งออกมากขึ้นอีกด้วย กล่าวโดยสรุปคือกลไกตลาดจะทำให้ดุลการค้าปรับตัวให้สมดุลโดยอัตโนมัติ

ดังนั้น จึงต้องตั้งคำถามว่าทำไมสหรัฐจึงสามารถขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่องมานานหลายสิบปี ซึ่งคำตอบอาจมีดังนี้

  1. ประเทศคู่ค้าบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องจริงแต่การดำเนินการดังกล่าวในระยะยาวไม่เป็นประโยชน์กับประเทศดังกล่าว เพราะขายสินค้าให้สหรัฐเพื่อแลกกับกระดาษ(เงินดอลลาร์) ซึ่งในระยะยาวไม่เป็นประโยชน์กับประเทศที่เกินดุล ที่สำคัญคือ กระทรวงการคลังสหรัฐก็ติดตามดูพฤติกรรมดังกล่าวมา 20 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่ามีประเทศใดที่มีพฤติกรรมดังกล่าว มีแต่ประเทศที่มีพฤติกรรมน่าสงสัยถูกขึ้นบัญชี 4-5 ประเทศ
  2. ประเทศสหรัฐ จะใช้จ่ายเกินตัวอย่างต่อเนื่องได้ เพราะกู้เงินมาใช้และมีประเทศอื่น ๆ ที่สมัครใจให้สหรัฐกู้เงินมาใช้จ่ายเกินตัว ไม่ว่าจะการกู้ยืมของเอกชนหรือรัฐบาลสหรัฐ หรือการนำเงินเข้ามาลงทุนในสหรัฐ (กล่าวคือ สหรัฐขายทรัพย์สินในประเทศ และสูญเสียความเป็นเจ้าของ) ทำให้มีกำลังซื้อส่วนเกินมาใช้ในการบริโภคสินค้านำเข้า
  3. บริษัทข้ามชาติของสหรัฐเช่น Apple มีศักยภาพทางเทคโนโลยีสูง สามารถขายทรัพย์สินทางปัญญาได้เงินมาเป็นจำนวนมาก(โทรศัพท์ IPhone มีอัตรากำไรเครื่องละ 50%) และให้ประเทศกำลังพัฒนาผลิตชิ้นส่วนและประกอบสินค้ากลับเข้ามาขายในสหรัฐ กล่าวคือ สหรัฐไม่ต้องผลิตเองแต่จ้างให้ประเทศอื่น ๆ ผลิตให้ในราคาที่ถูก คุ้มค่าอย่างมาก และสินค้าเดียวกันก็ขายไปได้ทั่วโลก ทำให้มีรายได้เข้าประเทศสหรัฐมากมายในลักษณะของการนำเข้ากำไร

แนวคิดที่ขาดตกบกพร่องโดยการมองแต่การขาดดุลการค้า และหวังจะแก้ปัญหาโดยการเร่งเปิดตลาดประเทศคู่ค้าและปิดตลาดสหรัฐมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดความขัดแย้ง และไม่ว่ารัฐบาลสหรัฐจะมีมาตรการอะไรออกมาก็จะไม่สามารถทำให้การขาดดุลการค้าของสหรัฐลดลงได้ หากสหรัฐไม่ยอมแก้ปัญหาหลักคือ สหรัฐใช้จ่ายเกินตัวโดยเฉพาะ รัฐบาลสหรัฐที่ขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่องเสมอมา(Twin deficits)

ความไม่เข้าใจเศรษฐศาสตร์นั้น อาจจะยิ่งทำให้สหรัฐขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้ จากความพยายามที่จะลดภาษีของรัฐบาลสหรัฐ เช่น หากลดภาษีนิติบุคคลลงจาก 35% เป็น 20% โดยคาดหวังว่าจะทำให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมาก และเศรษฐกิจขยายตัวได้ดีขึ้นจาก 2% เป็น 3-4% การที่มีรายได้เพิ่มขึ้นก็จะทำให้มีการบริโภคเพิ่มขึ้นในสหรัฐ จึงจะต้องนำเข้ามากขึ้น และมีผลผลิตเหลือเพื่อส่งออกน้อยลง กล่าวคือ สหรัฐจะขาดดุลการค้ามากขึ้น

นอกจากนั้น ยังจะมีมาตรการลดภาษีเป็นกรณีพิเศษเหลือเพียง 12% สำหรับกำไรที่บริษัทสหรัฐสะสมเอาไว้ในต่างประเทศ(คาดการณ์ว่าอาจมีมูลค่าสูงถึง 3 ล้านล้านเหรียญ) ให้นำกลับเข้ามาลงทุนในสหรัฐ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็จะมีเงินไหลเข้าสหรัฐจำนวนมหาศาล ทำให้เงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้นอย่างมาก และฉับพลัน ซึ่งจะทำให้การขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก โดยรวมแล้วหากการปฏิรูปภาษีของสหรัฐทำให้ประเทศสหรัฐน่าลงทุนมากขึ้นตามที่ประธานาธิบดีทรัมพ์คุยอวดเอาไว้ ก็จะยิ่งทำให้มีเงินไหลเข้าสหรัฐ มากขึ้นเงินเหรียญสหรัฐก็แข็งค่า ซึ่งจะต้องทำให้สหรัฐขาดดุลการเพิ่มขึ้นอีกครับ